- เรามีชีวิตเดียว เพราะฉะนั้นใช้มันให้คุ้ม
…นั่นคือสิ่งที่ ‘หมอ’ พลวัต วีระพันธุ์พิสิษฐ์ โปรแกรมเมอร์หนุ่มสายลุย ยืนยันชัดเจนในจุดยืนของตัวเอง ว่าเขามีวันนี้ได้ก็ด้วยแนวคิดเช่นนี้ อยากให้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขา แล้วเราจะพบว่า ถ้ามีโอกาสอย่ารอช้า ลองทำทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต เพราะที่สุดแล้วมันมีแต่ได้กับได้!
เก่งคอมฯ เพราะหนังสือ
ความจริงผมเล่นคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สมัยอยู่ประถมฯ แล้ว ที่บ้านมีหนังสือสอนทำเว็บไซต์ด้วย html ง่ายๆ ก็ลองทำดู แต่ถ้าในแง่ของการพัฒนาที่เกี่ยวกับคอมฯ หรือในแง่ของการเขียนโปรแกรมมาเริ่มจริงๆ ตอน ม.1 – ม.2 ช่วงนั้นขอพ่อแม่ซื้อหนังสือเขียนโปรแกรมภาษาซีมาลองอ่านแล้วเขียนตาม หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนภาษาอื่นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้จริงจังเท่าไหร่ แค่ลองเขียนตามโจทย์ในหนังสือ จากตอนแรกแค่เล่นคอมฯ อารมณ์เด็กก็แค่ติดเกม แต่เพราะมีหนังสือด้วยก็เลยสนใจ
ขึ้นรถไฟทัวร์ NSC
ผมแข่ง NSC ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกตอน ม.3 คุณครูวิชาคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนแนะนำว่ามีการประกวดนี้อยู่ไม่ลองส่งผลงานหรือ ผมก็ตกลงลองคิดหัวข้อ ครั้งแรกได้เข้ารอบระดับประเทศแต่ไม่ได้รางวัลครับ ตอนนั้นทำเป็นโปรแกรมค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวด้วยรถไฟ มีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ทางรถไฟรวมไว้ให้ค้นหา เช่น ถ้าจะเดินทางจากตรงนี้ไปตรงนี้จะต้องนั่งรถไฟขบวนไหน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตอนเด็กๆ ที่นั่งรถไฟบ่อย ทำให้ค่อนข้างเชี่ยวชาญรู้เรื่องเกี่ยวกับขบวนรถไฟ แต่ถ้าคนไม่เคยเดินทางบ่อยๆ เวลาจะค้นหาก็ยาก เลยอยากลองทำสิ่งที่ดูมีประโยชน์แล้วลองทำข้อมูลให้ค้นได้ เหมือนมันเป็นความสนใจส่วนตัวแล้วเอามาประยุกต์ใช้
ครั้งที่สองแข่งตอน ม.4 ได้รางวัลชมเชยประเภทเกม ก็ยังไม่พ้นเรื่องรถไฟ ตอนนั้นทำเกมขับรถไฟ มีฮาร์ดแวร์เหมือนคันโยกบังคับในเกมเลย ครั้งที่สามตอน ม.5 ก็ยังเป็นเรื่องรถไฟอยู่ครับ (ยิ้ม) แต่ทำเป็นโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งตอน ม.3 เป็นการค้นหาเส้นทาง ตอนทำครั้งแรกความรู้ยังไม่ค่อยเยอะมาก พอ ม.5 เราเริ่มพัฒนาความสามารถที่หลากหลาย มีแอปพลิเคชันในมือถือด้วย ทำให้รู้ว่ารถเราอยู่ขบวนไหน ตรงไหน สายกี่นาที รวมไปถึงระบบเครือข่ายเพื่อดูว่าตอนนี้เพื่อนเดินทางจากไหนไปไหน ก็ได้รางวัลที่ 2 หมวดโปรแกรมประยุกต์ครับ พอขึ้น ม.6 ก็ไม่ได้แข่งแล้ว
เปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน
สิ่งที่ได้เรียนรู้แน่นอนคือได้ประสบการณ์ ถ้าเราเรียนเขียนโปรแกรมมาเฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างอะไรจริงๆ ทักษะเราก็จะไม่กว้างหลากหลาย อย่างถ้าเราเรียนว่าเรื่องแบบนี้มันใช้แบบนี้เอามาใช้กับเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าได้มาทำจริงจะทำให้รู้ว่าเรื่องนี้มันสามารถประยุกต์ใช้กับเราได้ด้วย นี่คือประสบการณ์ที่ได้จาก NSC อีกอย่างหนึ่งคือทำให้ได้คอนเนคชัน ทำให้ได้รู้จักกับคนที่อยู่วงการเดียวกัน ไม่ว่าจะสถาบันเดียวกันหรือต่างสถาบัน ซึ่งถ้ามีการรวมตัวคนที่ผ่าน NSC อยากให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แต่ละคน เราอยากฟังว่าแต่ละคนเคยผ่านอะไรมาบ้าง ทำให้เราได้รู้ว่าโลกไม่ได้มีแค่นี้นะ เขาไปทำแบบนี้ด้วย มีส่วนนี้ด้วย บางครั้งเราอาจจะร่วมกับเขาด้วยก็ได้
NSC ปูทางอนาคต
นอกจากนี้ NSC ยังทำให้ผมได้เข้าวงการมาสายนี้เลย เพราะตอน ม.ปลายเราทำผลงาน NSC ทำให้ไม่ค่อยได้เข้าเรียนวิชาทั่วไป ถ้าไปสอบก็คงยากที่จะได้เข้าคณะวิศวะฯ แต่ถ้าได้รับรางวัล NSC ระดับประเทศก็จะมีมหาวิทยาลัยที่เราสามารถยื่นเข้าไปคัดเลือกเฉพาะกับคนที่มีผลงานด้วยกันได้ พอจบ ม.6 ผมเลยได้เข้าเรียนต่อคณะวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อยอดมา ถึงตอนนี้เรียนจบแล้วก็ทำงานเกี่ยวกับคอมฯ ถ้าไม่มี NSC ตอนนี้อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถนัดหรือมีทักษะอะไรที่สามารถพัฒนาต่อได้ เหมือน NSC ช่วยทำให้เรารู้จักตัวเอง ทำให้ค้นเจอตัวเองว่าเราชอบทางนี้ แล้วมันก็ปูเส้นทางเรามาเรื่อยๆ
เรียนปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามในอดีต
เราเคยเขียนเคยสร้างผลงานมาตั้งแต่ตอน ม.ปลาย บางครั้งเราติดตรงนั้น เราก็ไปเปิดอินเทอร์เน็ตดูแล้วทำตาม แต่พอเราเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนเป็นการตอบคำถามย้อนหลังได้ว่าทำไมมันถึงต้องทำอย่างนี้ ปกติเป็นคนที่เวลาจะแก้โจทย์ปัญหาอะไรสักอย่างจะไม่ชอบแก้แค่ปัญหามันหายไป แต่เราอยากรู้ด้วยว่าทำไมถึงแก้ปัญหาได้ พอไปเรียนเราได้มาเรียนรู้ที่มาของขั้นตอนการทำงานของคอมพิวเตอร์ เป็นการตอบคำถามตัวเองย้อนหลังว่าทำไมตอนนั้นถึงทำแบบนี้หรือใช้วิธีนี้ดีกว่า เหมือนเราได้มาเติมทฤษฎีด้วยจากที่เราเริ่มจากการปฏิบัติมาก่อน เลยทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนเต็มที่ไม่ได้ไปแข่งที่ไหนอีก เน้นทำโปรเจกต์ที่เรียนครับ
ค้นหาตัวตนจากงานที่หลากหลาย
พอเรียนจบตอนแรกผมตั้งใจว่าอยากเรียนต่อ รู้สึกว่าชอบเรียนรู้ พอเรียนจบวิศวะฯ คอมฯ ก็ทำให้เราเรียนรู้ได้หลากหลายด้าน ด้านไหนก็น่าสนใจหมดเลย แต่ถ้าเรียนต่อมันค่อนข้างเจาะลึก เนื้อหาก็จะลึกไปทางด้านนั้น ตอนนี้เลยเลือกรับงานหลากหลายก่อนเพราะจะได้รู้ว่าตัวเองถนัดหรือชอบคอมพิวเตอร์เฉพาะเจาะจงด้านไหนก่อนที่จะเลือกเรียนต่อ เหมือนกับว่าตอนนี้เราหาตัวเองให้ชัดขึ้น ที่แน่ๆ เรารู้แล้วว่าเรามาสายไอที สายคอมฯ แต่ว่ามันก็มีอีกหลากหลายศาสตร์ที่เราก็สนใจ ถ้าเลือกก็ต้องดูให้ชัดจริงๆ
ตอนนี้ผมเป็นฟรีแลนซ์ ลักษณะงานคือรับงานมาจากลูกค้าเป็นโปรเจกต์ไปๆ ทำเสร็จก็จบไป หรืออาจมีขั้นตอนบำรุงรักษาก็แล้วแต่โปรเจกต์ เนื่องจากอยากรู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหนทำให้รับงานที่หลากหลาย มีลูกค้าหรือโปรเจกต์หลายแบบตั้งแต่เขียน back-end โครงสร้างข้างหลัง มีอัลกอริทึมมา จนถึง front-end ข้างหน้ามีระบบ มี UI ให้เขาใช้ด้วย ลูกค้าก็มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ธรรมชาติคนเบื้องหลัง
งานที่รู้สึกสนุก น่าจะเป็นงานที่สร้างหรือมีอัลกอริทึมแล้วให้ implement เป็นงานฝั่งข้างหลัง ปกติเราเป็นคนไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่ พวกศิลปะจะไม่ค่อยสวย ถนัดคำนวณมากกว่า แต่บางครั้งเขาให้งานมาเราก็ต้องทำ ให้ออกแบบระบบหน้าตาด้วย ถ้าถามถึงฝั่งข้างหน้าความจริงก็สนใจแต่ว่าไม่ค่อยมีความสามารถที่จะออกแบบให้สวยได้ ซึ่งความจริงก็สามารถชวนคนอื่นมาช่วยทำได้ แต่ตอนนี้งานที่รับมาจะเป็นโปรเจกต์สเกลที่ทำคนเดียว มีบางโปรเจกต์ที่ต้องทำเป็นทีม ส่วนมากเป็นเชิงรับงานหรือโปรเจกต์ที่เขามีอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างโปรเจกต์ขึ้นใหม่ บางโปรเจกต์เขาจะมีทีมทำอยู่แล้วเราก็ไปต่อยอดช่วยเขา
เพิ่มความแน่นด้วยทักษะเชิงทฤษฎี
ผมรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ไวมาก ถ้าเทียบกับตัวเองที่เริ่มเขียนโปรแกรมตอน ม.ต้นแล้ว ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเริ่มเข้าสายนี้ไวเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกัน แต่สมัยนี้บางคนเริ่มเขียนโปรแกรมได้ตั้งแต่ประถมฯ เพราะการศึกษาปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการคิดการเขียนโปรแกรมได้ไวด้วย แต่ตอนที่ผมทำบางครั้งเราติดปัญหา เราแก้ปัญหาด้วยการค้นหาในอินเทอร์เน็ตแล้วเอาของเขามาใช้โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงแก้ปัญหาได้ พอเวลาเราเจอปัญหาครั้งหน้าซึ่งความจริงอาจใช้วิธีเดียวกันแก้ได้ แต่เราไม่รู้ว่ามันเชื่อมหากัน คิดว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะมีทักษะเชิงทฤษฏีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พวกอัลกอริทึมและตรรกะพวกนี้ด้วย ถึงมันจะแก้ปัญหาได้เหมือนกัน แต่เราอาจจะเจอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่าหรือเอาไปประยุกต์ใช้กับปัญหาอื่นได้ ซึ่งโอกาสของเด็กสมัยนี้มีมากกว่ารุ่นก่อนๆ อยู่แล้ว ถ้าเพิ่มเติมตรงนี้ก็จะทำให้เขาแน่นมากขึ้น
แปลภาษาเทพ (ไอที) เป็นภาษาคน
อีกทักษะหนึ่งที่สำคัญคือการสื่อสารครับ เพราะอย่างที่รู้กันว่าบางคนเก่งคอมฯ มาก ถนัดเขียนโปรแกรมมาก แต่พูดไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) บางครั้งเราต้องคุยงาน ลูกค้าที่เราต้องไปทำระบบให้ก็ไม่ใช่คนสายคอมฯ เลย เราต้องอธิบายให้ฟัง บางครั้งเราไม่สามารถอธิบายที่เป็นคำศัพท์เทคนิคให้เขาฟังได้ เราต้องมีทักษะการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจตรงกัน ไม่ใช้คำศัพท์ที่ยากจนเกินไป และต้องคิดเป็นว่าควรสื่อคำนี้ออกไปอย่างไรให้ผู้ฟังเข้าใจและรับรู้ตรงกันได้ ถ้าเรารับงานจากฝ่ายที่เป็นไอทีเหมือนกันก็จะจัดเต็ม อยากคุยอะไรก็เข้าใจ แต่บางครั้งเราต้องรับงานจากบริษัทที่ทำอย่างอื่น เขาอยากได้ระบบไอทีภายในบริษัทของเขา เวลาเราไปคุยงานเราก็ไม่สามารถใช้ศัพท์เฉพาะได้ตรงๆ เช่น front-end , back-end เราก็ใช้ว่า ‘หน้าบ้าน-หลังบ้าน’ แทน
กาลเทศะสำคัญพอๆ กับความเก่ง
อีกอย่างหนึ่งความจริงมันก็ยังอยู่ในทักษะการสื่อสาร แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ถึงขั้นการพูดคุย คือการพิมพ์ข้อความตอบอีเมล เหมือนที่เราเห็นในโซเซียลเน็ตเวิร์กที่บอกว่า ‘มาสมัครงาน หนูแนบเรซูเม่ (resume) มาแล้วนะคะ’ อาจจะเรียกว่ามารยาท ความเหมาะสม หรือกาลเทศะ เราควรอยู่ในระดับไหนกับกลุ่มคนไหน เพราะเราอยู่ในสังคมแบบนี้ บางครั้งมันควรเป็นทางการแต่เด็กรุ่นใหม่อาจจะใช้ภาษาง่ายๆ ผมมองว่าเรื่องความรู้อย่างไรก็เติมกันได้อยู่แล้ว สมัยนี้เนื้อหาเต็มอินเทอร์เน็ต อย่างการทำงานพอติดปัญหา ถ้าเราใช้เครื่องมือที่คนเขาใช้กันเยอะ เวลาเราไปค้นหามันก็มีคำตอบอยู่แล้ว เรื่องทักษะที่เป็นเชิงเทคนิคจึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่ปลูกฝังยาก เพราะบางคนเขาเติบโตมาแบบนั้น มันฝังลึกเข้าไปอยู่ข้างในแล้ว อันนี้ก็ต้องช่วยกันดู
ผลงานดี เขียนและพูดต้องเข้าใจ!
ในส่วนของ NSC จะมีอย่างหนึ่งที่ไม่เชิงเกี่ยวข้องกับเทคนิค อย่างที่ผมบอกก็คือตอนนำเสนอ บางครั้งงานเราทำดีมาก ว้าว! มีเนื้อหาเยอะแยะ แต่ว่าถ้านำเสนอไม่เป็นก็น่าเสียดาย บางคนตื่นเวที เจอกรรมการแล้วลน เราทำมา A B C D แต่เรานำเสนอ A B D ข้ามตัว C ไป ถึงเรามีแต่กรรมการไม่รู้ แม้จะเขียนไว้ในรายงานเขาก็อาจจะไม่ได้ดูละเอียด แต่สิ่งที่กรรมการได้รับเต็มๆ คือสิ่งที่ออกมาจากปากของคนที่พัฒนา ดังนั้น การเตรียมพร้อมก่อนเกิดอะไรใหญ่ๆ นั้นสำคัญ อย่างเช่นการนำเสนอ บางคนยังแก้งานจนถึงวันสุดท้าย แทนที่วันสุดท้ายจะเป็นวันพักผ่อน สมองจะได้ตื่นตัวสามารถโต้ตอบกับกรรมการได้ เสียงดังฟังชัด คุยกันรู้เรื่อง ไม่ลืมเนื้อหา ไม่เบลอ
ความจริงในการแข่งขันตัวชิ้นงานที่ทำก็สำคัญ แต่ขั้นตอนการนำเสนอก็สำคัญ เพราะเป็นการบอกได้ว่างานเรามีอะไรบ้าง แล้วคนที่ตัดสินคือกรรมการ เขารับรู้งานเราจากการที่เรานำเสนอ ซึ่งรายงานก็สำคัญเหมือนกัน เราทำ A B C D แต่รายงานเราไม่ได้เขียนครบทั้งหมด แล้วกรรมการมาเปิดดู เขาอาจไม่รู้ว่ามี หรือเขาฟังแล้วลืม ไปเปิดดูแต่ไม่เจอ การทำรูปเล่มเอกสารให้ละเอียดก็สำคัญเช่นกัน เพราะ NSC มีทุกองค์ประกอบตั้งแต่ส่งข้อเสนอจนถึงวันไปประกวด ทุกอย่างจึงสำคัญหมดตั้งแต่ตัวชิ้นงาน เอกสารรายงาน การนำเสนอ
ค้นหาความชอบด้วยการลองทำ
สำหรับคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ต้องลองทำครับ บางครั้งเราอาจจะคิดว่าเราน่าจะชอบหรือเหมาะกับอันนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ทำก็ไม่รู้จริงๆ ว่าใช่หรือเปล่า อย่างบางคนชอบฟังเพลงก็คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นนักดนตรีได้ดี แต่พอมาลองจับแล้วมือมันไม่ไป จังหวะมันไม่ได้ เขาอาจจะถนัดฟังมากกว่า เหมือนคนที่ชอบคอมพิวเตอร์ ชอบใช้โปรแกรม ชอบเล่นเกม ไม่ได้หมายความว่าจะชอบทำงานสายคอมฯ เพราะการสร้างกับการใช้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องลองมาทำ อาจจะเสียเวลาบ้าง เพราะต้องเรียนรู้เพื่อจะลองทำดู เรียนรู้ก่อนจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ถึงบางครั้งมันไม่ใช่ทางของเรา แต่เราก็ได้ความรู้เรื่องนั้นไปแล้ว ถึงเราจะไม่ชอบแต่เราทำได้แล้ว หรืออาจไม่ถนัดมากแต่เราก็มีความรู้เรื่องนั้นแล้ว แล้วเราค่อยไปหาทางอื่น บางทีทางอื่นที่เราชอบหรือถนัดจริงๆ ก็อาจจะประยุกต์ใช้กับทางที่เราไม่ได้ถนัดมากแต่เรามีความรู้อยู่แล้ว อาจก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ๆ ก็ได้
นิยามตัวเอง ณ วันนี้
ผมมองตัวเองเหมือนน้ำยังไม่เต็มแก้ว ยังอยากได้น้ำอยู่ คือทุกวันนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบเรียนรู้ ยังอยากรู้อะไรใหม่ตลอดเวลา แต่ก็มีข้อเสียนิดหนึ่งคือบางครั้งเราทำงานเขียนโปรแกรมวิธีนี้อยู่ พอเราเปิดอินเทอร์เน็ตดู อ้าว! ต้องรื้อใหม่หมด มันเป็นการเรียนรู้ แต่ทั้งหมดก็อยู่ในขอบเขตของเวลาด้วย ซึ่งต้องเปิดใจ เพราะบางครั้งอยากแก้แต่เราก็ยังฝังอยู่กับวิธีใดวิธีหนึ่งอยู่ ทั้งๆ ที่ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ผมก็พยายามปรับและพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา
ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย
ทุกวันนี้เวลามีใครเสนออะไรเราจะค่อนข้างคว้าไว้หมด ตั้งแต่ตอน ม.3 ที่แข่ง NSC ส่วนมากจะแข่งตอน ม.ปลาย แต่ครูเขาแนะว่าทำไหม เราเพิ่งเริ่มเรียนเขียนภาษาซีตอน ม.2 เวลาแค่ปีเดียวก็คงไม่ถึงกับจะไปสร้างผลงานอะไรได้ แต่เราเลือกที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ ลองทำดูอย่างไรก็ไม่เสียหาย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนเราไม่ปล่อยโอกาสไป ไม่จำเป็นว่าเฉพาะเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ ด้วย อย่างตอนมหาวิทยาลัยมีโครงการแลกเปลี่ยนไปประเทศญี่ปุ่นและทุนให้ด้วย ก็ลองสมัครแล้วพอเราได้ไปทำให้เราสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ รวมถึงมีลูกค้าต่างประเทศ มีลูกค้าญี่ปุ่นด้วย จากจุดเริ่มที่เราคว้าโอกาสไว้ ได้เริ่มรู้จักกับคนที่โน่น มีคอนเนคชัน แต่เราก็ไม่ได้คว้าทุกโอกาส ต้องเลือกด้วย บางครั้งก็เสียดายที่เราไม่ได้คว้าไว้ เช่น เรื่องเรียนต่อ ที่ผ่านมามีทุนปริญญาโทเข้ามา แต่เราก็ชั่งใจและต้องตัดสินใจเลือก พอย้อนกลับไปคิดว่าถ้าเราเลือกเรียนมันก็น่าจะดีเหมือนกัน
อนาคตนักวิจัย
อนาคตก็อยากเรียนต่อ ที่วางไว้ตั้งแต่แรกๆ อยากเรียนถึงปริญญาเอก ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม แต่ตั้งไว้ก่อน เรียนจบมาก็อยากจะเป็นนักวิจัย เพราะเราชอบค้นคว้า ชอบเรียนรู้ หาเหตุผลมาตอบโจทย์ อย่างที่บอกว่าเวลาแก้ปัญหาไม่ใช่แก้ได้อย่างเดียว แต่อยากรู้ด้วยว่าทำไมแก้ได้ บางครั้งเขาก็บอกมาแล้วว่าทำไมแก้ได้ แต่ก็ยังติดใจอยู่ อยากรู้ว่าทำไม มันต้องมีเหตุผลที่เราสามารถเข้าใจได้ เลยคิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับสายนี้
ชีวิตต้องมีแผน
หลักคิดในการใช้ชีวิตของผมก็คือหากจะทำอะไรสักอย่างต้องคิดให้ถี่ถ้วนไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำเลย มันอาจจะดีในแง่ความเร็วความคล่องตัว โดยปกติผมเป็นคนชอบวางแผนก่อน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ หรือเกิดอะไรขึ้นเราแก้อย่างไร บางครั้งก็โดนคนอื่นต่อว่าเหมือนกันว่าจะคิดอะไรเยอะมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก แต่ถ้ามีโอกาสความน่าจะเป็นที่ไม่ใช่ศูนย์ เราก็น่าจะมีการวางแผนให้ถี่ถ้วน ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราควรจะมี backup plan ไว้ …
แม้จะขึ้นชื่อว่าสายลุย แต่ก็จะเห็นได้ว่าหมอนั้นมีแผนในชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจน ถ้ามองเห็นแล้วว่าอะไรที่น่าจะมีประโยชน์ มีโอกาสก็ต้องลองทำ ไม่จำเป็นต้องกลัวอาย กลัวความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวนั้นมีอีกชื่อว่า ประสบการณ์ และมันก็มีคุณค่าเพียงพอให้เราใช้เป็นบันไดสู่ก้าวต่อๆ ไปในชีวิต…ไปจนถึงความสำเร็จได้!
ข้อมูลการศึกษา
- 2013-2017 Undergraduate B.Eng. Computer Engineering with First Class Honours (GPA) Faculty of Engineering, Chiang Mai University, THAILAND
การเข้าร่วมเวทีการประกวด/แข่งขัน ของเนคเทค/สวทช.
- เข้าร่วมการแข่งขัน “การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย: NSC” ตั้งแต่ปี 2011
ความสำเร็จ (ผลงานที่สร้างชื่อเสียง/รางวัลที่ได้รับ)
- 2011 Honourable Award in Nation Software Contest (NSC 2011) (High School Level)
- 2012 2nd Prize in Nation Software Contest (NSC 2012) (High School Level)
- 2015 Faculty of Engineering Academic Excellence Award (2014 Academic Year)
- 2016 Faculty of Engineering Academic Excellence Award (2015 Academic Year)
- 2017 Faculty of Engineering Academic Excellence Award (2016 Academic Year)
- 2018 Chiang Mai University Academic Excellence Award: Silver Medal (CMU 52nd Graduation Ceremony)
ปัจจุบัน
- Programmer At Moodle Association of Japan
ความเชี่ยวชาญ
- Programming and computing theory/ algorithms/ database system/ data processing
- Computer Science
- Computer and Electrical Engineering
- embedded system/ wireless sensor network
- Software Engineering
- application development/ software project management/ user experience and interface design
- Moodle Plugin Development
- Moodle/object-oriented programming/ open-source project contribution and version control system
- PHP, JavaScript (jQuery), MySQL, PostgreSQL
- Bus Ticketing System Development
- Project management/ system design/ user interface design/ database system/ server administration/ application development/ system security/ user manual documentation/ staff training
- C#, PHP, Bash Shell Scripting, JavaScript (Angular), MySQL, Ubuntu Server