ข่าวสาร

NECTEC Annual Conference and Exhibition 2017

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ Thailand Pavilion ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 11 (i-CREATe 2017)

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 11 (i-CREATe 2017) และทอดพระเนตรนิทรรศการ Thailand Pavilion ณ Kobe International Conference Center เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชฑูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร. ทาคาอะคิ ชิน ประธานจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2017 และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้ารอรับเสด็จฯ

ในการจัดงานครั้งนี้ มีนิทรรศการด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกใน Thailand Pavilion ประกอบด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
1. WEFRE Rehab System (Wrist-Elbow-Forearm Robotic Economical Rehabilitation System) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)

WEFRE คือ นวัตกรรมสำหรับฟื้นฟูร่างกายที่พัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาประยุกต์กับหลักการฟื้นฟูพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเสริมให้บุคลากรด้านการฟื้นฟูร่างกายได้มีอุปกรณ์ที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระบบหุ่นยนต์ WEFRE สามารถใช้เพื่อทำการฟื้นฟูข้อมือ แขนท่อนล่าง และข้อศอก ได้ในระบบเดียวกัน หลักการออกแบบนวัตกรรมนี้คือ PEA – Portable-Enjoyable-Affordable ซึ่งหมายถึงนวัตกรรมนี้ต้องเป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายและติดตั้งได้ง่าย มีระบบซอฟท์แวร์ที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีเกมที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ใช้ขณะทำการฟื้นฟู และมีราคาที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบของการฟื้นฟูได้หลากหลายรูปแบบตามสถานะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อของผู้ใช้ ตั้งแต่ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้เอง จนถึงผู้ที่เคลื่อนไหวแขนได้ตามปกติแต่ต้องการป้องกันข้อยึดติดที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งระบบนี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ขณะที่ทำการฟื้นฟู เพื่อให้แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ผลของการฟื้นฟูได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
2. iSonar-2: Obstacle Warning Device, the Assistive Technology Integrated with Universal Design for the Blind โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอโซนาร์-2 คือ อุปกรณ์บอกเตือนสิ่งกีดขวางซึ่งทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถหลบหลีกวัตถุที่อยู่ระหว่างเท้าจนถึงศรีษะได้  ในงานวิจัยนี้จึงนำเสนอวิธีการสร้างต้นแบบเครื่อง ไอโซนาร์-2   ซึ่งออกแบบจากความต้องการของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย สำหรับการตรวจจับสิ่งกีดขวางใช้ ตัวรับส่งคลื่นเสียงอัลตราโซนิค จำนวนสามตัวความถี่ 40 กิโลเฮิร์ตซ์ มีระยะการทำงาน 130 เซนติเมตรด้านหน้าและ 100 เซนติเมตรด้านข้างลำตัวของผู้พิการ ตรวจจับตั้งแต่พื้นจนถึงศรีษะรวมถึงสามารถตรวจจับหลุมหรือขั้นบันไดได้ด้วย  สำหรับการบอกเตือนสิ่งกีดขวางใช้มอเตอร์สั่นจำนวนสามจุดเพื่อที่จะบอกตำแหน่งของสิ่งกีดขวางตำแหน่งและระยะทางต่าง ๆ ทั้งนี้นอกจากประสิทธิภาพที่ดีแล้ว ไอโซนาร์-2 ยังมีรูปลักษณ์ที่ถูกใจและเป็นมิตรกับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
3. Beacon Interface โดยบริษัท บีคอน อินเตอร์เฟส จำกัด (Beacon Interface Company Limited)

บริษัทสตาร์ทอัพน้องใหม่ภายใต้การร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย สำหรับผลงานตกผลึกชิ้นแรกของบีคอน อินเตอร์เฟส ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมสุดล้ำระดับประเทศ คือ การสร้างรูปแบบและประสบการณ์การใช้งานโทรศัพท์มือถือในรูปแบบใหม่ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้พิการทางสายตา (The Blind) ผู้มีความผิดปกติทางสายตา (The Low Vision) และผู้สูงอายุ (The Elderly) สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย มั่นใจและเป็นส่วนตัว เพียงปลายนิ้วสัมผัส สอดคล้องกับความหมายของ Beacon Interface หรือประภาคารที่นำแสงสว่างมาสู่ผู้มีความผิดปกติทางสายตานั่นเอง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
4. BLIX POP PLAYGROUND FOR ALL สนามจินตนาการสำหรับเด็กทุกคน

การเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสังคมนี้ เกิดจากคุณณัชชา โรจน์วิโรจน์ ประธานบริษัทที่มองเห็นความสำคัญของความสุขของเด็กมากกว่าธุรกิจ โดยแรงบันดาลใจเริ่มจากการไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้เด็กที่พิการทางสายตา ซึ่งทำให้เห็นว่าเด็กพิการทางสายตามีแต่อุปกรณ์ที่มุ่งเสริมทักษะ แต่ไม่มีของเล่นที่สร้างความสุขให้กับเด็กๆ ทาง BLIX POP จึงเล็งเห็นถึงความต้องการเล็กๆ ในวัยเด็กที่บางครั้งเราต้องการแค่เพียงความสุขในการเล่นของเล่นหรือสนามเด็กเล่น แต่กลับถูกปิดกั้นเพราะเพียงแค่เราเป็นผู้พิการทางสายตา คุณณัชชาจึงนำปัญหานี้ไปศึกษาและพัฒนาต่อ ขณะเรียนต่อในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนออกมาเป็นของเล่นเสริมจินตนาการ ที่ชื่อว่า BLIX POP สามารถสร้างสรรค์ได้ทั้งสนามหญ้า ทางเดิน เนินลาดเอียง ด้วยรูปทรงต่างๆที่แตกต่างกันไปตามแต่จินตนาการของเด็กๆ โดยของเล่นเพื่อเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็กทั่วโลกชุดนี้ เคยผ่านเวทีการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2557 และได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการต่อยอดเป็นธุรกิจ และล่าสุดผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น สาขาการศึกษา ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
5. Fraction towers for Deaf students หรือ หอคอยเศษส่วน

นวัตกรรมทางการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้พัฒนาความรู้ความเข้าใจ เรื่องการเปรียบเทียบเศษส่วน การจัดลำดับเศษส่วนและเศษส่วนที่เท่ากัน ที่ตัวส่วนไม่เกิน 10 สำหรับนักเรียนพิการทางการได้ยิน โดยใช้เทคนิคการสร้างภาพ ตามทฤษฎีการรับรู้ทางสายตา (Visual perception theory) และหลักการเปลี่ยนตัวเลขที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นภาพที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีความสอดคล้องกับธรรมชาติและวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนพิการทางการได้ยิน (Visual Learner) ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อและนวัตกรรมทางการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการทางการได้ยิน ครูสอนนักเรียนพิการทางการได้ยินและนักเรียนพิการทางการได้ยินจากหลายสถาบันการศึกษา ชุดนวัตกรรมทางการศึกษานี้ ประกอบไปด้วย กระดานแม่เหล็กสีดำ ชอล์ก ไม้เศษส่วนที่มีตัวส่วนตั้งแต่ 1 – 10 ชุดตัวเลขเศษส่วน ไวท์บอร์ดแม่เหล็กขนาดเล็ก และปากกาไวท์บอร์ดแม่เหล็ก จัดอยู่ในรูปแบบชุดนวัตกรรมที่มีขนาด 30 x 40 ซม. น้ำหนักเบา พกพาสะดวก ราคาประหยัด ใช้งานได้จริง เหมาะสำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอนและชุดทบทวนบทเรียนทางคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนพิการทางการได้ยิน และสามารถปรับใช้กับนักเรียนพิการทางการเรียนรู้ และออทิสติกอีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
6. A Machine for Helping The Elder Getting Up and Down from Lavatory หรือ เครื่องช่วยพยุงการลุกนั่งของผู้สูงอายุขณะอยู่บนโถส้วมในห้องน้ำ

งานวิจัยนี้นำเสนอการออกแบบและสร้างเครื่องช่วยพยุงการลุกนั่งของผู้สูงอายุขณะอยู่บนโถส้วม เพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพในการลุกนั่งได้ใช้งานขณะใช้ห้องน้ำ ซึ่งได้ทำการออกแบบให้มีความ สะดวกในการเคลื่อนย้ายและสะดวกในการติดตั้ง เครื่องต้นแบบมีโครงสร้างเป็นอลูมิเนียม มอเตอร์แกนชักขนาด 12V กำลังไฟฟ้า 54W ถูกใช้สำหรับในการยกตัวขึ้นและลงของฝาโถส้วมจำนวน 2 ตัว โดยจะควบคุมให้มีทิศทางการ หมุนที่เหมือนกันและรับนำหนักได้ถึง 120 kg โดยใช้วงจรควบคุมแบบ H – Bridge มาควบคุมมอเตอร์แกนชัก ซึ่งมีสัญญาณ PWM เป็นสัญญาณขับเกตของมอสเฟต ในส่วนทางด้านแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของเครื่องต้นแบบจะ ใช้แบตเตอรี่แบบ Deep Cycle ขนาด 12V 22 Ah จำนวน 4 ตัว และจะมีอุปกรณ์แสดงระดับแรงดันของแบตเตอรี่ ติดตั้งให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี