Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (1 มกราคม 2549)

ชุดผจญเพลิงไฮเทค

     การจัดการและรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ เป็นสิ่งที่ชุมชนทั้งหลายทั่วโลก ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ และยังไม่มีระบบเครือข่ายโทรคมนาคม เข้าไปถึง ตลอดจนในพื้นที่ที่ระบบเครือข่าย ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ถูกทำลายลง รวมทั้งในบริเวณที่มีการใช้ ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมพร้อมๆ กันจำนวนมากในเวลาเดียวกัน เพื่อรายงานข่าว และติดตามผู้สูญหาย จากข้อจำกัดดังกล่าว ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม จึงเป็นสิ่งที่คนหันมาให้ความสนใจ เนื่องจากช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

     ในปัจจุบันระบบการจัดการ และรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร ระหว่างผู้ประสบ-ภัยกับเจ้าหน้าที่ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง กับศูนย์บัญชาการ และบ่อยครั้งที่มีผู้สูญหาย และบาดเจ็บ เนื่องมาจากไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ขาดช่องทางสื่อสาร ขาดข้อมูลข่าวสาร ในการที่จะให้ผู้ประสบภัยได้รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าจะสามารถทำการสื่อสาร กันได้ก็ยังไม่สามารถที่จะส่งข้อมูลประเภทกราฟิก เช่น แผนที่ หรือภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าไปยังจุดเกิดเหตุได้

     ศูนย์ป้องกันสาธารณภัยของประเทศโปรตุเกส (the Portuguese Civil Protection) จึงได้มีโครงการพัฒนา การบริการให้มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร จัดการทีมงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ในเวลาที่เกิดเหตุขณะนั้น และรับประกันการบริการว่าสามารถดำเนินไปได้ แม้ว่าระบบการสื่อสารบนพื้นโลก จะไม่ทำงานก็ตาม ซึ่งระบบบริการใหม่นี้ จะช่วยระบุตำแหน่งของ เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน ในที่เกิดเหตุว่าอยู่ที่จุดใดบ้าง และสามารถบอกได้ถึงสภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่คนนั้น ได้ว่าสามารถทนต่อสภาวะ แวดล้อมในที่เกิดเหตุได้ต่อไปหรือไม่ หรือสมควรที่จะเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่คนอื่นเข้าไปแทนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนช่วยในการจัดการให้ทีมงานสามารถเคลื่อนที่ไป ยังจุดต่างๆ ที่หน่วยบัญชาการต้องการได้

      ในโครงการดังกล่าว ได้มีการพัฒนาชุดสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัย ชื่อว่า “I-Garment” ขึ้น ซึ่งเป็นชุดสวมใส่เต็มตัวแบบไฮเทค ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์และเซนเซอร์ สำหรับวัดตำแหน่ง และวัดสัญญาณต่างๆ ที่จำเป็น เช่น อุณหภูมิ และอัตราการเต้นหัวใจของผู้สวมใส่ไว้ด้วย โดยข้อมูลที่วัดได้จากอุปกรณ์เซนเซอร์นี้ จะถูกส่งผ่านทางอุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สาย ไปยังศูนย์ป้องกันสาธารณภัยที่สำนักงานใหญ่ เพื่อทำการประมวลผล และส่งข้อมูลกับไปยังเจ้าหน้าที่ ในจุดที่เกิดเหตุผ่านทางคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือแล็ปท็อป

ภาพแสดงตัวอย่างชุดผจญเพลิง I-Garment
ภาพแสดงตัวอย่างชุดผจญเพลิง I-Garment
ที่มา: telecom.esa.int

     I-Garment จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนของชุดสำหรับสวมใส่ เซนเซอร์และข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น ระบบโทรคมนาคม และซอฟต์แวร์ ซึ่งในส่วนของชุดผจญเพลิงนี้ทำมาจากวัสดุที่ทันสมัยที่ ผลิตขึ้นเพื่อป้องกันผู้สวมใส่จากอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะกำลังปฏิบัติงาน รวมทั้งเน้นที่ความสะดวกสบายของผู้สวมใส่เป็นหลัก และภายในชุดดังกล่าว จะมีการฝังเซนเซอร์ระบบรับ-ส่งสัญญาณโทรคมนาคม อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยและอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ไว้ภายใน เพื่อช่วยในการส่งสัญญาณแบบไร้สาย บอกตำแหน่งและสถานะการณ์ที่เจ้าหน้าที่นั้นๆ ประสบอยู่ ไปยังคอมพิวเตอร์ในรถควบคุม (Operating Field Vehicles: OFV) และข้อมูลที่ได้รับนี้จะถูกส่งต่อไปยัง ศูนย์จัดการกลางที่ตั้งอยู่ในเมือง ด้วยระบบผ่านดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์ และสั่งการต่อไปได้อย่างทันท่วงที

ภาพแสดงระบบโดยรวมของ I-Garment
ภาพแสดงระบบโดยรวมของ I-Garment
ที่มา: telecom.esa.int

ที่มา: https://telecom.esa.int/telecom/www/object/index.cfm?fobjectid=12843

เมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นบัตรเครดิต

     ปัจจุบันบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายบริษัท ได้หันมาให้ความสนใจในการพัฒนาระบบสื่อสาร และซอฟต์แวร์ เพื่อเชื่อมต่อบัตรเครดิตเข้ากับ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้สามารถจ่ายค่าอาหาร ค่าจอดรถ หรือแม้กระทั่งค่าแท็กซี่ โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่

     บริษัท MobileLime เป็นบริษัทแรกที่ได้พัฒนา ระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้กับ ร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของ MobileLime ในเมืองบอสตัน และเมืองในแถบตอนเหนือของมลรัฐนิวยอร์ค

      วิธีการใช้งานระบบ MobileLime สามารถทำได้โดย การลงทะเบียนที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัท โดยกรอกข้อมูลเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และข้อมูลอื่นๆ จากนั้นก็ทำการเลือกข้อมูล ว่าจะเชื่อมโยงโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว เข้ากับบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคารใด หลังจากนั้นเมื่อลูกค้าต้องการใช้งาน เช่น การชำระค่าอาหาร ก็เพียงแค่โทรศัพท์เข้าไปยังหมายเลขของศูนย์บริการลูกค้า (Call center) จากนั้นระบบตอบรับอัตโนมัติ จะสอบถามข้อมูลและรหัสของร้านค้า (เป็นรหัสที่ออกโดยบริษัท MobileLime) พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินที่ต้องการชำระ จากนั้นลูกค้าก็เพียงแจ้งให้ทางร้านอาหาร ทราบถึงรหัสสี่ตัวหลังของเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นหลักฐาน และทางร้านค้าก็จะดำเนินการออกใบเสร็จรับเงินให้

      อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวอาจมีความยุ่งยากในการดำเนินการ เช่น การต้องโทรศัพท์ไปยัง call center เพื่อแจ้งยอดเงินและทำการอนุมัติ ดังนั้นบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น ธนาคารเชสส์ (Chase) บริษัทโนเกีย (Nokia) บริษัทฟิลิปส์ (Phillips) บริษัทวีซ่า (Visa) และบริษัทไวโวเทค (ViVOtech) จึงได้รวมตัวกันและประกาศดำเนินการโครงการนำร่อง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) สำหรับการประยุกต์ใช้งานสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless payment) บริการข้อมูลทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Content) สำหรับเทคโนโลยีนั้น เป็นการผสมผสานการระบุตัวบุคคล (identification) กับเทคโนโลยีไร้สาย ดังนั้นจึงทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ NFC สามารถสื่อสารกันได้อย่างมั่นใจว่า ไม่การรบกวนจากโจรไซเบอร์ทั้งหลาย

     ทั้งนี้ NFC ที่พัฒนาโดยบริษัทโซนี่ (Sony) และบริษัทฟิลิปส์มีคุณสมบัติทางเทคนิคคือ ใช้คลื่นความถี่ในการสื่อสารในย่าน 13.56 MHz. มีระยะส่งสูงสุดระยะ 20 เซนติเมตร (ระยะที่ใช้โดยเฉลี่ยประมาณ 10 ซม.) มีความเร็วในการส่งข้อมูลระหว่าง 106-424 kbps. มีทั้งรูปแบบในการสื่อสารทั้งแบบพาสซีพ (Passive) และแอ็คทีพ (Active) สามารถใช้งานในระบบเครือข่ายไร้สาย เช่น Bluetooth ได้ และได้รับมาตรฐาน ISO และ ECMA ปัจจุบันบริษัททั้งสอง ได้มีการร่วมมือกับบริษัทผู้ลิต และพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างๆ จัดตั้งเป็น NFC Forum เพื่อดำเนินการผลักดัน ให้เกิดการประยุกต์ใช้งานในวงกว้าง และมีมาตรฐานสากล

     โครงการทดลองนำร่องนี้ เป็นการทดสอบการประยุกต์ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ ทั้งนี้ทางกลุ่มพันธมิตรเจ้าของโครงการนำร่องดังกล่าว คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2010 มากกว่าร้อยละ 50 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะบรรจุชิป NFC ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการชำระเงิน เช่น เมื่อทำการซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและอยู่ในขั้นตอน การชำระเงิน ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ โดยการถือเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ใกล้กับเครื่องอ่านที่มีความปลอดภัย หลังจากนั้นระบบจะแสดงผลบัตรเครดิต ที่ลูกค้าทำการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ ให้ลูกค้าเลือกทำรายการและกดส่งข้อมูล จากนั้นระบบจะส่งใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ มายังลูกค้าภายในไม่กี่วินาที ทั้งนี้ขั้นตอนทำงานทั้งหมดสามารถ ดำเนินการได้โดยใช้เครือข่ายสื่อสาร การชำระเงินของบัตร เครดิตที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลด (download) ข้อมูลจากโปสเตอร์ หรือป้ายโฆษณา และจัดเก็บลงบนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

     จากการทดสอบระบบพบว่าการชำระเงินผ่านระบบชำระเงินแบบไร้สายนั้น สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ใช้เวลาเพียง 2-5 วินาที ซึ่งหากชำระเงินผ่านระบบเงินสดจะใช้เวลาประมาณ 9-12 วินาที ส่วนการชำระด้วยบัตรเครดิตทั่วไปจะใช้ระยะเวลามากกว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัสนี้ก่อให้เกิดการชำระเงินที่รวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเข้าคิวชำระเงินในร้านค้าต่างๆ

     เป้าหมายหลักของโครงการนำร่องนี้ เพื่อจะลดปริมาณการชำระเงินสด ที่มียอดการชำระไม่สูงนัก ซึ่งจะช่วยให้การชำระเงินสะดวกขึ้น ทั้งนี้ตัวเลขจากรายงานในหนังสือ The Wall Street Journal พบว่าการชำระเงินสำหรับสินค้า และบริการ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐ มีมูลค่าประมาณ 1.32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และคิดเป็นจำนวนกระบวนการชำระเงินประมาณ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ครั้งเมื่อปี ค.ศ. 2003 นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า คนอเมริกันกว่า 37 ล้านคน สนใจที่จะใช้จ่ายผ่านบัตร สำหรับการซื้อสินค้าและบริการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์ว่าระบบการชำระเงินแบบไร้สาย น่าจะได้รับความนิยมในสังคมคนอเมริกันมากขึ้น

     สำหรับในแถบภูมิภาคเอเซียนั้น บริษัท Network for Electronics Transfers Singapore Pte Ltd (NETS) ได้พัฒนาต้นแบบการประยุกต์ใช้งานกับบัตรแทนเงินสด (Cash card) ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถใช้เพื่อการชำระเงิน โดยวิธีการแตะบนเครื่องอ่าน/ชำระเงิน และจะเป็นโครงการนำร่องแรก ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ใช้เทคโนโลยี NFC เพื่อการชำระเงิน โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2006 และมุ่งเน้นให้บริการในร้านอาหารจานด่วน หรือร้านขายสินค้า ระบบการซื้อขายตั๋ว และระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ peer-to-peer เช่น เพลง เกม และรูปภาพ นอกจากนี้ทาง NETS ยังได้พัฒนาการชำระเงิน และผสมผสานกับเทคโนโลยีการยืนยันตัวบุคคล ด้วยวิธีการทางชีวภาพ โดยได้จัดทำเป็น 2 รูปแบบได้แก่ แบบที่ใช้ Biometric เพื่อทดแทนรหัสส่วนบุคคล (PIN Code) โดยลูกค้าจะต้อง จดทะเบียนลายพิมพ์นิ้วมือ และสัญลักษณ์ ที่ระบุตัวบุคคล (Identifier)เช่น เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเชื่อมต่อกับบัญชี เมื่อลูกค้าต้องการชำระเงิน ก็เพียงแค่ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือและ identifier เพื่อยืนยันการชำระเงิน และแบบที่ 2 คือการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือลงในตัวบัตร ดังนั้นในขั้นตอนการชำระเงินลูกค้า จะมีการเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือ ที่เก็บอยู่ในบัตร เพื่อการยืนยันการอนุมัติการจ่ายเงิน

ภาพแสดงวิธีการทำงานของระบบ
ภาพแสดงวิธีการทำงานของระบบ

ที่มา: https://www.pcworld.com/news/article/0,aid,122590,00.asp
https://www.nets.com.sg/corporate/press26_2005.asp
https://www.vivotech.com/newsroom/press_releases/ nfc_trial_release.asp

การใช้เหงื่อเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง

     มือที่ชุ่มด้วยเหงื่ออาจจะไม่เป็นที่ชื่นชอบนักสำหรับคู่ เต้นรำของคุณ แต่ในวันหนึ่งมันจะสามารถช่วยปกป้องบัญชีธนาคารของคุณ ให้รอดพ้นจากแฮกเกอร์ (hacker) ได้

     จากการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยClarkson ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก National Security Agency พบว่าเครื่องอ่านลายนิ้วมือ สามารถถูกตบตาด้วยภาพลายนิ้วมือ ที่ถูกทำเทียมขึ้น โดยแป้งปั้นที่นำมาทำงานศิลปะหรือเจลาติน รวมไปถึงรูปแบบการทำเทียมของนิ้ว ที่สร้างจากแบบพิมพ์ทางทันตกรรม หรือแม้กระทั่งการนำนิ้วที่ตัดออกมาจากศพ มาทำการสวมรอยเป็นบุคคลที่เสียชีวิตนั้น

     ในการทดสอบลายนิ้วมืออย่างเป็นระบบกับตัวอย่างกว่า 60 ตัวอย่าง โดยวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือการอ่านลายนิ้วมือ จากภาพถ่ายลายนิ้วมือ จับคู่กับตัวอย่างลายนิ้วมือในฐานข้อมูล ที่มีอยู่พบว่ามีลายนิ้วมือปลอม ประมาณร้อยละ 90 ที่มีความเหมือนของจริงอย่างมาก แต่เมื่อนักวิจัยปรับปรุงเครื่องอ่านให้ดีขึ้น อย่างเป็นระบบด้วยการค้นหาหลักฐาน และการพิสูจน์เอกลักษณ์/การพิสูนจ์ตัวตน (authenticate) จากวิธีการขับเหงื่อ วิธีดังกล่าวสามารถช่วยให้ลดลายนิ้วมือปลอมลงได้ถึงร้อยละ 10

     แนวความคิดในการวิเคราะห์ลักษณะ การขับเหงื่อบนมือและนิ้ว เป็นความหวังใหม่ทางไบโอเมทริกซ์ (Biometric หรือการพิสูจน์ตัวตน จากคุณสมบัติเฉพาะทางชีวภาพ ของตัวบุคคล เช่น เสียง ภาพถ่ายใบหน้า ลายนิ้วมือ ม่านตา) ในการเอาชนะแฮ็กเกอร์ เพราะเหงื่อที่ถูกขับออกมาของผู้ที่ยังมีชีวิตนั้น จะเริ่มจากรอบๆ รูขุมขนและแผ่ไปตามสัน หรือเนินต่างๆ บนฝ่ามือและนิ้วต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้างลายมือชื่อ หรือลายเซ็นที่ชนิดที่เลียนแบบหรือปลอมกันได้ยาก

     ทั้งนี้แนวการวิเคราะห์ดังกล่าวถูกค้นพบโดยนาย Stephanie Schuckers รองศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรม ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย Clarkson ซึ่งเป็นผู้ค้นพบและอธิบายรูปแบบ ของการขับเหงื่อ จากการอ่านภาพลายนิ้วมือ โดยนิ้วของคนที่ตายแล้ว จะไม่มีเหงื่อออก ส่วนภาพลายนิ้วมือจากนิ้วคนที่ยังมีชีวิต จะมีระดับความชื้น ที่เปลี่ยนแปลงเฉพาะ ซึ่งเกิดจากการขับเหงื่อ แต่ศพและภาพลายนิ้วมือที่ทำขึ้น ไม่สามารถแสดงผลเช่นนั้นได้

     นอกจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Clarkson ที่พยายามจะพิสูจน์ตัวตน ให้ถูกต้อง จากการอ่านรูปแบบการขับเหงื่อจากบนมือและนิ้วแล้ว ยังมีการวิจัยของบริษัท NEC ที่มีความพยายามในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ นักวิจัยจากบริษัท NEC ได้พัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริง ที่สามารถถ่ายภาพเนื้อเยื่อใต้ผิวนิ้วมือ ในลักษณะ 3 มิติ เพื่อให้สามารถใช้จับคู่กับ ตัวอย่างในฐานข้อมูล ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนั้น บริํษัทฟูจิสึ (Fujitsu) ยังได้พัฒนาเทคโนโลยี พิสูจน์ตัวบุคคลจากลักษณะของเส้นเลือดดำด้วย

     แม้ว่าเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ด้วยระบบไบโอเมทริกซ์ จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในแต่ละวิธีก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ เช่น การพิสูจน์ตัวตนด้วยเสียง ถึงแม้จะเป็นวิธีที่ถูกยอมรับว่าได้ผลแม่นยำ และยากที่จะมีการเลียนแบบ แต่มันก็อาจเป็นปัญหาเมื่อต้องพิสูจน์เสียงนั้น ผ่านทางโทรศัพท์ หากสายโทรศัพท์ไม่มีประสิทธิภาพพอ ส่วนวิธีการสแกนม่านตาที่ให้ผลดี แต่ในทางการค้ากลับทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วนวิธีการสแกนใบหน้า จะเป็นวิธีการที่ให้ ผลแม่นยำน้อยกว่าวิธีอื่นๆ แต่เทคโนโลยีนี้ได้ถูกเลือกมาสำหรับใช้ใน หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นการพิสูจน์ตัวตน ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนอาชญากรน้อยที่สุด

ที่มา: https://news.zdnet.com/2100-1009_22-6003440.html?tag=zdnn.alert

 

ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology