Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 (1 มิถุนายน 2549)

เอเชียเป็นผู้นำของที่อยู่อาศัยยุคดิจิทัล

     จากผลการศึกษาแนวโน้มของบ้านยุคดิจิทัล 13 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ของบริษัท ปาร์ค แอสโซซิเอทส์ หนึ่งในบริษัทวิเคราะห์การตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไต้หวันและเกาหลีเป็นสองประเทศผู้นำด้านที่อยู่อาศัยยุคดิจิทัล

     การศึกษานี้มีกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจประมาณ 600 - 1,400 ครอบครัวจากแต่ละประเทศ หนึ่งในหัวข้อที่ใช้ในการสำรวจคือ "ดัชนีของที่อยู่อาศัยยุคดิจิทัล" ซึ่งจะใช้ปัจจัยเช่น ความพร้อมในการใช้ (availability) การนำไปใช้งาน (adoption) และการใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่มุ่งเน้นเทคโนโลยี เป็นส่วนช่วยในการคำนวณดัชนีดังกล่าว จากผลการคำนวณ ประเทศไต้หวันและเกาหลีมีค่าดัชนีสูงเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ ส่วนประเทศแถบภูมิภาคยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และ อิตาลี มีค่าดัชนีเป็นลำดับที่ 7 - 11 ส่วนสองลำดับสุดท้ายได้แก่ ประเทศจีนและอินเดีย ถึงแม้ว่าประเทศทั้งสองจะอยู่ลำดับสุดท้าย แต่ประเทศทั้งสองก็มีสัดส่วนของตลาดดิจิทัลขนาดใหญ่ในเมืองสำคัญต่างๆ เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีประชากรอยู่หนาแน่น

digital-living
ภาพ ครอบครัวยุคดิจิทัล
ที่มา : https://www.bbc.co.uk

     ผลของการศึกษายังพบอีกว่า แต่ละประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีจะเป็นผู้นำในการพัฒนาเกมส์คอมพิวเตอร์ ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำด้านวีดีโอเกมส์ และโทรศัพท์มือถือ สำหรับผู้บริโภคในฮ่องกงจะมีความต้องการในส่วนของไอพีทีวี (IP-TV) มากขึ้น ส่วนไต้หวันก็จะเป็นผู้นำทางด้านเครือข่ายภายในบ้าน (home networking)

     สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียมากกว่าในยุโรปและอเมริกาเหนือ คือ เนื้อหา (content) ของการให้บริการที่หลากหลาย และ อัตราของผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ (broadband penetration) ที่ค่อนข้างสูง หรืออาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าคนเอเชียนิยมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อความบันเทิงมากกว่าคนยุโรปหรือคนอเมริกัน

     โดยทั่วไปแล้ว บ้านยุคดิจิทัลจะมีอุปกรณ์หลัก 3 อย่างที่จะใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูล นั่นคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคต่างๆ เช่น เครื่องเล่นเพลง MP3 และเครื่องเล่น DVD เป็นต้น สำหรับความท้าทายในการพัฒนาบ้านยุคดิจิทัล คือการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อให้ได้การบริการที่ง่ายและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล (simplified and personalized services) ไม่ว่าการบริการนั้นจะเป็นการเล่นเพลงแบบดิจิทัล การเล่นเกมส์ เครื่องมือที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ (educational tools) การแสดงภาพถ่ายหรือภาพสไลด์ โทรทัศน์และวีดีทัศน์ตามสั่ง (TV and video on demand)

     เราจะเห็นได้ว่านวัตกรรมส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคจะมาจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ในขณะที่นวัตกรรมทางด้านการเชื่อมต่อและระบบเครือข่ายจะมาจากทางไต้หวันและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดเป็นบ้านยุคดิจิทัลที่สมบูรณ์นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวมเอานวัตกรรมจากหลายๆ ประเทศเข้าไว้ด้วยกัน
   
ที่มา:
https://news.bbc.co.uk/1/hi/technology/5125510.stm สืบค้นข้อมูลเมื่อ 30/6/2006

 

แว่นตาวิเศษปรับโฟกัสได้อัตโนมัติ

     แว่นตาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาหรือผู้สูงอายุ โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของคนที่มีอายุเกินกว่า 40 ปี ต้องมีเครื่องมือช่วยในการมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ และสำหรับหลายๆ คน นี่หมายถึงการควานหาแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือไปทั่ว หรือสวมแว่นตาชนิดเลนส์สองชั้นโดยที่เลนส์สำหรับมองไกลอยู่ข้างบนและเลนส์สำหรับมองใกล้อยู่ข้างล่าง

     ScienCentral, Inc. ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้แว่นตาสองชั้น กลายเป็นแว่นตาที่สามารถปรับโฟกัสโดยอัตโนมัติเหมือนกล้องถ่ายรูปทั่วไป ทำให้ผู้สวมใส่ดูอ่อนเยาว์ขึ้น และในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอริโซนาได้ค้นพบเลนส์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ ที่สามารถสลับโฟกัสกันระหว่างไกลและใกล้ได้ โดยแตะสวิตช์ขนาดเล็กเบาๆ โดยที่แว่นตานี้สามารถใช้แทนสำหรับคนที่มีแว่นอ่านหนังสือหรือแว่นสายตายาวได้

     นาย Nasser Peyghambarian หัวหน้าฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยอริโซนา ให้ความเห็นว่าแว่นตาแบบเดิมทำให้คนสับสน เพราะแว่นตาอันเดียวกันมีสองเลนส์ เมื่อมองคนละพื้นที่(มองขึ้นหรือมองลง) ซึ่งมีจุดโฟกัสที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดอาการมึนงง หรือเวียนศีรษะได้ เขายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เลนส์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่นี้จะไม่มีปัญหาแบบเดิมอีกแล้ว เพราะเลนส์ทั้งอันจะเปลี่ยนโฟกัส ทำให้การมองเห็นดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยคนที่มีอาการสายตายาว หรือคน ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกับที่เขาเคยเห็นสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น

autofocus-eyeware
ภาพ : แว่นตาต้นแบบเลนส์อิเล็กทรอนิกส์
ที่มา : https://www.sciencentral.com/articles/view.php3?article_id=218392793&cat=3_3

     เลนส์อิเล็กทรอนิกส์นี้ผลิตจากแก้วเรียบสองชิ้นที่ไม่มีความโค้งงอหรือสะท้อนแสง และระหว่างแผ่นแก้วทั้งสองจะมีชั้นคริสตัลเหลวอยู่ ชั้นคริสตัลเหลวที่อยู่ระหว่างแก้วทั้งสองจะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกป้อนเข้าไปจะทำให้คริสตัลเหลวจะตอบสนองกับกระแสไฟฟ้าและสามารถทำให้กระจกสองอันทำหน้าที่เหมือนเลนส์แว่นตาได้ เลนส์ต้นแบบดังกล่าวสามารถเปลี่ยนจากเลนส์ธรรมดาเป็นเลนส์อ่านหนังสือได้ โดยแตะสวิตช์เบาๆ แต่ในผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการพัฒนาแล้ว จะสามารถทำงานได้เหมือนกล้องถ่ายรูปที่สามารถปรับโฟกัสมาที่เรตินาได้โดยอัตโนมัติ จึงทำให้เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งใกล้และไกล

     ในขณะนี้ แว่นตาต้นแบบยังไม่พร้อมที่จะวางตลาด เนื่องจากรูปลักษณ์ยังไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากดูคล้ายแว่นตากันลมขนาดใหญ่มากกว่า แต่ตามแผนการพัฒนานั้นอยู่ระหว่างการทำให้ดูทันสมัยและดึงดูดลูกค้ามากยิ่งขึ้น

     มหาวิทยาลัยอริโซนาได้จดสิทธิบัตรเลนส์นี้ร่วมกับบริษัทที่มีแผนการจะทำแว่นตาโฟกัสอัตโนมัติสำหรับอ่านหนังสือแล้ว พวกเขาประมาณการว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้จริงใน 2-3 ปีข้างหน้า

autofocus-eyeware2
ภาพ : เลนส์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ที่สามารถสลับโฟกัสระหว่างไกลและใกล้ได้โดยแตะสวิตช์ขนาดเล็กเบาๆ
ที่มา : https://www.sciencentral.com/articles/view.php3?article_id=218392793&cat=3_3

 

ที่มา :
https://www.sciencentral.com/articles/view.php3?article_id=218392793&cat=3_3 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 15/6/2006

 

คอมพิวเตอร์อ่านใจ

     สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษและอเมริกันกำลังพัฒนาคอมพิวเตอร์ "ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ (emotionally aware)" โดยการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านความคิดหรือจิตใจของคนได้โดยวิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวบนใบหน้า ซึ่งสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ได้

     ปีเตอร์ โรบินสัน อาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริจน์ในประเทศอังกฤษ เป็นผู้หนึ่งที่พัฒนาคอมพิวเตอร์อ่านใจ (mind-reading computer) เปิดเผยว่าระบบที่กำลังพัฒนาอยู่นั้น ทำโดยการถ่ายภาพอากัปกิริยาที่อาสาสมัครได้แสดงออกทางสีหน้าไว้ เพื่อนำไปพิสูจน์สภาพทางอารมณ์ โดยเขาและทีมงานเชื่อว่าคอมพิวเตอร์อ่านใจสามารถขยายผลการนำไปใช้จากเพียงแค่ใช้ช่วยเพิ่มทักษะในการขับรถของคน ไปจนถึงการช่วยบริษัททำโฆษณาเข้าถึงความรู้สึกของคนได้ และคอมพิวเตอร์สามารถเลือกขายสิ่งที่ตรงกับความรู้สึก ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ รถยนต์ และเว็บไซต์ ก็สามารถอ่านความคิดเราและตอบสนองต่อความรู้สึกของเราได้

     ในงานแสดงวิทยาศาสตร์ ณ กรุงลอนดอน นายโรบินสันได้นำคอมพิวเตอร์อ่านใจไปแสดงพร้อมกับโปรแกรมสังเคราะห์ความแตกต่างทางสีหน้า (recognize different facial expressions) โดยผู้ที่เข้าชมถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเพื่อขยายความสามารถของโปรแกรม ซึ่งเขาหวังว่าจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะระบุได้ว่า สีหน้าแบบใดที่บ่งบอกว่ากำลังเบื่อ กำลังสนใจบางสิ่งบางอย่างอยู่ กำลังสับสน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

     นักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้ภายใต้ความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในสหรัฐอเมริกา ต่างหวังว่าจะทำให้โปรแกรมยอมรับปัจจัยอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ท่าทาง หรืออากัปกิริยา

     นายโรบินสันกล่าวเพิ่มเติมว่า "กล้องที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ถูกลิ้งค์เข้ากับซอฟต์แวร์ของเรา สามารถเก็บภาพสีหน้าคน เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นรหัสสภาพอารมณ์ที่ถูกต้องและส่งต่อไปยังเว็บไซต์ โดยสามารถนำคอมพิวเตอร์อ่านใจไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสอนออนไลน์ เพื่อแสดงให้ทราบว่าใครเข้าใจหรือไม่เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังอธิบาย นอกจากนี้เรากำลังทำงานร่วมกับบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ คาดว่าภายใน 5 ปี ก็จะสามารถนำไปใช้ในรถยนต์ได้ โดยกล้องจะถูกติดตั้งในแผงหน้าปัดรถยนต์ ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าขณะนี้คนขับกำลังสับสน เบื่อหน่าย หรือเหนื่อย แต่หากใครก็ตามที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขา ก็สามารถปิดกล้องได้"

     นอกจากการวิจัยในเรื่องคอมพิวเตอร์อ่านใจแล้วยังมีการวิจัยถึงการใช้ความคิดในการควบคุมการกระทำต่างๆ กล่าวคือที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ดาเนียลา มีคเกอร์และทีมวิจัยของเธอกำลังสอนให้คอมพิวเตอร์อ่านจิตใจของลิง โดยติดตามว่าเซลล์สมองมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเวลาที่ลิงเล่นวีดีโอเกมส์อย่างง่าย เมื่อฝึกลิงให้คิดว่ากำลังเล่นเกมส์โดยไม่เคลื่อนไหว ในเวลานั้นทีมวิจัยให้คอมพิวเตอร์อ่านคลื่นสมองของลิงด้วยอิเล็กโทรด ในที่สุดลิงก็ขยับเคอร์เซอร์ไปรอบๆ จอด้วยความคิดได้โดยลำพังหากจะนำคอมพิวเตอร์อ่านใจมาใช้กับคนมี 2 ประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ (1) การกระทำในกระบวนการที่สลับซับซ้อน เช่น การพิมพ์จดหมายจากคลื่นสมอง ยังคงใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปี (2) ผู้คนน้อยมากที่จะรู้สึกว่าคีย์บอร์ดน่ารำคาญจนถึงกับต้องศัลยกรรมสมอง (brain surgery) เพื่อให้สามารถใช้ความคิดแทนการใช้คีย์บอร์ดได้ ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์หวังว่าการอ่านจิตใจที่หลองลวงจะเป็นไปได้ และจะเกิดงานที่เกี่ยวกับการวิจัยสัญญาณสมองไม่ใช่ศัลยกรรมสมองมากขึ้น

     ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทีมวิจัยพบคือ ทันทีที่ลิงคุ้นเคยกับการเล่นเกมส์โดยใช้ความคิดในการควบคุม มันไม่ต้องการใช้มือในการเล่นอีกต่อไป ในแง่ดีหากพัฒนาคอมพิวเตอร์อ่านใจสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ขับขี่บนท้องถนนให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือปรับปรุงอุปกรณ์ที่ช่วยผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ผู้ที่เป็นอัมพาต หรือเป็นใบ้ ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้อย่างราบรื่นขึ้น ในแง่ร้ายหากผู้คนใช้ความคิดในการควบคุมการทำงานแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ขยับเขยื้อนร่างกายส่วนอื่นๆ เราคงต้องคิดค้นวิธีรักษาโรคที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์อ่านใจมากเกินไป เช่น โรคตา โรคอ้วน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงควบคู่กันไปด้วย

ที่มา:
https://www.boston.com/business/technology/articles/2006/06/25/coming_soon____mind_reading_computers/ สืบค้นข้อมูลเมื่อ 26/6/2006
https://www.penmachine.com/techie/mindcontrol_2002-07.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 26/6/2006

 

ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology