Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 17 (1 กันยายน 2549)

เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้รายงานสภาพการจราจร

      นักวิศวกรได้พัฒนาระบบที่มีชื่อว่า TrafficAid ที่สามารถรับข้อมูลตำแหน่งของโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ระบุชื่อ (anonymous cell-phone location) และเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวโดยแสดงข้อมูลเป็นจุดแสงสว่างบนแผนที่ที่แสดงสภาพการจราจร ซึ่งแสดงถึงสภาพการจราจรที่แออัดในเวลาขณะนั้น ระบบได้อาศัยประโยชน์ของความสม่ำเสมอของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการแสดงตำแหน่งของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งที่เปิดใช้หรือไม่ได้เปิดใช้งาน เนื่องจากสัญญาณของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะค้นหาหอสัญญาณที่มีสัญญาณที่แรงที่สุด เทคโนโลยีตัวใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีตัวแรกที่ใช้แก้ปัญหาสภาพการจราจรโดยสามารถใช้ติดตามรูปแบบของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนถนนในชนบทและถนนในเมืองได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกับติดตามรูปแบบบนถนนบนทางหลวง

ภาพถ่ายจากเครือข่ายหนึ่งในเมืองแทมป้า traffic
ภาพ : ภาพถ่ายจากเครือข่ายหนึ่งในเมืองแทมป้า
จุดสีน้ำเงินในภาพแสดงถึงจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดที่มีการใช้งาน

ที่มา : https://www.physorg.com/news76178303.html

      ระบบ TrafficAid นี้ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท IntelliOne ของเมืองแอตแลนต้า มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยบอกเส้นทางที่มีการจราจรคับคั่งให้แก่คนขับรถแล้ว ยังสามารถช่วยบอกสถานที่เกิดอุบัติเหตุหรือเส้นทางที่ควรใช้อพยพผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่หน่วยกู้ภัย โดยใช้การหาตำแหน่งของคลัสเตอร์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่

      Ron Herman (ซึ่งเป็นอดีตนักวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท IntelliOne และผู้ได้รับรางวัล National Science Foundation (NSF)) ได้กล่าวว่า ระบบ TrafficAid นั้นไม่เหมือนกับระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่พัฒนาบนถนนฟรีเวย์ที่มีราคาแพงและใช้เวลาหลายปีในการพัฒนา โดยระบบนี้จะใช้ประโยชน์ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่แล้ว ซึ่ง Hermanได้แรงบันดาลใจของการทำระบบ TrafficAid นี้จากการสาธิตของเพื่อนเมื่อหลายปีก่อนซึ่งได้สาธิตซอฟต์แวร์ของ Palm Pilot โดยใช้ข้อมูลจริงขณะนั้นที่ได้จากแผนกคมนาคมของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อแสดงเส้นทางลัดให้แก่คนขับรถเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรที่ยุ่งยาก โดยเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีตัวใหม่ต่อไปบนโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีความต้องการข้อมูลสภาพการจราจรที่ถ่ายทอดสดจากทุกถนน ไม่ใช่แค่ทางหลวงที่ติดระบบเซ็นเซอร์จับความเร็ว และเขาพยายามทำให้มันเกิดขึ้น

      งานประดิษฐ์และพัฒนาระบบ TrafficAid นี้ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก NSF ผ่านโครงการ Small Business Innovation Research (SBIR) ซึ่งโครงการนี้ให้การสนับสนุนโดยตรงกับภาคธุรกิจและภาคการศึกษา โดยโครงการนี้จะให้การสนับสนุนไม่เพียงแต่การพัฒนาระบบใหม่สำหรับแอพพลิเคชั่นของกลุ่มผู้บริโภคแต่รวมถึงระบบที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม

      Errol Arkilic (เจ้าหน้าที่ของ NSF และเป็นผู้พิจารณาให้รางวัลกับ IntelliOne) กล่าวว่าความสามารถของ IntelliOne นั้นสามารถขยายได้ไปไกล ไม่เพียงแต่สามารถรองรับแอพพลิเคชั่นกลุ่มผู้บริโภค มันยังสามารถสนับสนุนการจัดการทางลอจิสติกส์ และยานพาหนะได้ด้วย ทั้งนี้การบริหารจัดการเวลาตามจริงโดยตอบสนองสภาพของการจราจร จะทำให้คนขับยานพาหนะสามารถปรับปรุงเวลาของการส่งของได้อย่างดีขึ้น รวมทั้งยังลดการใช้เชื้อเพลิงและลดต้นทุนแรงงานได้อีกด้วย

      ระบบ TrafficAid นี้ไม่แสดงข้อมูลส่วนบุคคล เซอร์เวอร์ของระบบจะทำหน้าที่เพียงแสดงตำแหน่งและข้อมูลสภาพการจราจรโดยไม่บอกว่าเป็นโทรศัพท์ของใครที่แสดงข้อมูลดังกล่าว แต่มันเพียงแค่จะแสดงว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แสดงในตำแหน่งนั้นๆ เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่กำหนด จากหลักการดังกล่าวข้างต้นบริษัท IntelliOne จึงใช้ Mobile Positioning System (MPS) ในการแปลงข้อมูลสัญญาณธรรมดาให้เป็นตำแหน่งที่ตั้งของโทรศัพท์ด้วยอัตราความเร็วสองเท่าต่อวินาที ในขณะเดียวกันสัญญาณดังกล่าวได้ถูกส่งผ่านไปยังเครื่อง Traffic Determination Engine (TDE) ของบริษัท ซึ่งทำหน้าที่จับคู่ตำแหน่งโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละเครื่องเข้ากับถนน รวมทั้งตรวจสอบตำแหน่งของโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นกับตำแหน่งอื่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อหาความเร็วเฉลี่ยและเวลาเดินทางสำหรับถนนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของเสาสัญญาณ

      บริษัท IntelliOne ได้แสดงการสาธิตระบบข้างต้น ในงาน Need4Speed Demonstration ที่เมืองแทมป้า เบย์ มลรัฐฟลอริดา โดยตลอดช่วงเวลา 2 อาทิตย์ของงานซึ่งเริ่มต้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2549 ได้มีบรรดาผู้สื่อข่าว และตัวแทนจากบริษัทรถยนต์ บริษัททำแผนที่และจราจร และหน่วยงานของรัฐได้เข้าร่วมทดสอบขับรถซึ่งมีระบบรายงานสภาพจราจรแบบ real time ซึ่งเส้นทางการเดินรถนี้จะรวมถึงถนนฟรีเวย์ ทางหลวงและถนนในเมือง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระบบใหม่นี้กับระบบ Global Positioning Satellite (GPS) และระบบ 511 (โทรศัพท์สายด่วนสำหรับใช้สอบถามเส้นทางและสภาพการจราจร) ของแผนกคมนาคมของรัฐฟลอริดาซึ่งรวมข้อมูลเส้นทางจากกล้องวีดีโอ, เรดาร์ข้างถนนและจอภาพบนทางเท้า ระบบ TrafficAid นี้ไม่เหมือนกับระบบนำทาง GPS แบบดั้งเดิม โดยระบบนี้จะสามารถปรับปรุงข้อมูลสภาพจราจรให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องในอัตรา 3-5 ไมล์ต่อชั่วโมงที่ตำแหน่งที่กำหนดให้ Herman กล่าวว่า ผลการทดสอบ Need4Speed นั้นได้รับการตอบรับอย่างดีเกินที่คาดไว้ และพบว่าบ่อยครั้งที่ TDE สามารถทำงานได้ดีกว่าระบบเซ็นเซอร์แบบดั้งเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอย่างหนาแน่นนอกจากนี้ Herman ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำทางภาคอุตสาหกรรม ในการทำงานร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่

ที่มา:
https://www.physorg.com/news76178303.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 31/08/2006

 

"Winebot" หุ่นยนต์ระบุคุณภาพไวน์และ เนยแข็งคุณภาพดี

      ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรานิยมใช้มนุษย์เป็นผู้ชิมเพื่อทดสอบไวน์หรือเนยแข็งคุณภาพดี ซึ่งผู้ที่จะสามารถระบุคุณภาพของไวน์หรือเนยแข็งคุณภาพดีได้อย่างแม่นยำและถูกต้องได้จะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะ ได้รับการฝึกฝนและมีประสบการณ์ในด้านการชิมไวน์หรือเนยแข็งมาเป็นพิเศษ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะสามารถระบุคุณภาพไวน์หรือเนยแข็งที่ดีได้ง่ายๆ ทักษะของมนุษย์ในด้านการระบุคุณภาพไวน์หรือเนยแข็งคุณภาพดีจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของนักวิจัย พัฒนาและออกแบบหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจากหน่วยวิจัยเทคโนโลยีระบบ NEC (NEC System Technologies) และมหาวิทยาลัยมิเอะ (Mie University) จึงได้พัฒนาและออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถระบุคุณภาพไวน์และเนยแข็งขึ้นมา เรียกว่า "winebot"

      Hideo Shimazu ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีระบบ NEC และหัวหน้าโครงการหุ่นยนต์เปิดเผยว่า winebot เป็นหุ่นยนต์ต้นแบบที่มีลักษณะคล้ายหุ่นยนต์ทั่วๆ ไป มีความสูง 2 ฟุต ประกอบด้วยส่วนหัว ลำตัว ตา ปาก แขนและขา โดยส่วนของใบหน้าและลำตัวของหุ่นยนต์จะมีสีเขียว ส่วนอื่นๆ ได้แก่ แขน ขา จะมีสีขาว เวลาหุ่นยนต์พูดเกี่ยวกับคุณสมบัติของไวน์จะมีไฟสว่างขึ้นที่ดวงตาทั้งสองข้าง ที่แขนซ้ายของหุ่นยนต์จะติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์สารด้วยอินฟราเรด ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคด้านการวัดความเข้มของแสงที่มีประสิทธิภาพในการจำแนกประเภทสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์และพันธะเคมีในโมเลกุล โดยการตรวจวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของสารตัวอย่างที่ความถี่ต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละพันธะ โดยทั่วไปอาหารต่างๆ จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นลายพิมพ์โมเลกุล หลังจากเซ็นเซอร์สแกนไวน์แล้วลำรังสีจะตกลงบนเครื่องตรวจวัด เกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นทำการบันทึก นำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิง หากได้ผลลัพธ์ตรงกับช่วงอ้างอิงก็แสดงว่าไวน์ขวดนั้นมีคุณภาพดีหุ่นยนต์ก็จะพูดด้วยน้ำเสียงไร้เดียวสาว่า ไวน์ขวดนั้นมีคุณภาพดี โดยจะตั้งเครื่องหมายการค้าและเพิ่มข้อสังเกตุหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรสชาติที่เหมาะสมด้วย

หุ่นยนต์ต้นแบบ winebot

ภาพ : หุ่นยนต์ต้นแบบ winebot
ที่มา : https://news.yahoo.com/s/sp/20060903/ap_on_hi_te/japan_the_winebot


      Shimazu กล่าวว่า นักวิจัยยังสามารถพัฒนาให้หุ่นยนต์มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของแต่ละบุคคล หรือวางแผนให้หุ่นยนต์จดจำคุณสมบัติของไวน์แต่ละประเภทตามความต้องการของเจ้าของไวน์ประเภทนั้นๆ และยังสามารถพัฒนาให้สามารถรองรับกับรสชาติที่หลากหลายด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถให้ข้อสังเกตุแก่ผู้บริโภคหรือเจ้าของไวน์ในด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความอ้วนหรือความเค็ม

      ในการทดลองให้ winebot ระบุว่าแอ๊ปเปิ้ลลูกใดจาก 3 ลูกสุกและหวานมากที่สุด พบว่า หุ่นยนต์สามารถระบุแอ๊ปเปิ้ลลูกที่สุกและหวานมากที่สุดได้อย่างถูกต้อง และเมื่อนำไวน์ (หลายพันขวด) ที่วางขายในท้องตลาดมาให้ winebot ทดสอบพบว่า มีเพียง 12 ขวดเท่านั้นที่เป็นไวน์คุณภาพดี แม้จะนำไวน์ที่เปิดจุ๊กขวดแล้วมาทำการทดสอบกับ winebot พบว่า ยังสามารถระบุไวน์คุณภาพดีได้ อย่างไรก็ตาม แม้ winebot จะทำการทดสอบและระบุไวน์คุณภาพดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าจะได้ต้นแบบที่สมบูรณ์ในปีหน้า แต่ Shimazu ยังไม่มีแผนที่จะนำ winebot ออกวางจำหน่ายแต่อย่างใด และที่สำคัญราคาของ winebot ก็สูง คือมีราคาพอๆ กับซื้อรถยนต์ใหม่หนึ่งคันทีเดียว

ที่มา:
https://news.yahoo.com/s/sp/20060903/ap_on_hi_te/japan_the_winebot สืบค้นข้อมูลเมื่อ 04/09/2006


ถนนอัจฉริยะ (Intelligent road system)

      สำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศแผนงานที่จะนำระบบช่วยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมาใช้ เพื่อช่วยบอกผู้ขับขี่ถึงอัตราความเสี่ยงภัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยให้เห็นผ่านเครื่องแสดงทางภาพและเสียงที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ โดยระบบดังกล่าวจะถูกนำมาทดสอบที่โตเกียวเป็นแห่งแรกในปลายปีนี้ และคาดว่าจะนำมาใช้งานจริงภายในปี 2551 ภายหลังจากผ่านการทดสอบและปรับปรุงระบบเรียบร้อยแล้ว

      ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยสมาคมการบริหารจัดการระบบจราจรสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (the Universal Traffic Management Society of Japan: UTMS) และเป็นที่รู้จักกันในชื่อระบบช่วยด้านความปลอดภัยในการขับขี่ "the Driving Safety Support System (DSSS)" ระบบดังกล่าวทำงานบนเครือข่ายที่สามารถสื่อสารได้ 2 ทาง มีชื่อเรียกว่า "อินฟราเรดบีคอน (Infrared Beacons)" มีลักษณะเป็นกระโจมไฟสัญญานอินฟราเรด ซึ่งจะถูกนำไปติดตั้งอยู่บนเสาสูง 5.5 เมตรบนท้องถนน โดยเฉพาะในบริเวณที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อินฟราเรดบีคอนนี้จะตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ของยานพาหนะและคนเดินถนน โดยเฉพาะในบริเวณที่ทั้งคนขับและคนที่เดินอยู่ริมถนนมองไม่เห็น และจะส่งข้อมูลสื่อสารไปยังคนขับผ่านทางระบบนำทางในรถยนต์

การทำงานของระบบถนนอัจฉริยะ
ภาพ : การทำงานของระบบถนนอัจฉริยะ
ที่มา : https://www.ministryoftech.com

      เนื่องจากระบบจะประกอบด้วยระบบย่อยที่แตกต่างกันถึง 20 ระบบย่อย จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการออกแบบและพัฒนาในแต่ละระบบ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากด้านหน้าของตัวรถ ด้านหลังของตัวรถ ด้านซ้าย และขวาเป็นต้น โดยคาดว่าระบบย่อย 5 ระบบจะเสร็จและนำมาใช้ได้ในปี 2551 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการนำไปใช้จริงจะได้มีการทดลองใช้ที่โตเกียวก่อนเป็นแห่งแรก

      ระบบ DSSS นี้จะมีลักษณะคล้ายกับระบบข้อมูลข่าวสารในยานพาหนะ (the Vehicle Information and Communication System (VICS) ซึ่งเป็นระบบที่นำมาใช้งานแล้ว และก็ใช้แสงอินฟราเรดในการรับส่งข้อมูลการจราจรไปยังรถแต่ละคันเช่นกัน แต่มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ใช้รถยนต์ในโตเกียวที่ติดตั้งระบบนี้เท่านั้น สำหรับในอนาคต ทางรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ระบบดังกล่าวเป็นที่รู้จักและมีการใช้งานมากขึ้น

      สำหรับการทดสอบที่จะทำในโตเกียวนั้น จัดขึ้นเพื่อดูประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนโดยทั่วไป จากการทดลองนำระบบทั้ง 5 ไปใช้แล้วครั้งหนึ่งที่โตโยต้าซิตี้ ในเมืองไอชิ เมื่อปี 2545-2547 พบว่าผู้ใช้มากกว่าร้อยละ 80 ได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าว

ที่มา:
https://www.ministryoftech.com/2006/08/19/intelligent-road-system-to-boost-traffic-safety/
https://www.smartmobs.com/archive/2006/08/19/intelligent_roa.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 02/08/2006


ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology