Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest

IT Digest ปีที่ 3 ฉบับที่ 21 (1 พฤศจิกายน 2549)

เมื่อมือถืออ่านนิยายได้
โดย สิรินทร ไชยศักดา

มือถืออ่านนิยายได้
ที่มา: msnbc.msn.com/id/7232995/

     การนำเอาเนื้อหาบนหนังสือไปไว้บนมือถือ และขายให้ผู้ใช้มือถือที่รักการอ่าน หรือไม่มีเวลาแม้แต่จะหยิบหนังสืออ่านนั้น ในระยะแรกธุรกิจนี้แทบจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเลย หนอนหนังสือหลายคนบอกว่า การอ่านนิยายจากมือถือซึ่งเป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กเหล่านี้จะทำให้อรรถรสในการอ่านลดลง ตัวหนังสือก็เล็ก และดูจะไม่สะดวกเอาเสียเลย แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ทำให้หน้าจอมือถืออ่านได้สะดวกขึ้น สบายตาขึ้น ทำให้แนวโน้มเหล่านี้เปลี่ยนแปลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราที่ใช้ชีวิตนอกบ้านและมีเวลาอยู่ระหว่างการเดินทางมากขึ้น      
      ประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นประเทศแรกที่แนวคิดเกี่ยวกับการหารายได้จากนิยายบนมือถือใช้ได้ผล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่อยู่บนรถไฟ ในที่ทำงาน เวลาว่างของพวกเขาระหว่างนั่งรถไฟไปกลับเป็นเวลาที่คนญี่ปุ่นมักจะใช้ในการโทรศัพท์ รับ-ส่งข้อความ รับ-ส่งอีเมล์ หรือไม่ก็อ่านหนังสือ การอ่านหนังสือจากมือถือแทนการพกหนังสือ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนญี่ปุ่น

     นิยายบนมือถือเรื่องแรกของญี่ปุ่นเกิดในปี พ.ศ. 2547 ชื่อเรื่อง "Deep Love" นิยายแนวอีโรติกเกี่ยวกับวัยรุ่น ในโตเกียวที่แสวงหาความรักแท้ โดยนักเขียนที่ใช้นามปากกา "Yoshi" ความสนุกสนานของนิยายเรื่องนี้ได้รับการบอกเล่าปากต่อปาก ทำให้ผู้อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ และรายได้ของมันมาจากการสนับสนุนเงินตามแต่ผู้อ่านจะบริจาค ความมี ชื่อเสียงของนิยายบนมือถือนี้ยังทำให้มันได้รับการทำเป็นภาพยนต์ การ์ตูน และพิมพ์เป็นหนังสือซึ่งขายได้ถึง 2.6 ล้านเล่ม ความสำเร็จของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่เนื้อหาที่มีการปรับปรุงจากการที่ผู้อ่านสามารถส่งข้อความ ความคิดเห็นถึงผู้เขียนได้หลังจากอ่านจบในแต่ละตอน ทำให้เนื้อหาในเรื่องยังคงตื่นเต้นเร้าใจตามแบบที่ผู้อ่านต้องการอยู่ตลอดเรื่อง

Deep love
"Deep Love"
ที่มา: mobile.kaywa.com/ mobile_content/test.html

     จากความนิยมดังกล่าวทำให้มีการขยายการให้บริการแบบนี้ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและสถานที่ที่ใช้ในการอ่านได้เปลี่ยนแปลงไป มีการสำรวจจากบริษัท Bandai (ฺBandi Networks Co.Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ให้บริการด้านนี้พบว่า ผู้อ่านเกิน 50% เป็นผู้หญิง และมักจะอ่านหนังสือบนมือถือจากที่บ้าน สำหรับเหตุผลนั้น เป็นเพราะว่านิยายบางอย่างนั้นผู้อ่านอายเกินกว่าจะซื้อหนังสือมาอ่าน หรือถือหนังสือประเภทนั้น
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาเองสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ (ในวงการนิยาย) เริ่มนำนิยายของตนเองไปไว้บนสื่อมือถือเช่นกัน ในเดือนเมษายน 2549 สำนักพิมพ์ Herlequin Enterprise Limitedได้ออกแคมเปญ "Harlequin On The Go?" โดยให้สมาชิกที่สมัครร่วมรายการนี้สามารถ อ่านนิยายที่ชื่นชอบบนมือถือ และมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น เกม "Six degrees of Kissing" ผลโหวตในเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ฯลฯ ด้วยราคาในการบริการเพียงเดือนละ 2.49 เหรียญสหรัฐ

     แนวโน้มในอนาคต ตลาด "Cell-phone novels" หรือนิยายบนมือยังเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีเป้าหมายที่จะขยายได้อีกมาก เหมือนกับตลาดการดาวน์โหลดริงโทน เกม เพลง อย่างไรก็ตามความสำเร็จของมันยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความน่าสนใจของเนื้อหาของนิยาย พฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เป็นต้น

ที่มา :
https://trendcentral.com/trends/trendarticle.asp?tcArticleId=1049 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 27/10/2006
https://msnbc.msn.com/id/7232995/ สืบค้นข้อมูลเมื่อ 27/10/2006
https://mobile.kaywa.com/mobile_content/test.html สืบค้นข้อมูลเมื่อ 27/10/2006
https://www.telephonyworld.com/cgi-bin/news/viewnews.cgi?category=all&id=1146096093 สืบค้นข้อมูลเมื่อ 1/11/2006
https://store.eharlequin.com/splash/mobile_intro.jhtml สืบค้นข้อมูลเมื่อ 1/11/2006

อุปกรณ์ล่องหน
โดย นนทวัฒน์ มะกรูดอินทร์

     นักวิทยาศาสตร์อเมริกา-อังกฤษ ประสบความสำเร็จในการทดสอบอุปกรณ์ทำให้ล่องหนได้ อุปกรณ์ล่องหนนี้ เรียกว่า "Cloak" Cloakทำจากเมตาแมทิเรียล (Metamaterials) อุปกรณ์ดังกล่าวมีคุณสมบัติสามารถซ่อนวัสดุทรงกระบอกที่ทำจากทองแดงที่อยู่ภายในจากคลื่นไมโครเวฟ โดยใช้หลักการเบนรังสีไมโครเวฟที่เข้ามาด้านหนึ่งให้โค้งออกไปรอบๆเมื่อผ่านไปอีกด้านหนึ่งแล้วลำแสงของรังสีก็เบนสู่ทิศทางเดิมเหมือนไม่มีอะไรผ่านเข้ามา เหมือนกับการที่น้ำไหลผ่านก้อนหินผิวเรียบ โดยการทดสอบทำที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก มลรัฐนอร์ธแคโลไรนา ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามการทำให้วัตถุหายไปได้จริงต่อสายตาคนยังคงเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์ สำหรับตอนนี้อุปกรณ์สามารถทำงานได้เฉพาะกับคลื่นไมโครเวฟเท่านั้น

cloak ถูกสร้างมาจากเมตาแมทิเรียล
Cloak ถูกสร้างมาจากเมตาแมทิเรียล
ที่มา : abcnews.go.com/Video/playerIndex?id=2432199

     ดร.เดวิด ซูริก แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก เปิดเผยว่า การทำให้อุปกรณ์ล่องหนได้ เป็นการทำให้คลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าเบนไปรอบๆ ดังนั้นวัตถุภายในอุปกรณ์จะไม่สามารถรบกวนสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เพียงแต่จะมีการลดลงของ การสะท้อนกลับจากวัตถุและเงาที่เกิดขึ้นลดลง

    โดยหลักการแล้วการออกแบบตามทฤษฎีสามารถเอาไปสร้างอุปกรณ์ที่ทำให้วัตถุล่องหน จากแสงที่ตามองเห็นได้เช่นเดียวกัน แต่อาจต้องใช้โครงสร้างของเมตาแมทิเรียล (Metamaterials) ที่ละเอียดมากกว่า ในการประยุกต์ใช้งานจริงๆ แล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าเราจะได้สิ่งที่ทำให้ล่องหนแบบที่หลายคนคิดไว้ใน "แฮรี่ พ็อตเตอร์" หรืออุปกรณ์ทำให้ล่องหนในภาพยนต์ "Star Trek"

      ศาสตราจารย์ จอห์น เพนดรี แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ความเห็นว่า มีกฎหนึ่งที่เกี่ยวกับโครงสร้างภายในของเมตาแมทิเรียล ที่ระบุว่ามันจะต้องมีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นรังสี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่จะสร้างรูปแบบในเมตาแมทิเรียลที่มีขนาดเล็กเป็นมิลลิเมตรได้ในคลื่นเรดาห์ ซึ่งมีความยาวคลื่น 3 เซนติเมตร

      "ถ้าคุณต้องการพัฒนาต่อไปเพื่อใช้งานได้กับแสง ช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ซึ่งความยาวคลื่นน้อยกว่าหนึ่งไมครอน โครงสร้างภายในเมตาแมทิเรียลก็จะต้องเป็นเพียงไม่กี่สิบนาโนเมตร ซึ่งต้องอาศัยนาโนเทคโนโลยี อาจเป็นไปได้ 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า"

นักวิทยาศาสตร์ดูคลื่นรอบๆ cloak
นักวิทยาศาสตร์สามารถดูคลื่นรอบๆ Cloak ได้
ที่มา : abcnews.go.com/Video/playerIndex?id=2432199

      นักวิจัยกล่าวว่าถ้าวัตถุถูกทำให้ซ่อนได้จากไมโครเวฟ มันน่าจะล่องหนจากการตรวจวัดของเรดาได้ ซึ่งเป็นความน่าสนใจต่อวงการทหาร ซึ่งอาจจะเอา Cloak ไปคลุมรอบเครื่องบินขับไล่ หรือรถถังได้เป็นต้น

ที่มา : https://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/6064620.stm สืบค้นข้อมูลเมื่อ 1/11/2006


เครื่องยนต์ขนาดจิ๋วที่มีขนาดเท่ากับชิป
โดย ปณิตา ล่ำซำ

ส่วนประกอบหนึ่งของเครื่อง micro gas-turbine
ส่วนประกอบหนึ่งของเครื่อง micro gas-turbine (ภาพจาก MIT)
ที่มา: www.abc.net.au/science/news/stories/2006/1760485.htm

     เครื่องยนต์จิ๋ว (Microengine) ชื่อ micro gas-turbine ได้รับการพัฒนาโดยทีมของ Alan Epstein (ศาสตราจารย์ด้านวิชาการบินและการเดินทางในอวกาศของ Massachusetts Institute of Technology : MIT) โดยมีขนาดแค่เหรียญ 20 เซนต์ แต่สามารถให้พลังงานได้มากมายมหาศาล ผู้พัฒนาได้กล่าวว่าเครื่องยนต์จิ๋วนี้สามารถให้พลังงานที่มากกว่าแบตเตอร์รี่ของ laptop ได้ถึง 5 เท่าในราคาต้นทุนที่เท่ากัน ในขณะที่แบตเตอร์รี่ของ laptop สามารถใช้งานได้เพียงแค่ 3 ชั่วโมงก่อนที่จะต้องชาร์จไฟใหม่ แต่สำหรับระบบพลังงานของ microengine (เครื่องยนต์จิ๋วที่มีเชื้อเพลิง) ที่มีขนาดน้ำหนักเท่ากับแบตเตอร์รี่ของlaptop จะทำให้ laptop สามารถใช้งานได้ถึง 15-20 ชั่วโมง ก่อนชาร์จไฟใหม่

     เจ้าเครื่องยนต์จิ๋วนี้จะทำงานบนหลักการเดียวกันกับเครื่องยนต์เจ๊ต โดยเจ้าคอมเพรสเซอร์จะดูดอากาศจากข้างนอกและอัดอากาศไว้ แล้วกระบอกฉีดเชื้อเพลิงจะเติมเชื้อเพลิงให้กับอากาศที่ถูกอัด จากการผสมนี้เองจะทำให้เกิดการจุดระเบิดขึ้น เครื่องยนต์นี้ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้กับเชื้อเพลิงที่หลากหลาย เช่น น้ำมันก๊าด ก๊าซโพรเพน เอทานอล เมทานอลหรือ ไฮโดรเจน ซึ่งก๊าซร้อนที่เกิดจากการจุดระเบิดจะไปหมุนกังหันซึ่งเป็นขดลวดอยู่บนแม่เหล็กทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น
     ในขณะที่เครื่องยนต์เจ๊ตประกอบด้วยชิ้นส่วนเป็นพันๆ ชิ้นเพื่อประกอบขึ้นมาเป็นคอมเพรสเซอร์ ห้องเผาไหม้และกังหัน แต่เจ้าเครื่องยนต์ Microengine ของ EPstein นั้นมีส่วนประกอบแค่ 2 ส่วน คือ movable rotor และโครงสร้างที่อยู่คงที่ ซึ่งทั้งสองตัวนี้ทำงานเหมือนกับคอมเพรสเซอร์และตัวจุดระเบิด (combustor)

     เครื่องยนต์เจ๊ตนี้จะมีขนาดเท่ากับกล่องไม้ขีด โดยมี compression chamber ที่มีขนาดเท่ายางลบดินสอ มีกระบอกฉีดเชื้อเพลิงที่มีขนาดเล็กเท่ากับจุดของปากกา และมีกังหันที่มีขนาดเท่ากับเหรียญ 10 เซนต์

    ในการผลิตส่วนประกอบของเครื่องยนต์จิ๋วนั้น จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างไปอย่างมากจากการผลิตส่วนประกอบของเครื่องยนต์เจ๊ต Epstein และทีมงานของเขาได้หันไปใช้ระบบ microeletromechanical หรือ MEMS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้สร้างอุปกรณ์ที่มีขนาดจิ๋ว ตั้งแต่ชิปคอมพิวเตอร์ เครื่องเซ็นเซอร์ทางชีววิทยา ไปจนถึงตัวประมวลผลทางเคม (chemical processor) พวกเขาทำแม่พิมพ์ชิ้นส่วนจากเวเฟอร์ของซิลิคอน โดยการทำแม่พิมพ์นี้จำต้องใช้ความแม่นยำอย่างมาก จะผิดพลาดไม่ได้เลยหรือผิดพลาดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

     Carlos Fernandez-Pelloศาสตราจารย์คณะวิศวกรรม ศาสตร์ สาขาเครื่องกลของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย) กล่าวว่า แม้ว่าหลายปีก่อนนี้จะดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะนำระบบ MEMS มาใช้งาน แต่พวกเขาก็ทำให้มันเป็นไปได้ ทีมงานของ Pello เองก็กำลังวุ่นกับการพัฒนาเจ้าเครื่องยนต์จิ๋วที่ทำงานเหมือนกับเครื่องยนต์รถ นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของ Epstein น่าจะเป็นการที่จะให้ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทำงานเสมือนเครื่องยนต์หนึ่งตัว แต่ด้วยความที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมีขนาดเล็กมากจึงทำให้ความร้อนที่ผลิตขึ้นแพร่กระจายไปทั่วอุปกรณ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์มีการขยายตัว และทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าพวก Epstein สามารถค้นพบวิธีการที่จะป้องกันเจ้าตัวจุดระเบิด (combustor) จากชิ้นส่วนอื่นๆได้ จะทำให้ตัวผลิตภัณฑ์นั้นมีขนาดแค่เพียงไฟแช็ก โดยมีตัวเครื่องยนต์อยู่ข้างบนและมีเชื้อเพลิงอยู่ด้านล่าง Pello ยังกล่าวอีกว่าแม้ว่าขนาดของเจ้าไฟแช็กที่ว่านี้จะมีขนาดเท่ากับแบตเตอร์รี่ขนาด AA จำนวน 2 ก้อน แต่มันก็สามารถให้พลังงานได้มากกว่า 100 เท่า หรือสามารถใช้งานได้ถึง 50 ถึง 60 ชั่วโมง นอกจากนี้เจ้าเครื่องยนต์จิ๋วนี้ก็มีความปลอดภัยเท่ากับไฟแช็ก

     Epstein กล่าวว่าในขณะที่มันดึงกระแสไฟฟ้าจาก grid นั้น microengine นี้จะปลดปล่อยพลังงานออกมาเพียงหนึ่งในร้อยเมื่อเทียบกับที่แบตเตอร์รี่ laptop ปลดปล่อยออกมาทางอ้อมขณะชาร์จไฟ
          จนถึงขณะนี้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์จิ๋วได้ผ่านการสร้างและแต่ละชิ้นได้ผ่านการทดสอบและผลิตเป็นเครื่องยนต์ทดสอบที่มีขนาดเท่ากับเหรียญ 20 เซนต์ จะเหลือแต่ก็เพียงเพิ่มในส่วนของเชื้อเพลิงและทดสอบ การทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่ง Epstein คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://www.abc.net.au/science/news/stories/2006/1760485.htm สืบค้นข้อมูลเมื่อ 11/10/2006


ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology