การเลือกตั้งด้วยเทคโนโลยี Blockchain (e-Voting System)

Facebook
Twitter
การประยุกต์ใช้ Blockchain ในการเลือกตั้ง
บทความ : ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เนคเทค-สวทช.
ภาพประกอบ : ศศิวิภา หาสุข

ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain เริ่มเข้ามาใช้แพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง FinTech หรือการเก็บข้อมูลดิจิทัลในรูปแบบกระจาย ซึ่งโดยมากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในด้านความโปร่งใส (Data Integrity) เนื่องจากในเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูลจะถูกสำรองเก็บกระจายไว้หลายๆ ที่หรือที่เรียกว่า Node ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลได้มีการถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับ Node อื่นๆ ซึ่งวิธีการเก็บข้อมูลแบบกระจายแบบนี้ดีกว่าการเก็บข้อมูลไว้ที่ศูนย์กลางที่เดียว เนื่องจากหากข้อมูลนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ก็อาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้

ในเรื่องของการเลือกตั้งด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-Vote นั้น สามารถนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ได้เช่นกันด้วยการเก็บผลการโหวตกระจายไปในแต่ละ Node ของผู้ที่โหวต ดังนั้นถ้าข้อมูลถูกแก้ไขใน Node ใดๆ ก็จะสามารถทราบได้ว่าข้อมูลใน Node ได้ถูกแก้ไขอย่างผิดปกติ ต่างจากวิธีการแบบดั้งเดิมที่เป็นการเก็บผลโหวตไว้ในที่เดียวซึ่งหากถูกแก้ไขไปแล้วก็จะตรวจสอบได้ยาก จะเห็นว่าการนำ Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้งก็สามารถเป็นวิธีลดการโกงการเลือกตั้งได้

การประยุกต์ใช้ Blockchain ในการเลือกตั้ง

ผู้เกี่ยวข้องหลักในระบบ
  • ผู้คุมการเลือกตั้ง คือผู้มีหน้าที่ระบุผู้มีสิทธิเข้าร่วมลงคะแนน และกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
  • ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือผู้ที่ประสงค์ลงสมัครและมีคุณสมบัติครบตามที่ผู้คุมการเลือกตั้งกำหนด
  • ผู้ลงคะแนน คือผู้ที่มีสิทธิในการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หลักการทำงานของ e-Voting System

การประยุกต์ใช้ Blockchain ในการเลือกตั้ง

 

จะเห็นได้ว่าการนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้งนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกและสามารถลดปัญหาต่างๆ ได้หลายด้าน โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. Blockchain สามารถตัดตัวกลางของกระบวนการ ในที่นี้คือ ผู้รวบรวมคะแนนและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง โดยคะแนนจะถูกส่งจากผู้ลงคะแนนถึงผู้ลงสมัครที่ถูกเลือกโดยตรง
  2. ผู้ลงคะแนนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้ง สามารถอยู่ ณ จุดใดๆ ก็ได้ในโลกที่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดขั้นตอนและเวลาเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากขึ้น
  3. ระบบสามารถป้องกันการแอบอ้างตัวตนเป็นบุคคลอื่น เพื่อให้ได้สิทธิในการลงคะแนนเพิ่ม
  4. สามารถประมาณการงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลและจัดการข้อมูลคะแนนโหวตได้อย่างเป็นระบบ
  5. ผลโหวตมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ สร้างการยอมรับให้กับทุกๆ กลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับการโหวตด้วยวิธีแบบเดิม