14 ผู้ผลิตพีซีจ่อคิวตั้งสมาคม สร้างพลังเจรจาต่อรองภาครัฐ

14 ผู้ผลิตพีซีโลคอลแบรนด์ผนึกกำลังตั้งสมาคมสร้างพลังการเจรจาและประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เผยเป็นช่วงขาขึ้นตลาดพีซีโลคอล แบรนด์ ทุกค่ายเร่งปรับตัวพัฒนาจากการแข่งขันด้านราคาไปเน้นด้านมาตรฐาน ช่องทางการจัดจำหน่าย และการสร้างแบรนด์มากขึ้น 'เอสวีโอเอ' ไปไกลรับจ้างโออีเอ็มป้อนตลาดต่างประเทศ

นายพลากร จิระโสภณ ผู้จัดการฝ่ายขายโครง การ บริษัท คอมพิวเทค ไมโครซิสเท็ม จำกัด ผู้ประ กอบและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ 'เลเซอร์' เปิดเผย 'ประชาชาติธุรกิจ' ว่า ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาด โลคอลแบรนด์มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น และเข้าไปกินสัด ส่วนตลาดแบรนด์เนมเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ตลาด ไม่ว่าจะเป็นราชการ, กลุ่มผู้ใช้ตามบ้าน (โฮมยูส) และองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการเติบโต คือ การส่งเสริมจากภาครัฐให้ใช้สินค้าไทยในหน่วยงานราชการ ประกอบกับมีผู้ผลิตแบรนด์เนมเพียงไม่กี่รายที่ให้ความสนใจในการทำตลาดโฮมยูสอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้พีซีโลคอลแบรนด์ได้รับการยอมรับมากขึ้น คือ การสร้างมาตรฐานต่างๆ เข้ามารองรับ ซึ่งขณะนี้หลายๆ บริษัทได้พยายามเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 9000 หรือผ่านการรับรองมาตรฐานจากศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) รวมถึงพัฒนาเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

นายพลากรกล่าวว่า เพื่อผลักดันให้อุตสาห กรรมพีซีโลคอลแบรนด์ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้ประ กอบการในโครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพ เนคเทคได้เข้าไปเจรจาขอการสนับสนุนด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าจากกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการจึงเห็นพ้องต้องกันควรมีการจัดตั้งเป็นสมาคมผู้ประกอบการโลคอลแบรนด์ในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาและประสานกับภาครัฐ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงการแก้ปัญหาร่วมกัน 'ในการเจรจากับขอความร่วมมือกับภาครัฐ การพูดในฐานะตัวแทนสมาคมจะมีน้ำหนักมากกว่าการพูดซึ่งมาจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยในช่วงก่อตั้งจะเป็นกลุ่ม 14 บริษัทที่อยู่ในโครงการคอมพิว เตอร์ไทยคุณภาพเนคเทค' นายพลากรกล่าว

การแข่งขันในธุรกิจพีซีโลคอลแบรนด์ยังรุนแรงเช่นเดิม แต่ไม่ได้เป็นการแข่งขันด้านราคาเหมือนที่ผ่านมา จะเน้นด้านการหาช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขายผ่านโมเดิร์นเทรด หรือการแข่งขันด้านบริการมากขึ้น เช่น บริการออนไซต์เซอร์วิส เป็นต้น นอกจากนี้พีซีโลคอลแบรนด์หลายรายก็หันมาสร้างกิจกรรมการตลาดในลักษณะของการสร้างแบรนด์มากขึ้น

นายประทีป เอื้อศักดิ์เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทร โปรเฟสชั่นแนล โปรดักส์ จำกัด ผู้ประกอบพีซีภายใต้ชื่อ 'เอ็มพีพี' กล่าวว่า พีซีโลคอลแบรนด์อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ส่วนผู้ผลิตอินเตอร์แบรนด์ก็ไม่สามารถทำราคาให้ลงมาต่ำใกล้เคียงกับโลคอลแบรนด์ได้ มีการใช้กลยุทธ์ราคาบ้างก็ออกเป็นโปรโมชั่นช่วงสั้นๆ เท่านั้น เชื่อว่าในอนาคตหากผู้ประกอบโลคอล แบรนด์สามารถประกอบเครื่องเซิร์ฟเวอร์ให้ระบบเสถียร เชื่อว่าองค์กรเอกชนจะให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์โลคอลแบรนด์มากขึ้น

นายประทีปกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตโลคอลแบรนด์ทั้ง 4 รายอย่างเอ็มพีพี, เลเซอร์, เบลต้า และโพเวลล์ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแบรนด์เนมได้เช่นกัน เพราะความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันให้พีซีโลคอลแบรนด์เข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและเล็กมากขึ้น เพราะช่วงที่โครงการคอมพิว เตอร์ราคาประหยัดออกมาก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแบรนด์เนมค่อนข้างมาก เนื่องจากโครงการได้รับความสนใจจากผู้บริโภคสูง จึงทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ จอ หรือแม้กระทั่งซีพียูและซอฟต์แวร์เองหันมาให้ความสนใจและสนับ สนุนกลุ่มโลคอลแบรนด์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด ผู้ประกอบ พีซีโลคอลแบรนด์ 'เอสวีโอเอ' ซึ่งถือว่าเป็นพีซีโลคอลแบรนด์รายใหญ่ที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดค่อนข้างมาก ได้ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในช่วงแรกจะทำตลาดในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มเอเชียใต้ อาทิ สิงคโปร์, มาเลเซีย และเนปาล เป็นต้น ในลักษณะของการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม)

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.