รายงาน : โอกาสของ "3จี" ในตลาดมือถือเอเชีย

ยอดผู้ใช้บริการเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3จี) ซีดีเอ็มเอกว่า 60 ล้านราย และจำนวนผู้ให้บริการ 57 รายทั่วโลก ทำให้ราคาของเทคโนโลยีนี้ ทั้งในส่วนเครือข่ายและเครื่องลูกข่าย ปรับตัวลงตามความแพร่หลายในการใช้งาน ผนวกเข้ากับความสามารถเครือข่ายความเร็วสูง ที่รองรับการให้บริการแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ ทำให้เทคโนโลยีนี้ มีแนวโน้มได้รับความนิยมในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี นับเป็นตลาดที่ประสบความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีนี้มาให้บริการจริง แต่จากนี้ไป เราคงต้องหันมาจับตามองประเทศจีน ซึ่งมีแนวโน้มจะก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญรายต่อไป จากปัจจัยหนุนของการเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่จากประชากรนับพันล้านคน ขณะที่ ในฟากของผู้พัฒนาเทคโนโลยีนั้น ปัจจุบันทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน และผู้ผลิตอุปกรณ์ ต่างก็กำลังหาหนทางที่จะทำให้เทคโนโลยีของแต่ละค่าย ได้แก่ ซีดีเอ็มเอ และดับบลิวซีดีเอ็มเอ สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการใช้งานระหว่างประเทศ (โรมมิ่ง) กับผู้ให้บริการ 3จี ในประเทศอื่นๆ ตลอดจนการใช้งานเลขหมายเดียวข้ามระบบ

 

"คอนซูเมอร์" ดันตลาดเอเชียเกิด

นายแดเนียล เคอร์วิน กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยนานาชาติ เอเชีย (ไอไออาร์) กล่าวว่า ในส่วนของภูมิภาคเอเชียนั้น คาดว่าความนิยม 3จี จะเริ่มจากกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป (คอนซูเมอร์) ที่ใช้งานด้านความบันเทิง ทั้งการเล่นเกม การค้นหาตำแหน่งจากมือถือ (โลเคชั่น เบส เซอร์วิส) การถ่ายภาพจากกล้อง ขณะที่ ในตลาดสหรัฐอเมริกานั้น การใช้งาน 3จี เริ่มจากกลุ่มธุรกิจองค์กร  "ขณะนี้ คงไม่เป็นที่สงสัยว่า เทคโนโลยีนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่ที่โอเปอเรเตอร์ จะพร้อมให้บริการมากกว่า โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่ล่าสุดจีนเป็นเข้าสู่เทคโนโลยีดังกล่าว ที่แม้จะมีความพยายามสร้างมาตรฐานระบบใหม่ที่เรียกว่า ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ ก็ตาม แต่ก็มีระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอ และซีดีเอ็มเอ2000 ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดราคาของเทคโนโลยีต่ำลงตามปริมาณผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น " นายเคอร์วิน กล่าวว่า

 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องลูกข่าย ก็เริ่มผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือที่รองรับสองระบบออกสู่ตลาด โดยเจ-โฟน ผู้ให้บริการในญี่ปุ่น จะเริ่มส่งเครื่องลูกข่ายที่รองรับจีเอสเอ็ม และดับบลิวซีดีเอ็มเอ สู่ตลาดในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจที่ต้องเดินทางได้ใช้บริการระหว่างประเทศมากขึ้น "ในบางประเทศเช่นญี่ปุ่น นักธุรกิจบางรายมีมือถือถึง 3 เครื่อง การลดจำนวนเครื่องลง ช่วยลดความยุ่งยาก และกระตุ้นให้เกิดการใช้งานต่อเลขหมายมากขึ้น" นายเคอร์วินกล่าว

 

อุปกรณ์ใหม่กระตุ้นรายได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ (ดีไวซ์) ที่รองรับเทคโนโลยี 3 จี แล้วโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของมือถือ โดยทั่วโลกคาดว่ามีอุปกรณ์รองรับ 3 จีกว่า 420 รายการ ตัวอย่างเช่น ดาต้า การ์ด 3 จี สำหรับการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์พีดีเอ, ชิพที่ฝังในอุปกรณ์บอกพิกัดในรถยนต์ (จีพีเอส) ทำให้รับส่งข้อมูลความเร็วสูงด้วย ขณะที่ อินเทล ผู้ผลิตชิพเบอร์ 1 ของโลก ก็ได้ออกชิพใหม่ๆ ที่ฝังในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ราคาอุปกรณ์ไม่สูง และการที่มีจำนวนอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทำให้โอกาสที่ผู้ใช้ 1 ราย จะมีการใช้อุปกรณ์ 3 จีมากกว่าหนึ่งอุปกรณ์ก็จะมากขึ้น นำไปสู่รายได้ต่อเลขหมายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

งานยักษ์ "3จี เวิลด์ คองเกรส" ในไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้น ล่าสุดผู้ให้บริการมือถือ และผู้ที่สนใจเทคโนโลยี 3จี จะมีโอกาสได้ "เข้าใกล้" เทคโนโลยีนี้มากขึ้น แม้ปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มที่นำมาเปิดให้บริการ โดยระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดประชุม "3จี เวิลด์ คองเกรส 2003" ซึ่งนับเป็นปีที่ 8 ของการจัดงาน แต่จะเป็นครั้งแรกที่จัดในประเทศไทย โดยประเด็นหลักๆ ของงาน คงเน้นนำเสนอการพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาด ความร่วมมือในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานนี้ 1,500-2,000 คน โดยเป็นกลุ่มนักธุรกิจเป็นหลัก และมีบริษัทเข้าร่วมนิทรรศการ 40 บริษัท "น่าจะสร้างโอกาสให้ไทยโดยเฉพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์บนมือถือ ได้แสดงศักยภาพการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของรัฐบาลไทยได้" นายเคอร์วินกล่าว

 

เจเอสจีชี้ตลาดต้องไปอย่างระวัง

ด้านนายอนิล อดิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอสจี จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นและโซลูชั่นไร้สาย ในเครือเพรสซิเดนท์ พาร์ค กรุ๊ป กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ 3 จีว่า นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดมีความต้องการ ขณะที่ผู้ให้บริการก็เชื่อมั่น ทำให้ต่างพากันลงทุนซื้อไลเซ่นส์ด้วยเงินมูลค่ามหาศาล อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดของผู้ให้บริการนั้น ต้องอิงระหว่างการบริหารต้นทุนภายใต้แผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงการเจาะตลาดไปยังกลุ่มคอนซูเมอร์ ที่จะต้องผลักดันให้เกิดการยอมรับ และปลุกตลาดด้วยแอพพลิเคชั่นที่เห็นประโยชน์ได้จริง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.