5 หน่วยงานรัฐร่วมกรมปกครอง ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน

เชื่อมระบบงานทะเบียนราษฎร ตามแนวทาง อี-กอฟเวิร์นเมนท์ระยะที่ 1 เตรียมพัฒนาขอบข่ายบริการ เชื่อมอีก 37 หน่วยงาน ก่อนใช้ "หนึ่งบัตรต่อหนึ่งบุคคล

กรมการปกครองเชื่อมโยงระบบงานทะเบียนราษฎร กับหน่วยงานตามแนวทางอี-กอฟเวิร์นเมนท์ระยะที่ 1 พร้อมนำไปใช้พัฒนาขอบข่ายบริการ ทั้งเตรียมเชื่อมโยงระบบกับอีก 37 หน่วยงานสร้างความพร้อม หนึ่งบัตร หนึ่งบุคคล (วันแมน วันการ์ด)

นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า วานนี้ (22 พ.ย.) กรมการปกครองลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางระยะแรกกับ 5 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, กรมทะเบียนการค้า และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน โดยหน่วยงานที่ร่วมลงนามครั้งนี้ จะเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกัน จึงทำให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลบุคคล อาทิ ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนผ่านระบบปฏิบัติการพิเศษที่กรมฯ จัดทำขึ้น คือ ระบบทีจีแอล (ไทย กอฟเวิร์นเมนต์ เลกาซี) ซึ่งเมื่อสามารถต่อเชื่อมระบบปฏิบัติการดังกล่าวได้ หน่วยงานนั้นๆ สามารถจัดทำโปรแกรมขึ้นมาต่อยอดบนระบบปฏิบัติการได้ทันที ทั้งนี้ประโยชน์จากการใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อกับหน่วยงานข้างต้นโดยไม่ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน-บัตรประชาชนไปติดต่อหน่วยงานนั้นๆ ได้ เพราะสามารถเรียกข้อมูลต่างๆ มาจากฐานข้อมูลของกรมการปกครองผ่าน 2 ช่องทางสำหรับบัตรประชาชน ทั้งแบบเก่าที่ยังไม่มีแถบแม่เหล็กและใหม่ ได้แก่ 1. การอ่านผ่านเครื่องอ่านบัตร 2. การคีย์ข้อมูลเลขรหัส 13 หลักตามบัตรประชาชนร่วมกับการคีย์ข้อมูลพินโคดที่สามารถเรียกขอได้จากที่ว่าการอำเภอ

ขณะเดียวกัน กรมฯ มีแผนจัดทำบัตรประชาชนแบบใหม่ที่มีแถบแม่เหล็กให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2546 โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ปี2545 ใช้งบประมาณ 143 ล้านบาท และปี 2546 ใช้งบประมาณ 685 ล้านบาท นอกจากนี้มีแผนจะเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้ระบบชิพการ์ด (สมาร์ทการ์ด) ในที่สุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน พร้อมกับการผลักดันให้การใช้รหัส 13 หลัก ตามบัตรประจำตัวประชาชนเป็นมาตรฐานของเลขรหัสในการเข้าติดต่อกับราชการ (หนึ่งบัตรต่อหนึ่งบุคคล) เช่น เป็นเลขรหัสเดียวกับบัตรประกันสังคม เป็นต้น สำหรับวิธีการต่อเชื่อมโครงข่ายนั้น สามารถทำได้ 2 วิธีคือ 1. การต่อเชื่อมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในเวบไซต์ของกรมการปกครอง 2. การต่อเชื่อมผ่านระบบไอพีเน็ตเวิร์คขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการใช้สายส่งข้อมูล (ดาต้าเน็ทเวิร์ค) ตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน

ภารกิจ 5 หน่วยงาน

จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้ ทั้ง 5 หน่วยงานแสดงแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มุ่งเป้าสานต่อโครงการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลบุคคล ในการขออนุญาตและเห็นชอบต่างๆ นอกจากนี้ มีแนวทางพัฒนางานป้องปรามการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรมและการปั่นหุ้น ตลอดจนการให้ข้อมูลภายในบริษัท รวมถึงการใช้ข้อมูลในการเร่งรัดการปฏิบัติมากขึ้นจากเดิมที่มาตรการ และข้อมูลในการกำกับดูแลมีข้อจำกัด

2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มุ่งใช้ระบบไอทีในการเชื่อมโยงสืบค้น เพื่อตรวจสอบและสืบสวนกับประชาชนไทยทั้งในและต่างประเทศ

3. กรมทะเบียนการค้า ต่อยอดข้อมูลกับเวบไซต์ที่มีคือ www.thairegistration.com ที่บริการค้นหาข้อมูลธุรกิจนิติบุคคล และการตรวจสอบข้อมูลธุรกิจ ทั้งใช้ในการติดตามการทำงานสขององค์กรต่างๆ

4. สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่ออำนวยความสะดวก ถูกต้องและรวดเร็ว ในการจัดส่งเอกสารและระบุตัวตนตามกระบวนการศาล นอกจากนี้ จะช่วยการป้องกันการเข้าใจผิดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากคุณสมบัติของบุคคล อาทิ วัย เป็นต้น

5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป้าหมายเพื่อพัฒนาข้อมูลในการบริการประชาชนโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Customet Oriented) ดันเป้าการพัฒนาสู่ธนาคารเพื่อพัฒนาชนบท

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.