รัฐ-เอไอที ระดมสมองแนะคีย์ซัคเซสธุรกิจเทคโนฯ

.อุตฯ ผนึก 25 หน่วยงาน หนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่
หน่วยงานด้านสนับสนุนการลงทุน นำทีมนักวิชาการ, คนไอที ร่วมระดมสมอง แนะสูตรความสำเร็จผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจด้านเทคโนโลยี ยอมรับต้องอาศัยทั้งความสามารถ-ความสนใจเฉพาะตัว ร่วมกับปัจจัยเสริม รวมถึงความพร้อมด้านการเงิน เพราะกู้ยากไม่มีหลักประกัน

 

นายรพี ม่วงนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายร่วมลงทุน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้มีองค์ประกอบสำคัญที่เงิน ซึ่งเป็นดัชนีวัดสภาพคล่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว หัวใจของการทำธุรกิจควรเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทำในสิ่งที่รัก 2.ไม่รั้น เพราะผู้ที่มีความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ มักเชื่อมั่นในตัวเองสูง และพร้อมทำตามความเชื่อของตัวเอง โดยไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของตลาด รวมถึงเชื่อข้อมูลสูง ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้รับก็เป็นข้อมูลจากต่างประเทศ และไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของตลาดในประเทศ และ 3.มีแผนธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องเสริมเรื่องการเรียนรู้การทำแผนธุรกิจ เพราะปัจจุบันธุรกิจใดมีกำไรย่อมมีคู่แข่ง จึงต้องมีแผนระยะสั้น, กลาง และยาว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

 

"การพึ่งตัวเองก่อน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะหน่วยงานหรือสถาบันการเงินต่างๆ เป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น อาจจะตอบคำถามผิดก็ได้ อย่างแผนธุรกิจนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปจ้างที่ปรึกษาเขียน เพราะเจ้าของธุรกิจจะเป็นผู้รู้ถึงแนวทางและอนาคตของธุรกิจดีที่สุด แม้บางส่วนยังเขียนแผนธุรกิจไม่เป็น หรือไม่กล้าเขียน" นายรพีกล่าว ขณะที่นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมาตั้งแต่ต้น แต่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เพื่อสร้างประสบการณ์ หรือความรู้พื้นฐานที่จะเสริมการทำธุรกิจ

 

เอไอที แนะสร้างทีมเวิร์ค

ด้านนางสาวบาร์บาร่า อิเกล อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในต่างประเทศพบว่า ธุรกิจนั้นไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นผู้มีความสามารถด้านไอที หรือทางธุรกิจ ก็ยังมีช่องว่าง เพราะแม้วิศวกรมีความรู้สูงแต่ขาดประสบการณ์ และเครื่องมือในการทำธุรกิจ ขณะที่นักธุรกิจที่มีความสามารถในการทำธุรกิจ ก็ไม่ทราบเรื่องเทคโนโลยี ทำให้กลัวความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการทำงานร่วมกัน

 

"เงินทุน" ยังเป็นปัญหาใหญ่

นอกจากนี้ ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับการเริ่มทำธุรกิจ คือเรื่องเงินทุนสำหรับการตั้งต้นธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถขอกู้กับธนาคารได้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันและฐานลูกค้า ขณะที่การเลือกลงทุนร่วมกับองค์กรที่รัฐจัดตั้งเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ก็มีอุปสรรคด้านข้อจำกัดของเงินลงทุน "ทางออกของปัญหานี้ ก็คือการสร้างเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือกันระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐ ผ่านการพบปะหารือเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งไซน์พาร์ค ร่วมมือกับเอกชนในการเอื้อทรัพยากร และช่วยเหลือ ทำให้ที่สุดแล้วมีธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมาก" นางสาวอิเกลกล่าว ทั้งนี้ เธอมองว่า ในส่วนของประเทศไทยเอง ควรมีการร่วมมือกันระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ (ไซน์พาร์ค), ซอฟต์แวร์พาร์ค และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

 

ขณะที่นายรพีกล่าวว่า การทำธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีเงินทุนของตัวเอง โดยเฉพาะธุรกิจด้านไอทีที่ไม่มีฐานลูกค้าในช่วงแรก โดยไม่ควรกู้ยืม เพราะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจนวัตกรรมเองก็ขอกู้จากสถาบันการเงินได้ยาก โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าวงเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการใหม่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม อาจมีทางออกโดยการร่วมลงทุนกับสถาบันการเงิน "ปัจจุบันธนาคารมีโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนจำนวนมาก โดยไม่จำกัดที่รูปแบบธุรกิจ ซึ่งปีนี้ตั้งงบร่วมทุนไว้กว่า 500 ล้านบาท โดยจะถือหุ้นไม่เกิน 50% และวงเงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาทในแต่ละโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้จับมือกับธุรกิจด้านไอทีไปแล้วหลายราย เช่น วีไทยดอท จำกัด และบริษัท ไทยซอฟต์แวร์ จำกัด" นายรพีกล่าว

 

.อุตฯ ผนึก 25 สถาบันหนุน

นายอาทิตย์กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลมอบงบประมาณ 123.2 ล้านบาท สำหรับกระตุ้นผู้ประกอบการใหม่ ให้สามารถจัดตั้งบริษัทได้ ตามโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entreperneur Creation) โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา และสถาบันการเงินรวม 25 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ, ธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น เพื่อจัดฝึกอบรม ติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงิน หรือแหล่งเงินทุน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ  ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมด้านธุรกิจแฟรนไชส์, ธุรกิจด้านสิ่งทอ และตั้งเป้าหมายว่าจะมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมกว่า 3,040 ราย จากจำนวนผู้สนใจ 86 รุ่นๆ ละ 30 รายในปีนี้ และเชื่อว่าในจำนวนนี้ จะมีผู้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจไม่น้อยกว่า 10%

 

ขณะที่นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคได้ร่วมกับเอไอที และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเสริมสร้างผู้ประกอบการ เพื่อจัดตั้งธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี (Techno - business Start - up Program) โดยจะเน้นสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ผ่านการจัดสัมมนาและปฏิบัติการ กับบัณฑิตใหม่ ผู้ว่างงานและผู้ถูกออกจากงาน รวมถึงผู้มีพื้นฐานการศึกษาดี เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถด้านการบริหารและเทคโนโลยี

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.