APEC SME เวทีสร้างความแกร่งรากหญ้า
คอลัมน์ Road to APEC

อาจเป็นเพราะเรื่องเอสเอ็มอี และรัฐวิสาห กิจกลุ่มย่อย (Micro Enterprise) ได้ถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 5 ประเด็นหลักทางเศรษฐกิจในเวทีประชุมผู้นำเศรษฐกิจ ในระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จึงทำให้เวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 2003 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงสัปดาห์นี้คือระหว่างวันที่ 4-9 สิงหาคมทวีความสำคัญยิ่งขึ้น และนับเป็นหัวใจสำคัญของกรอบการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะการประชุมในเวทีระดับรัฐมนตรีที่จะเป็นเวทีปิดท้ายในวันที่ 7-8 สิงหาคม ภายใต้หัวข้อ "Strengthening APEC Enterpreneurial Society" หรือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ

การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้วที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่อง SME ระหว่างประเทศสมาชิกได้มาหารือกัน หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1994 เหตุผลที่ทำให้ประเทศสมาชิกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เป็นเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐวิสาห กิจของประเทศสมาชิกทั้งหมดกว่า 98% ยังเป็น SME ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่บริษัทขนาดใหญ่ยกเลิกการจ้างงานตลอดชีวิต รวมทั้งมีกระแส restructuring และ downsizing ที่เกิดขึ้นทำให้คนต้องทำงานหนักมากขึ้น และเป็นที่มาที่ทำให้ประชากรในประเทศเหล่านี้ต้องการก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นจนประเทศพัฒนาแล้วเชื่อว่า SME กำลังกลายเป็นศูนย์กลางในยุค new economy

และการประชุมครั้งนี้ไทยจะเสนอมาตรการสร้างผู้ประกอบการใหม่ โดยให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ best practice ในการสร้างผู้ประกอบการใหม่และธุรกิจใหม่ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการและจัดทำหลักสูตรผู้ประกอบการสำหรับสถาบันการศึกษา เนื่องจากหลายประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยยังไม่มีสังคมที่มีวัฒนธรรมผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังจะมีการนำเสนอปัญหาในเรื่องส่งออก ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่มาตรฐานในการกำจัดอุปสรรคในเรื่องการส่งออกของผู้ประกอบการ SME เพราะที่ผ่านมาแม้ 98% ของรัฐวิสาหกิจจะเป็น SME แต่สัดส่วนในการส่งออกน้อยมากเพียง 30% ดังนั้นเวทีนี้จะมุ่งขจัดปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มการส่งออก

ในมุมหนึ่งของงานสัมมนาเรื่อง "การส่งเสริมประชาคมของ SME ผู้ส่งออกในเอเปกมุมมองจากธุรกิจ" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุม APEC SME สะท้อนปัญหาเรื่องการส่งออกไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่าการกีดกันทางการค้าแข่งขันสูง คืออุปสรรคที่สำคัญสำหรับการส่งออก โดยนายคายยา อาหมัด ประธานบริหารเครือ Iryas Group จากมาเลเซีย กล่าวว่า SME มีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิต การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และยังเจออุปสรรคจากภายนอกในเรื่องการกีดกันทางการค้า โดยมาตรการต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษียิ่งทำให้เกิดความรุนแรงทำให้มีการตัดราคา การตกลงการค้าเสรีต่างๆ ยิ่งเร่งกดดัน SME มากขึ้น

ขณะที่การประชุมธุรกิจกลุ่มย่อย (Micro Enterprise) หรือธุรกิจระดับรากหญ้า ที่ไทยเป็นผู้จัดทำแผนปฏิบัติการ (action plan) ได้สรุปถึงมาตรการสำคัญๆ ไว้ 6 ประการ ได้แก่ 1. การจัดให้มีการรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจและนโบายของธุรกิจขนาดย่อยเพื่อเป็นฐานข้อมูลของธุรกิจขนาดย่อย 2. จัดทำนโยบายและโครงสร้างทางกฎหมายให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษ ของธุรกิจขนาดย่อยซึ่งเป็นธุรกิจนอกระบบ 3. กำหนดมาตรการในการเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในรูปแบบธนาคาร 4. การเข้าถึงเทคโนโลยี ควรให้การช่วยเหลือในเรื่องโครงสร้างและทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ การกำหนดนโยบายสารสนเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล การฝึกอบรม ปรับตัวกับกระบวนการผลิตใหม่ๆ 5. พัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจขนาดย่อย มีที่ปรึกษาทางธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดย่อม 6. พัฒนาความสามารถธุรกิจขนาดย่อมโดยจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาความสามาถของธุรกิจขนาดย่อมให้มีความเหมาะสม

ทั้งหมดเป็นการสะท้อนปัญหาท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกราก และเป็นปัญหาที่การประชุม APEC SME พยายามหยิกยกขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การลดอุปสรรคก่อนนำเสนอในเวทีระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคมนี้ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SME ระหว่างประเทศสมาชิกอย่างแท้จริง !!!

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.