เอทีซีไอคาดไอทีปี 45 ค่ากว่า 6 หมื่นล้าน

เอทีซีไอคาดตัวเลขตลาดไอทีปี 45 โต 14% เหตุสภาพเศรษฐกิจไตรมาสแรกกระเตื้องขึ้น, รัฐให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทำอัตราการจ้างพัฒนาโปรแกรมเพิ่ม ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หนุนองค์กรลงทุน ปรับกระบวนการธุรกิจด้วยคอมพิวเตอร์เพิ่ม

 

นายจำรัส สว่างสมุทร เลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า ปีนี้สมาคมคาดการณ์มูลค่าตลาดรวมไอทีไทยจะโตขึ้นจากปีที่แล้ว 14% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า อาจโตเพียง 8-12% ทั้งนี้เนื่องจากภาพรวมไตรมาสแรก เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรัฐบาลมองว่าตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจะอยู่ที่ 2-3% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.5% ประกอบกับสถานการณ์ภายนอกประเทศในตลาดสหรัฐและยุโรป อุตสาหกรรมสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ ที่การปลดบุคลากรเริ่มหยุดนิ่งด้วย ส่วนปีนี้ มูลค่าตลาดไอทีรวมจะอยู่ที่ 64,965 ล้านบาท ประกอบด้วย ตลาดฮาร์ดแวร์เครื่องแม่ข่าย (ไม่นับรวมพีซี เซิร์ฟเวอร์) 3,787 ล้านบาท ตลาดพีซี และอุปกรณ์ต่อพ่วง 28,902 ล้านบาท ตลาดซอฟต์แวร์ 12,797 ล้านบาท การให้บริการมืออาชีพ (โพรเฟสชันนัล เซอร์วิส) 13,018 ล้านบาท และตลาดอุปกรณ์เครือข่าย 6,460 ล้านบาท จากปีที่แล้วตลาดรวมอยู่ที่ 56,937 ล้านบาท

 

ซอฟต์แวร์โต 26%

ทั้งนี้ตลาดของซอฟต์แวร์ที่รวมชุดซอฟต์แวร์ (แพ็คเกจ) และการบริการมืออาชีพ (โพรเฟสชั่นนัล เซอร์วิส) โต 26% โดยเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ชุดซอฟต์แวร์ขายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ด้านการให้บริการนั้น ความต้องการจ้างเขียนโปรแกรมจะมากขึ้น เนื่องจากนโยบายรัฐบาลไทย ด้าน อี-กอฟเวิร์นเมนท์ ทำให้การจ้างพัฒนา รวมถึงบริการที่ปรึกษาโตจากปีที่แล้ว 21% โดยบริการอื่นๆ เช่น การบำรุงรักษา (เมนเทนแนนซ์ เซอร์วิส) การฝึกอบรมและอื่นๆ โตประมาณ 18%

 

ขณะที่ตลาดฮาร์ดแวร์โตไม่หวือหวามากนัก แต่จะได้แรงสนับสนุนจากนโยบายใช้ของไทย และการให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ทำให้มีชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จากจีนเข้ามาตลาดไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีราคาต่ำกว่าการนำเข้าชิ้นส่วนจากไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เป็นผลราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ต่ำลง โดยจะอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งจะช่วยทำให้ลดช่องว่างของการมี และไม่มีดิจิทัลได้ (ดิจิทัล ดีไวด์) ทำให้ตลาดต่างจังหวัดเติบโตมากขึ้น

โดยในภาพรวมของฮาร์ดแวร์นั้น ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบเองในประเทศ (โลคอลแบรนด์) จะเติบโตมากกว่าตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์นำเข้าต่างประเทศ โดยสัดส่วนจะอยู่ที่ 65% และ 35% ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ หากนับตามจำนวนเครื่องแล้วปีนี้ ตลาดรวมเครื่องคอมพิวเตอร์ (การใช้งานเครื่องตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและพีซี เซิร์ฟเวอร์) ตลาดจะอยู่ที่ 688,300 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ (เดสก์ท็อป พีซี) 589,300 เครื่อง โน้ตบุ๊ค 85,000 เครื่อง และเครื่องพีซีที่นำมาใช้เป็นเครื่องแม่ข่าย (พีซี เซิร์ฟเวอร์) อีก 14,000 เครื่อง จากปีที่แล้วตลาดรวมอยู่ที่ 609,600 เครื่อง แบ่งเป็น เดสก์ท็อป พีซี 526,000 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ค) 70,800 เครื่อง และพีซี เซิร์ฟเวอร์ 12,800 เครื่อง

 

ชี้ก..ธุรกรรมอิเล็กฯหนุนเอกชนลงทุนเพิ่ม

ทั้งนี้การลงทุนตลาดไอทีในภาคเอกชนปีนี้ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมาตรการของรัฐ, การใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อทำให้เกิดผลกระทบในระบบเศรษฐกิจ (มัลติพลายเออร์ เอ็ฟเฟ็ค) ทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจนั้น จำนวนเงินเหล่านั้นยังไปไม่ถึงอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมหลัก เช่น ภาคการส่งออก ทำให้ยังเห็นผลช้า เอกชนขาดเงินลงทุน  อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกจากพ...ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2544 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 เมษายนนี้ จะทำให้เอกชนมีการลงทุนระบบไอทีมากขึ้น เพื่อการปรับกระบวนธุรกิจ ที่เรียกว่า บิสซิเนส โพรเซส รีเอ็นจิเนียริ่ง (BPR) ที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ทำให้กระบวนการทำงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น (COMPUTERIZED) เนื่องจากเอกชนมีความมั่นใจ ประกอบกับกฎหมายรองรับเทคโนโลยีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ขั้นตอนส่งเอกสารและอนุมัติเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทำได้ทันที โดยไม่ต้องพิมพ์ออกเป็นเอกสารกระดาษ เพื่อลงลายมือชื่อ ลดการทำงานที่เพิ่มขึ้น (ดับเบิล จ็อบ)

 

ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในองค์กร เพื่อให้ระบบงานภายในเชื่อมโยงกันมากขึ้น จะมีการใช้ซอฟต์แวร์ตัวกลาง (มิดเดิ่ลแวร์) เข้ามาใช้มากขึ้น ที่เป็นเอ็นเตอร์ไพร้ส์ แอพพลิเคชั่น อินทิเกรชั่น (EAI) รวมถึงการพัฒนาระบบงานที่ทำงานบนอินเทอร์เน็ตได้ (เวบ-เบส แอพพลิเคชั่น) ด้วย "สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลแสดงความชัดเจน และผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะนโยบายบทบาทของหน่วยงานที่ชัดเจน เพื่อเร่งสร้างมาตรการที่ส่งเสริมการใช้ไอทีทั้งในภาครัฐและเอกชน" นายจำรัสกล่าว

 

ล้อมกรอบ

ราชการมาแรงลงทุนไอที

ราชการ-รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมการผลิต โทรคมนาคม ติดกลุ่ม 1 ใน 5 อันดับลงทุนไอทีสูง ขณะเดียวกัน ตลาดการศึกษายังน่าสนใจ อันเป็นผลจากเอ็ดเน็ต นายจำรัส สว่างสมุทร เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า หากมองในแง่การเติบโตการลงทุนการใช้ไอทีนั้น กลุ่มตลาด 5 อันดับที่มีการลงทุนสูงนั้น ประกอบด้วย ตลาดราชการ/รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้ลงทุนเพิ่มขึ้น และโครงการภาครัฐที่ต้องใช้ไอที ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค อินเทอร์เน็ตตำบล ส่วนรองลงไปเป็นตลาดอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีการย้ายฐานการผลิตผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น ทำให้มีการลงทุนไอทีเพิ่ม ต่อมาเป็นตลาดโทรคมนาคมสื่อสาร ปีนี้จะลงทุนลดลง เนื่องจากผู้ให้บริการรายใหม่ เช่น ทีเอ ออเร้นจ์ ได้ลงทุนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่โครงการ 1900 จะค่อยๆ ขยายการลงทุนเครือข่าย ทำให้ตลาดนี้ไม่หวือหวาเท่าปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ตลาดการศึกษายังเป็นตลาดที่สดใส จากโครงการเครือข่ายเพื่อการศึกษา (เอ็ดเน็ต) โดยการรวมเครือข่ายของทบวงมหาวิทยาลัยและสคูลเน็ต ทำให้มีโรงเรียนกว่า 10,000 แห่ง เชื่อมโยงเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และตลาดบ้าน ยังคงมีความสดใส เนื่องจากจำนวนประชากรต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ของไทยยังต่ำมาก ทำให้มีที่ว่างของตลาด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2545

 

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.