สัมภาษณ์ : อนุกูล แต้มประเสริฐ กับภารกิจนายกใหม่เอทีเอสไอ

เมื่อฤดูกาลผลัดเปลี่ยนเวียนมา สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) ซึ่งก่อตั้งเมื่อราว 6 ปีก่อน ก็ถึงคราวได้ทีมบริหารใหม่ มี "อนุกูล แต้มประเสริฐ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยคอม แมเนจเมนต์ กรุ้ป จำกัด ผู้มีประสบการณ์ในสายงานไอทีกว่า 15 ปี ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมคนล่าสุด ฉะนั้นแนวคิดของเขาจึงเป็นสิ่งน่าสนใจต่อการนำเอทีเอสไอเข้ามามีบทบาทช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอย่างไร

 

ภารกิจของนายกสมาคมคนใหม่

มีงานต้องดำเนินการหลายอย่างมาก ซึ่งเป็นการผลักดันของสมาคมเอทีเอสไอ ตั้งแต่ยุคคุณอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ และเกิดเป็นรูปธรรมในปีนี้ หรือสานต่อโครงการให้ต่อเนื่อง เช่น โปรเจคพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์ (Thai Quality Software หรือทีคิวเอส) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ระดับเอสเอ็มอีให้ได้รับมาตรฐานยอมรับในระดับสากลต่อไป จากปีแรกมีบริษัทผ่านขั้นแรก 39 บริษัท ปีนี้จะเพิ่มเป็น 150 บริษัทเพื่อก้าวสู่ระดับ 2 ก่อน จะก้าวกระโดดไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อวางเส้นทางสู่การส่งออกอย่างเข้มแข็ง ซึ่งต้องของบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในโครงการชุบชีวิตนักธุรกิจไทยอีกราว 150,000 - 300,000 บาทต่อ 1 บริษัท สำหรับผลิตอีก 5,000 คน, โครงการฝึกอบรมด้านสื่อประสมปีนี้ 2,000 ราย, และเอ็มเบดเดด ซิสเต็ม 500 ราย เป็นต้น ทั้งยังมีนักลงทุนขนาดใหญ่จากในประเทศ และต่างประเทศให้ความสนใจ เข้ามาสนับสนุนเอทีเอสไอ เพราะเห็นโอกาสสร้างความเติบโตอุตสาหกรรมไอทีในไทยได้อีกมาก

 

นักลงทุนรายใดสนใจ และจะเข้ามาร่วมมืออย่างไร

บริษัท โตโยต้า จัดทำทัวร์ประเทศในเอเชีย เพื่อหาว่าประเทศใดจะรับงานเอาท์ซอร์สการผลิตชิ้นส่วนจากบริษัทได้บ้าง ซึ่งรวมถึงเอ็มเบดเดด ซอฟต์แวร์ ที่ฝังอยู่ในชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย โดยเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้เข้ามาศึกษาสภาพแวดล้อม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการลงทุน ว่ามีความเหมาะสมเพียงใดในไทยเช่นกัน

 

เอทีเอสไอมองว่าประเทศไทยมีโอกาสสูงมาก เพราะเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยเฉพาะรถยนต์บรรทุกขนาดสี่ล้อ (รถปิกอัพ) ที่ไทยมีความชำนาญ และก้าวหน้ากว่าประเทศ ซึ่งโตโยต้า ได้ไปเยือนประเทศสิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ออสเตรเลียมาแล้ว แต่ไทยมีข้อด้อยที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การขาดแคลนทั้งจำนวน และความเชี่ยวชาญบุคลากร โดยเอทีเอสไอจะนำเสนอแผนงาน (Approach) เรื่องความพร้อมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย แผนพัฒนาบุคลากรไอทีต่อโตโยต้าภายในเร็วๆ นี้หลังจากทัวร์เอเชียเสร็จสิ้น ซึ่งหากโตโยต้า สนใจไทยให้ผลิตชิ้นส่วนใด เชื่อว่าจะสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีได้มากขึ้นในระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจจะลงทุนเพียง 5-10 ล้านบาทก่อน

 

อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยตามแผนงาน 5 ปีถึงปี 2549 ยังคงเดิมหรือไม่

คงต้องปรับแผนการเติบโตใหม่ จากเดิมคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะโตเฉลี่ยปีละ 30% เมื่อถึงปี 2549 จะมีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 90,000 ล้านบาท แต่ปีที่ผ่านมาโตเพียง 20% จึงต้องดูตัวเลขปีนี้อีกครั้ง ซึ่งตลาดซอฟต์แวร์ปัจจุบันมีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท ส่งออกราว 2,000 ล้านบาท เป็นซอฟต์แวร์มัลติมีเดียกว่า 50% และที่เหลือเป็นรายได้จากโออีเอ็ม อนาคตจะผลักดันให้ส่งออกมากขึ้น

 

มีโครงการใดอีกบ้างที่จะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

มีกว่า 15 โครงการ ซึ่งบางส่วนกล่าวไปแล้ว และยังมีโครงการน่าสนใจ คาดว่าจะสรุปผลใน 2 สัปดาห์นี้ คือการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Intelligent Industry Center) โดยจะร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และอื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูลที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะใช้งบจัดตั้ง 3-5 ล้านบาท และใน 2 ปีจะเลี้ยงตัวเองได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.