เอทีเอสไอ นำร่องสร้าง "คลัสเตอร์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์" "

เพิ่มโอกาสในโครงการอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ และเอสเอ็มอี
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี รวมตัวเป็นซอฟต์แวร์ คลัสเตอร์ หนุนโอกาสรับงานรัฐ และเอสเอ็มอี หวังลดช่องว่างนำเข้าซอฟต์แวร์ที่สูงกว่า 60% ต่อปี พร้อมเล็งร่วมมือเกาหลี ญี่ปุ่น เกาะติดแอพพลิเคชั่นบนมือถือ และงานมัลติมีเดีย

 

นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า เอทีเอสไอจะรวมตัวกันในงาน "เอทีเอสไอ ยูนิตี้ ไนท์" ในวันที่ 29.. นี้ เพื่อวางทิศทางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และสรุปความร่วมมือระหว่างสมาชิก โดยโครงการสำคัญคือ รวบรวมบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยกว่า 100 บริษัท จัดเป็นซอฟต์แวร์ คลัสเตอร์ เพื่อรับงานจากโครงการอี-กอฟเวิร์นเม้นท์ ของภาครัฐ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เข้ารับงานในโครงการต่างๆ ของภาครัฐได้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตขึ้น และรัฐประหยัดงบประมาณจากเดิมที่บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทข้ามชาติจะเป็นผู้ได้รับงาน

 

"เอทีเอสไอ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นร่วมกันที่จะแบ่งอุตสาหกรรมหลัก 4 กลุ่ม ซึ่งเรามองว่าบริษัทซอฟต์แวร์ไทยมีโอกาสเข้าไป ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว แฟชั่น ซึ่งรวมอัญมณี สิ่งทอ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะมีการเติบโตสูง และต้องการพัฒนาให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายพิพัฒน์ กล่าว

 

ขณะเดียวกัน เอทีเอสไอจะรวบรวมสมาชิก และจัดแบ่งกลุ่มตามความชำนาญในการทำตลาด จากเดิมที่เคยแบ่งกลุ่มตามทักษะงาน เช่น งานด้านบัญชี งานสต็อก นอกจากนี้ การรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ ของกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยครั้งนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ "เป้าหมายของเอทีเอสไอ คือลดการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ที่มีส่วนแบ่งกว่า 60% จากตลาดรวมในปัจจุบันกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้ลดลงไปเรื่อยๆ ใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งมีประมาณการว่าจะมีมูลค่าใกล้ 1 แสนล้านบาท และลดการนำเข้าเหลือ 50%" นายพิพัฒน์ กล่าว

 

หาช่องทางร่วมมือเกาหลี ญี่ปุ่น

อุปนายกสมาคมเอทีเอสไอ กล่าวว่า ส่วนแผนงานในระยะกลาง และระยะยาว เตรียมขยายตลาดสู่ประเทศในเอเชีย และระดับโลก ซึ่งจะต้องเริ่มจากการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ดีไซน์ผลิตภัณฑ์ (โอดีเอ็ม) ไปจนถึงสร้างแบรนด์ (โอบีเอ็ม) เป็นของตัวเองสู่ตลาดโลก เช่น บริษัท ไซเบอร์ แพลนเน็ต ที่ดีไซน์เกมเอง และเริ่มสร้างแบรนด์เข้าสู่ตลาดนานาชาติ ทั้งนี้ เอทีเอสไอได้เจรจากับผู้ประกอบการในเกาหลี ญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือทำตลาดระหว่างกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยเขายกตัวอย่างว่า ในเกาหลี นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยควรเข้าไปร่วมมือพัฒนาซอฟต์แวร์เกม มัลติมีเดีย แอนนิเมชั่น ในลักษณะร่วมทุน แทนรูปแบบเดิมที่นำซอฟต์แวร์เกมมาขาย แล้วรับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ แต่การเจรจาในเชิงธุรกิจบริษัทที่สนใจจะต้องเจรจากันเอง ขณะที่ตลาดในญี่ปุ่น ควรเข้าสู่ช่องทางแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะผู้ใช้สนใจแอพพลิเคชั่นใหม่เสมอ

 

หวังรัฐหนุนทุน-ประสานงาน

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สถานกงสุล หรือสถานทูตนัดหมายหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเป้าหมายให้กับเอกชนไทย เพื่อเจรจาความร่วมมือทางธุรกิจ โดยรัฐสามารถร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่กับเอกชน หรือสนับสนุนเงินทุนบางส่วน และเมื่อภาคธุรกิจทำกำไรได้แล้วอาจจะปันผลกลับคืนทั้งในรูปแบบภาษี หรือชดเชยคืนให้กับรัฐ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.