"บีโอไอ" ไฟเขียวเปิดทาง 3 โปรเจ็กต์ยักษ์ โตโยต้า-อีซูซุรับดูดเงินเข้าประเทศเพียบ

บอร์ดบีโอไอไฟเขียว อนุมัติ 3 โครงการยักษ์ มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท เปิดทางโตโยต้าตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดี ศูนย์จัดหาชิ้นส่วนของอีซูซุ และโครงการผลิตเพลาขับ ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโตโยต้าชี้สร้างงานในประเทศเพิ่ม แถมยังนำเงินตราเข้าประเทศมหาศาล

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,434 ล้านบาท โดยโครงการแรก คือกิจการศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D center) ด้านยานยนต์ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ เงินลงทุน 3,700 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานไทย 396 คน ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

โครงการนี้เป็นการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (R&D center) ขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นศูนย์ที่ 3 ของโตโยต้าทั่วโลก รองจากที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป นับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายใหม่ของบีโอไอ ที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ การยกระดับทักษะการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ประกอบกิจการ สำหรับขอบข่ายการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วยงานออกแบบตัวถังและส่วนประกอบ งานออกแบบช่วงล่าง งานวิศวกรรมระบบส่งกำลังขับเคลื่อน งานทดสอบประเมินการทำงานของยานยนต์และชิ้นส่วนงานวิศวกรรมวัสดุ และงานวิจัยทางเทคนิค

โครงการที่สอง คือ กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ สำหรับอุตสาห กรรมการผลิตรถยนต์ ของบริษัท อีซูซุ (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,728 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 505 คน ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์แห่งนี้จะดำเนินการใน 4 ส่วนหลัก คือ การจัดหาชิ้นส่วน (procurement) ศูนย์กระจายสินค้า (logistic center) เพื่อจัดส่งสินค้าให้แก่โรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์รวบรวมและจัดชุด knock down (KD center) เพื่อส่งออก KD และ CKD ให้บริษัทในเครือต่างประเทศ และศูนย์ชิ้นส่วน (parts depot) เพื่อจัดส่งชิ้นส่วนให้โรงงานประกอบรถของบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงการดังกล่าวยังมีการจัดซื้อวัตถุดิบในประเทศ โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 83 ของมูลค่าจัดซื้อทั้งหมด โดยจัดซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศกว่า 130 บริษัท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,900 ล้านบาทต่อปี และประมาณมูลค่าส่งออกกว่า 26,600 ล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถปิกอัพ "190" ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตรถปิกอัพจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย โดยจะยกเลิกการผลิตรถปิกอัพที่ญี่ปุ่นในอนาคต ถือเป็นการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบและผลิตรถยนต์ปิกอัพ และศูนย์จัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศของอีซูซุ

โครงการที่สาม คือ กิจการผลิตเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า (drive shaft) สำหรับรถบรรทุกเล็ก (pick up) ของบริษัท จี เค เอ็น โตโยดะ แมนูแคเจอริ่ง จำกัด มีกำลังการผลิตและเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า (drive shaft) ปีละประมาณ 305,000 เพลา และชิ้นส่วนของเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า ปีละประมาณ 5,407,000 ชิ้น ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,006 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โครงการนี้จะผลิตเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า drive shaft สำหรับรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กขนาด 1 ตัน ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยจะจำหน่ายให้กับบริษัท โตโยต้า ที่จะย้ายฐานการผลิตรถบรรทุกขนาดเล็กมาไทย คาดว่ามีความต้องการใช้เพลาขับเคลื่อนล้อหน้าปีละประมาณ 143,000 เพลา/ปี

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.