BOI เปิดช่อง HDD รับสิทธิประโยชน์ใหม่ ลงทุนวิจัยเพิ่ม (STI) รับทันทีเท่าเขตสาม

BOI แก้เงื่อนไขด้านการส่งเสริมเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ผ่านฉลุย เปิดทาง 4 บริษัทยักษ์ผู้ผลิต HDD "ซีเกท-ฮิตาชิ/ไอบีเอ็ม-เวสเทิร์น ดิจิทัล-ฟูจิตสึ" ขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเทียบเท่าเขต 3 จากเดิมที่กำหนดต้องมีรายจ่ายด้านวิจัย/พัฒนาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขาย/ปี แก้เป็นมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท/ปี หวังจูงใจผู้ผลิต HDD อย่าย้ายฐานการผลิตไปจีน

แหล่งข่าวในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึง การปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (skill technology & innovation หรือ STI) ในอุตสาหกรรมผลิตฮาร์ด ดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drive หรือ HDD) ซึ่งผ่านการอนุมัติของที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์

การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในอุตสาหกรรม HDD ที่มีการลงทุนทางด้าน STI หลังจากที่ BOI ได้ตัดสินใจที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางด้าน STI ครอบคลุม ทุกประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริม จากเดิมที่กำหนดให้การส่งเสริมทางด้าน STI เฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอ-เสื้อผ้าสำเร็จรูป-เครื่องหนัง-อัญมณีเครื่องประดับ), อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรม ICT (information communication technology) โดยรายละเอียดที่ทำการแก้ไขให้การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม (STI) ในอุตสาหกรรม HDD ได้แก่ การเพิ่มเติมการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านนี้ครอบคลุมไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับการผลิต HDD เพื่อให้การส่งเสริม HDD ทั้งคลัสเตอร์ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปรับปรุงในส่วนของเงื่อนไขการได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ทางด้าน HDD ให้ง่ายขึ้นจากเดิมประกอบไปด้วย
1) ค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนาถัวเฉลี่ยใน 3 ปีแรก จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการ HDD จะต้องมีการใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขาย HDD ต่อปี ปรากฏได้แก้ไขเป็นต้องมีการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาถัวเฉลี่ย 3 ปีแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขายต่อปี "หรือ" ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในกิจการผลิต HDD และไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาทในกิจการผลิตชิ้นส่วน HDD

2) ค่าใช้จ่ายด้านพัฒนาขีดความสามารถ ของผู้รับช่วงการผลิตไทยหรือค่าใช้จ่ายสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง โดยถัวเฉลี่ยใน 3 ปีแรกจากเดิมที่กำหนดให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายต่อปี แก้ไขเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายต่อปี "หรือ" ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทสำหรับกิจการผลิต HDD หรือไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาทสำหรับกิจการผลิตชิ้นส่วน HDD
3) การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา จากเดิมกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ตามที่ BOI ให้ความเห็นชอบภายใน 3 ปีนับแต่วันเปิดดำเนินการ แก้ไขเป็นต้องตั้งศูนย์ภายใน 3 ปีตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด และ

4) การมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการผลิตสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ STI ได้ แก้ไขเป็นโครงการที่ได้รับ การอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีรายได้เกิดขึ้นสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางด้าน STI ได้

"นั้นหมายความว่า การแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขการได้สิทธิประโยชน์ STI สำหรับอุตสาหกรรม HDD ก็เพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกอบการขอสิทธิประโยชน์ทางด้านนี้ง่ายขึ้น ลองคิดดูง่ายๆ หากกำหนดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย/พัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 1-2 ของยอดขาย/ปี สมมุติผู้ผลิต HDD บริษัท A มี ยอดขาย 6,000 ล้านบาท/ปี นั้นหมายถึงบริษัท A ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านวิจัยถึง 120 ล้านบาทจึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางด้าน STI ดังนั้น การกำหนดให้มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จึงช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายทางด้าน STI ลงจากเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้อย่างมาก" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานการผลิต HDD ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 17.8 จัดเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเกือบทั้งหมดจาก 4 บริษัทใหญ่ ได้แก่ Seagate, Hitachi-IBM, Western Digital และ Fujitsu โดยในปี 2545 ไทยผลิต HDD ได้จำนวน 39 ล้านตัว ขณะที่ตลาดภายในประเทศมีความต้องการใช้ HDD เพื่อประกอบในเครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเพียง 700,000-800,000 ตัว การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ให้กับอุตสาหกรรม HDD ก็เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยต่อไปแทนที่จะย้ายฐานการผลิตไปจีนในอนาคต

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากผู้ประกอบการที่มีการลงทุนทางด้านการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (skill technology & innovation หรือ STI) จะประกอบไปด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มกรณีละ 1 ปี แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรซึ่งจะทำให้กิจการ HDD และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ลงทุนในเขต 1 หรือเขต 2 สามารถรับสิทธิประโยชน์เท่ากับการลงทุนในเขต 3

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.