บ.รับช่วงผลิตเฮ BOI ส่งเสริมผู้ประกอบการวิทย์-เทคโนฯ

BOI ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยใหม่ หลังพบความจริงสิทธิประโยชน์เดิมที่ให้อยู่ในปัจจุบันยังจูงใจไม่พอที่จะยกระดับศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี มาคราวนี้แจกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้ ยกเว้นอากรเครื่องจักรได้เท่ากับเขต 3 ให้สูงสุด หวังแจ้งเกิดผู้ประกอบการ SMEs รับช่วงผลิตถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงเปิดส่งเสริม "เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ว่า ที่ประชุมจะพิจารณาข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากเดิมที่ BOI ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาหรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือทักษะเป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสูงสุด (ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรกับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่ว่าจะตั้งโรงงานที่ใดในประเทศ)

โดยมีประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขเดิม 3 ประเภท ได้แก่ 1)กิจการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ประเภท 5.7 กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, ประเภท 7.12 กิจการวิจัยและพัฒนา, ประเภท 7.13 กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์, ประเภท 7.14 กิจการบริการสอบเทียบมาตรฐาน (calibration), ประเภท 7.15.1 สถานศึกษาหรือศูนย์ฝึกฝนวิชาชีพ 2)กิจการการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงได้แก่ ประเภท 4.2 กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์, ประเภท 4.7 กิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยาน รวมทั้งชิ้นส่วน, ประเภท 4.8 กิจการชิ้นส่วนยานพาหนะ, ประเภท 5.6 กิจการผลิตสารหรือแผ่นสำหรับไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ Wafer หรือ Thin Film และ 3)กิจการพัฒนาพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ประเภท 7.5.4 กิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ได้รับการสนับ สนุนจากธนาคารโลกในปี 2543 ระบุว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีความสามารถทางเทคโนโลยีเพียงระดับที่ 1 หรือความสามารถในการผลิตขั้นพื้นฐานเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศให้มากขึ้น BOI จึงจัดทำข้อเสนอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน 3 มาตรการประกอบไปด้วย
1)การปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง ด้วยการกำหนดให้กิจการประเภท 5.7-7.12-7.13-7.14-7.15.1 ได้รับสิทธิประโยชน์โดยไม่กำหนดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ครอบคลุมไปถึง รายได้จากการจำหน่ายผลงานวิจัย-พัฒนา- ออกแบบ รวมทั้งรายได้ที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยหรือออกแบบที่ได้จดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือแบบผังภูมิของวงจรรวมไว้ไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ทั้งที่ผลิตเองหรือว่าจ้างผู้อื่นผลิต
2)การกำหนดหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการผลิตทุกประเภทที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริมและที่มีคุณค่าด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการกำหนด 5 ปัจจัยในการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์เดิม โดยพิจารณาจากปัจจัยด้าน input กับ output ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในประเทศจากการวิจัยและพัฒนา การออกแบบต่อยอด, การจ้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยระดับปริญญาตรีขึ้นไป, ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรไทย, ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้รับช่วงผลิตไทย (vendor development) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มอีก 1 ปี และหากมีการนำผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตใหม่ตามที่ BOI เห็นชอบไปผลิตเชิงพาณิชย์ภายใน 5 ปีนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มอีก 3 ปี แต่การยกเว้นภาษีเงินได้รวมทุกกรณีจะต้องไม่เกิน 8 ปีและให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักรในทุกเขตการลงทุนด้วย
3)การพัฒนากิจการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการไทยรายใหม่ในการรับช่วงการผลิตจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งเทคโนโลยีจากเงื่อนไข กรณีบริษัทขนาดใหญ่จ้างผู้ประกอบการใหม่ (SMEsไทย) ทำการผลิตบางขั้นตอน ให้คงนับขั้นตอนการรับผลิตช่วงนี้ในการคำนวณมูลค่าเพิ่มของโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน, กรณีผู้ประกอบการไทยหรือ SMEs ไทยที่รับช่วงการผลิตแทน ให้ยื่นขอรับการส่งเสริมโดยใช้เครื่องจักรเดิมทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังเปิดให้การส่งเสริมแก่กิจการ "เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" โดยให้สิทธิประโยชน์เท่ากับเขต 3 ที่ตั้งในท้องที่ 18 จังหวัด แต่เขตวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะต้องมีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ (incubation center) ระบบโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้าสำรองและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมไปถึงเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบจาก สวทช.ด้วย โดยโครงการที่ตั้งในเขตวิทยาศาสตร์ดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทที่มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และต้องลงทุนในกิจการประเภท 5.7-7.12-7.13-7.14-7.15.1 (สถานศึกษาหรือศูนย์ฝึกฝนวิชาชีพ)

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.