บีโอไอรับลูกยกเว้นภาษีบ.ซอฟต์แวร์ 8 ปี จับตาผู้พัฒนาไทย-เทศจ่อคิวขอเพียบ

คณะอนุกรรมการกลั่นกรองบีโอไอเห็นชอบการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนของธุรกิจซอฟต์แวร์ประเทศเปิดกว้างให้รับยกเว้นภาษี 8 ปีเต็ม ชี้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย-เทศจ่อคิวรอเพียบ ด้านโครงการซอฟต์แวร์เอสเอ็มอีใกล้คลอด เผยมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เสนอตัวเข้าร่วมโครงการกว่า 40 ราย

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซิปป้า) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรมเป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบในการปรับแก้เงื่อนไขสิทธิประโยชน์การลงทุนธุรกิจซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยที่จะมีการนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาอนุมัติต่อไป

การปรับแก้ครั้งนี้คือเสนอให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นสาขาพิเศษที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีไม่ว่าจะตั้งอยู่ในที่ใดทั่วประเทศจากเดิมที่จำกัดให้เฉพาะบริษัทที่ลงทุนในเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์ปาร์ก) เท่านั้น และเป็นการยกเว้นภาษีโดยไม่มีเงื่อนไขจากที่เดิมกำหนดว่าจะต้องไม่เกินมูลค่าการลงทุน แต่เนื่อง จากบริษัทซอฟต์แวร์มีการลงทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ลงทุนเครื่องจักรเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ

นอกจากนี้ได้จัดหมวดประเภทของซอฟต์แวร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาห กรรมซอฟต์แวร์ของซิปป้า โดยจะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 3 ประเภทหลักคือ ซอฟต์แวร์เอ็น เตอร์ไพรซ์, ดิจิทัล คอนเทนต์ และเอ็มเบด ซอฟต์ แวร์ (ซอฟต์แวร์ของสำหรับรถยนต์, ของเด็กเล่น เป็นต้น) อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์ แวร์ไทยประมาณ 99% ที่เข้าข่ายอยู่ใน 3 กลุ่มนี้

"ถือว่าเป็นการเปิดกว้างในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ผ่านการพิจารณาของบอร์ดใหญ่แล้วจะมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากยื่นขอสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพราะที่ผ่านมาด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างทำให้มีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากไม่ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน" อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้นจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติได้หมดแต่จะต้องเป็นบริษัททำงานด้านการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ใช่เป็นผู้ค้าหรือเพียงแค่นำซอฟต์แวร์ต่างประเทศมาทำภาษาไทยเท่านั้น

นายมนูกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นการผลักดันเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่สร้างอุตสาหกรรมซอฟต์ แวร์ในประเทศไทย ซึ่งทางซิปป้าได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าอุตฯซอฟต์แวร์ในประเทศไทยจะมีมูลค่า 160,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีจากปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

นอกจากการส่งเสริมของบีโอไอแล้ว ในส่วนของการกระตุ้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอีนำซอฟต์แวร์ไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ด้วยการจัดทำโครงการซอฟต์แวร์เอสเอ็มอี หรือซอฟต์แวร์เอื้ออาทร ซึ่งนายมนูกล่าวว่า ขณะนี้โครงการใกล้จะเปิดตัวแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อจัดเป็นหมวดหมู่ตามประเภทของอุตสาหกรรม เช่น โรงแรม-ท่องเที่ยว, ร้านค้าปลีก, ผู้ผลิตสินค้าโอท็อป เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้เสนอซอฟต์แวร์เข้ามาประมาณ 40 ราย สำหรับในส่วนของการทำตลาดและให้บริการ นั้นวางไว้ 2 รูปแบบคือการขายเป็นชุด โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ซิปป้าแต่งตั้งขึ้น และในส่วนของการให้บริการเช่าใช้ซอฟต์แวร์เป็นรายเดือนผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า เอเอสพี (appication software provider)

ขณะนี้ทางซิปป้าอยู่ระหว่างการเตรียมสรุปรายละเอียดและความพร้อมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้พิจารณาถึงกำหนดการเปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะสามารถเปิดโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทรได้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.