บีเอสเอ ดีเดย์ 6 ม.ค.เริ่มตรวจซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ระบุความเสียหายของบริษัทซอฟต์แวร์มาจากการใช้งานภาคธุรกิจเป็นหลัก
บีเอสเอ พร้อมเริ่มตรวจสอบ การใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ระลอกใหม่ 30,000 บริษัท ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 45 ชี้ปัจจุบันความเสียหายหลัก ของบริษัทซอฟต์แวร์สมาชิก มาจากแอพพลิเคชั่นในภาคธุรกิจ ขณะที่ กลุ่มผู้ค้ารายย่อยคงต้องเดินหน้าปราบปรามอย่างที่ผ่านมา ควบคู่กับการเร่งให้การศึกษาผู้ใช้ต่อเนื่องอีก 2-3 ปี เพื่อหนุนลดการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในระยะยาว

นายฮิวอี้ ตัน รองประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2545 เป็นต้นไป บีเอสเอจะเริ่มปฏิบัติการในโครงการที่เรียกว่า "Truce Campaign" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการละเมิดการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ในองค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทย โดยที่ผ่านมา บีเอสเอส จัดส่งจดหมายไปยังองค์กรราว 30,000 แห่งในประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือในการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ รวมทั้งในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - 5 มกราคม 2545 นี้ ได้ทยอยจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์กับองค์กรเหล่านั้น "หลังจากวันที่ 5 ม.ค ปีหน้าเป็นต้นไป เราจะเดินหน้าตรวจสอบ และจัดการทางกฎหมายกับผู้ที่ใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ซึ่งในครั้งนี้นับว่า เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านๆ มา ที่เคยแบ่งกลุ่มเป้าหมาย เป็นภาคธุรกิจเฉพาะ (เวอร์ติคัล) เช่น การเงิน, ธนาคาร และองค์กรทั่วไป ซึ่งจะรวมถึงเอสเอ็มอีด้วย แต่โปรแกรมใหม่นี้จะเน้นจัดการในวงกว้างไปเลย" นายตัน กล่าว

สำหรับสาเหตุที่บีเอสเอหันมาดำเนินการป้องปรามการละเมิดในกลุ่มองค์กรมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่สูญเสียไปส่วนใหญ่มาจากโปรแกรมในกลุ่มการใช้งานทางธุรกิจ (บิสซิเนส แอพพลิเคชั่น) มากกว่าจะมาจากการละเมิดโปรแกรมที่เป็นระบบปฏิบัติการ (โอเอส) หรือโปรแกรมจากผู้พัฒนาในประเทศ (โลคัล คัสตอม เมด) ขณะเดียวกัน มองว่า ในภาคธุรกิจนั้น มีเงินทุนในการจัดซื้ออยู่แล้ว แต่มักจะสนใจแต่ลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ และไม่สนใจซื้อไลเซ่นซอฟต์แวร์เข้ามาใช้งาน แม้ว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการพัฒนาหรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่องค์กรเหล่านั้น สามารถนำไปขาย และทำกำไรอย่างมากเข้าบริษัท ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นสมาชิกบีเอสเอ นอกจากนี้ จากการเข้าไปสำรวจองค์กรที่จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายจากโครงการที่ผ่านๆ มา พบว่า โดยทั่วไปแล้วแต่ละองค์กรมีความจำเป็นในการใช้แอพพลิเคชั่นไม่กี่โปรแกรมเท่านั้น ซึ่งหากต้องซื้อไลเซ่น ไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป

กวาดจับผู้ค้าต่อเนื่อง

นายตัน กล่าวว่า ส่วนของการปราบปรามการละเมิดในภาคของผู้ค้า (รีเทล) นั้น คงยังต้องใช้วิธีการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเดินหน้ากวาดจับตามแหล่งค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่าในแหล่งสำคัญๆ อย่างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ยังมียอดจับกุมเฉพาะในส่วนของบีเอสเอเอง ไม่ต่ำกว่า 4-5 รายต่อเดือน โดยแนวทางแก้ปัญหาในส่วนนี้ คงยังต้องให้ความสำคัญกับ "การให้การศึกษา" กับกลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับผลร้ายหรือความรู้สึกผิดในการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในส่วนนี้ บีเอสเอ กำหนดระยะเวลาไว้ไม่ต่ำกว่าอีก 2-3 ปี และแม้จะต้องใช้เวลา แต่ในระยะยาวแล้วเชื่อว่า จะส่งผลให้ความนิยมซื้อซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้ลดลงไปได้ รวมทั้งยังจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงการใช้งานซอฟต์แวร์ในองค์กรด้วย เพราะปัจจุบันยังมีการละเมิดในรูปแบบแฝง หรือ hidden piracy เนื่องจากผู้บริหาร มองว่า คนนอกไม่มีโอกาสทราบว่า องค์กรของตัวเองใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย และไม่มีความรู้สึกละอายใจในการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว

"ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทย แตกต่างจากสิงคโปร์ เพราะที่นั่นบริษัทส่วนใหญ่จะไม่กล้าใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะที่ ในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปก็ยังนิยมซื้อหามาใช้อยู่ และมีผู้ค้าจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้เราต้องเร่งให้การศึกษาเช่นกัน" นายตัน กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.