อานิสงส์ "อีกัฟฯ-ฮับลอจิสติก" กระตุ้นตลาด "อีดีไอ" กระฉูด

เอกชนยิ้มแป้นปรับแผนรับอานิสงส์นโยบายอีกัฟเวิร์นเมนต์ และฮับลอจิสติก เชื่อปลุกธุรกิจ "อีดีไอ" คึกคัก "ไทยเทรดเน็ท" คาดการณ์จำนวนลูกค้าไม่เพิ่ม แต่ปริมาณการใช้งานสูงขึ้นแน่ๆ เดินหน้าขยายตลาดเจาะลูกค้า "เอสเอ็มอี" เต็มสูบ พร้อมคลอดบริการ "web EDI" ปีหน้า ชูค่าบริการสุดถูกครั้งละ 5 บาทสร้างจุดขาย

นายธานินทร์ ตันกิติบุตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยเทรดเน็ท จำกัด บริษัทผู้ให้บริการโครงข่ายสำหรับการแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data interchange : EDI) บริษัทในกลุ่มสามารถ เปิดเผยทิศทางการทำธุรกิจว่าจะเน้นการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสำหรับการทำธุรกรรม (e-transection network) ให้มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการทำธุรกรรมระหว่างรัฐและเอกชนกำลังขยายตัวจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า (hub logistics) ผลักดันให้หน่วยงานรัฐหันมาใช้ระบบไอทีในการรับส่งข้อมูลด้านการขนส่งสินค้ามากขึ้น

ขณะที่ลูกค้าองค์กรเอกชนก็มีการใช้งานมากขึ้นด้วย โดยแทบทุกบริษัทที่มีการติดต่องานกับหน่วยงานรัฐเข้ามาใช้บริการ EDI เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่นกรณีของกรมศุลกากรที่จะมีแบบฟอร์มให้ผู้ติดต่อกรอกข้อมูลเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าส่งผ่านข้อมูลด้วยวิธีปกติจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDI

"นโยบาย e-govrenment และ hub logistics จะกระตุ้นให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นทั้งการให้บริการของภาครัฐผ่านระบบ single windows ยังทำให้ภาครัฐต้องใช้งานระบบไอที โดยเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบการ out sourcing อีกทอดหนึ่งในบริการที่มีความซับซ้อนสูงมากๆ แต่บริษัทเองไม่มีนโยบายเข้าไปในตลาดนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ภาครัฐจะเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างทำระบบแล้วนำไปบริหารเองแทนการให้เอกชนเป็นดูแลบริหารระบบ"

สำหรับการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัทเอกชนกับเอกชนด้วยกันก็มีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกและปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ใช้งานระบบ EDI กันหมดแล้ว บริษัทจึงเน้นขยายการทำตลาดไปที่กลุ่มเอสเอ็มอี โดยในปีหน้าเปิดบริการใหม่ที่เรียกว่า "web EDI service" หรือการให้บริการโครงข่ายสำหรับการแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือซัพพลายเออร์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ขายสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรดรายใหญ่แต่ยังไม่มีความพร้อมที่จะวางระบบสำหรับการรับส่งข้อมูลด้วยตนเอง

บริการ web EDI service จะเปรียบเสมือนระบบ front end ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีใช้ติดต่อกับระบบคอมพิว เตอร์ของห้างสรรพสินค้าหรือห้างค้าปลีก โดยบริษัทจะคิดค่าบริการตามการทำธุรกรรมแต่ละครั้งและค่าพื้นที่ mail box ซึ่งมีทั้งแบบ prepaid, แบบรายเดือน และรายปี ซึ่งค่าบริการโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 บาท/ครั้ง

นายธานินทร์คาดว่า กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีจะช่วยสร้างรายได้แก่บริษัทพอสมควร เพราะจากการสำรวจพบว่ามีซัพพลายเออร์รายย่อยกว่า 3,000 รายในไทย และในจำนวนนี้ 60-70% เป็นกลุ่มเอส เอ็มอี อีกทั้งห้างโมเดิร์นเทรดมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ค้ากลุ่มนี้มีการใช้งานระบบ EDI ซึ่งต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันก็ลดลงมาก จึงน่าจะมีปริมาณการทำธุร กรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังจะเน้นการให้บริการบนมาตรฐานของ XML มากขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้มาตรฐาน UN/EDIACT และ ANSI X12 ซึ่งใช้ในทวีปอเมริกา เพราะการเพิ่มมาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวจะทำให้บริษัทตอบสนองต่อลูกค้าที่ต้องติดต่อกับบริษัทต่างชาติ และตอบสนองความหลากหลายของการแลกเปลี่ยนข้อมูลในแต่ละมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากว่า 600 ราย เช่น เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, เดอะมอลล์, เซเว่นอีเลฟเว่น, โค้ก, เป๊ปซี่ ฯลฯ รวมทั้งผู้ประกอบการขนส่งทางเรือกว่า 80% โดยมีรายได้ในปีที่ผ่านมา 30-40 ล้านบาท แต่คาดว่าในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท ขณะที่ตลาดรวมมีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

นอกจากบริการ web EDI service แล้วยังจะมีบริการ e-collaboration service ซึ่งเน้นการร่วมมือกันระหว่างผู้ค้าปลีกและผู้จัดส่งสินค้าในระดับที่มาก กว่าระบบ EDI เช่น บริษัทยูนิลีเวอร์ มีข้อมูลสินค้าในคลังของห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อจำนวนสินค้าจำหน่ายถึงระดับหนึ่ง ยูนิลีเวอร์จะจัดส่งสินค้าให้แก่ท็อปส์โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องรอคำสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น รวมทั้งบริการ E-comerce hosting และบริการ E-business solution สำหรับลูกค้าที่ยังไม่มีระบบหลังบ้านเป็นของตนเอง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.