ไอบีเอ็ม ดึงกลยุทธ์โอเพ่นซอร์ส ผลิตชิพยุคหน้า

ยักษ์สีฟ้า ดึงเทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ พัฒนาชิพตระกูลล่าสุด 'เพาเวอร์' ชูจุดเด่น ดัดแปลงคุณสมบัติได้เองอัตโนมัติ พร้อมรับมือ สถานการณ์ประมวลผล หลากรูปแบบ ขณะที่ชวนนักพัฒนาโปรแกรมภายนอก ร่วมกระบวนการออกแบบ แจงเหตุช่วยตอบสนอง ความต้องการตรงจุด อีกทั้งยังกระตุ้นนวัตกรรมใหม่

 

เวบไซต์ ไวร์ด ดอท คอม รายงานว่า บริษัท ไอบีเอ็ม ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาชิพ 'เพาเวอร์' (Power chips) ที่สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติ ตามความต้องการของผู้ใช้ได้ด้วยตัวเอง อาทิ ชิพสามารถดาวน์โหลดแผ่นวงจรพิเศษ เพื่อให้หน่วยประมวลผลทำงานเร็วขึ้นได้โดยอัตโนมัติ หรืออาจเพิ่มหน่วยความจำได้เอง หากมีความจำเป็น 'ในเวลาไม่นาน ชิพจะมีคุณสมบัติต่างจากชิพที่คุณซื้อมาตอนแรก' ดร. เบอร์นาร์ด เมเยอร์สัน หัวหน้าทีมนักเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม กล่าว ในงานเปิดตัวโครงการพัฒนาชิพด้วยกลยุทธ์โอเพ่นซอร์ส 'เพาเวอร์ เอฟเวอรี่แวร์' (Power Everywhere) ที่บริษัทจัดขึ้นในกรุงนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ ( 31 มี..)

 

ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมชิพประมวลผลเพาเวอร์ของไอบีเอ็ม เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่แล้ว ในซูเปอร์คอมพิวเตอร์, เครื่องแม่ข่ายระดับบน และคอมพิวเตอร์แมคบางรุ่น รวมทั้งมีติดตั้งในอุปกรณ์ประมวลผล สำหรับผู้บริโภคบางชนิดแล้วด้วย ขณะที่ไอบีเอ็มคาดว่า จะอาศัยเทคโนโลยีดังกล่าว ในการเจาะตลาดเครื่องเล่นเกม, พีซีตั้งโต๊ะ และอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่ต้องบรรจุชิพประมวลผล นอกจากนี้ ทางบริษัท ยังประกาศเชิญชวนให้นักพัฒนาโปรแกรมภายนอก เข้าร่วมกระบวนการออกแบบชิพ 'เพาเวอร์' ของตน รวมทั้งร่วมออกแบบให้ชิพ มีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับใช้ในระบบ หรืออุปกรณ์เฉพาะด้านอื่นๆ ด้วย

 

นายนิค โดโนฟริโอ รองประธานอาวุโสของไอบีเอ็ม เผยว่า ที่ผ่านมา ผู้จำหน่ายระบบงาน และชิพ สำหรับคอมพิวเตอร์บุคคล จะใช้วิธีนำสถาปัตยกรรมไมโครโพรเซสเซอร์ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน มาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของตน มีคุณสมบัติเหนือกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่ง แต่กระบวนการออกแบบชิพแบบปิดเช่นนี้ จะทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนาไปได้ช้า เนื่องจากผู้ใช้จะต้องรอให้ผู้ผลิตชิพแต่ละราย ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้างชิพของตนเองก่อน ขณะที่ การเปิดให้บุคคลภายนอก ร่วมกันพัฒนาชิพประมวลผลได้นั้น จะช่วยให้ลูกค้าสามารถออกแบบชิพตามที่ต้องการได้ทันที และช่วยกระตุ้นการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

 

'ชิพ เพาเวอร์ ได้รับการออกแบบจากระดับล่างขึ้นไป เพื่อนำมาใช้งานในระดับมหาชน และเป็นชิพประมวลผลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตัวสินค้า มากที่สุดในโลก' นายโดโนฟริโอ กล่าว พร้อมเสริมว่า ถึงเวลาแล้ว ที่กระบวนการออกแบบชิพ จะเป็นระบบเปิดมากขึ้น รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้าน และมีการใช้งานแพร่หลายมากกว่าเดิม วิธีการเช่นนี้ จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาระบบ, แอพพลิเคชั่น และอุปกรณ์สำหรับยุคหน้า ทั้งนี้ ตัวแทนไอบีเอ็ม กล่าวว่า บริษัทที่ตกลงซื้อสิทธิบัตรเทคโนโลยีชิพ เพาเวอร์เรียบร้อยแล้ว รวมถึงโซนี่ ซึ่งเตรียมนำไปผลิตอุปกรณ์ผู้บริโภค และแอล-3 คอมมูนิเคชั่นส์ ซึ่งจะนำไปใช้ในระบบความปลอดภัยเครือข่ายสหรัฐ, สถานีอวกาศ และระบบป้องกันภัย

 

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยของไอบีเอ็ม ยังได้สาธิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 'บลูจีน' (BlueGene) ขนาดเล็ก ที่ใช้ชิพประมวลผล '64 เพาเวอร์' ที่ออกแบบสำหรับใช้งานส่วนบุคคล คล้ายคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปโดยเฉพาะ โดยทางบริษัท เผยว่า จะวางจำหน่ายในราคาเดียวกับคอมพิวเตอร์ระดับบนทั่วไป พร้อมทั้ง สาธิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ 'เพาเวอร์5' (POWER5) ซึ่งสามารถรันระบบปฏิบัติการหลายประเภทได้ในเวลาเดียวกัน ผ่านทางไมโครพาร์ทิชั่นเสมือนจริง และจะวางตลาดในช่วงปลายปีนี้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2547

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.