IBM โดดร่วมประมูล "สมาร์ตการ์ด" มท.วาดฝันต่อยอดเป็นบัตรเครดิต

"ไอบีเอ็ม" ดอดร่วมประมูลโปรเจ็กต์ "สมาร์ต การ์ด" มั่นใจประสบการณ์จากทั่วโลก ด้าน "กรมการปกครอง" ประกาศพร้อมจัดงาน "สัปดาห์สมาร์ตการ์ด" เปิดตัวโครงการต้นเมษายนนี้ วางแผนจัดเก็บข้อมูลประชาชน 3 จว.ชายแดนภาคใต้ และกลุ่มลงทะเบียนคนจนเป็นลำดับแรก พร้อมแผนตั้งคีออสก์เปิดจุดให้บริการอัตโนมัติ วาดฝันจับมือธนาคารต่อยอดเป็นบัตรเอทีเอ็ม-บัตรเครดิต

..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาซื้อซองประกวดราคา (ทีโออาร์) ของบัตรสมาร์ตการ์ดไปแล้วราว 10 บริษัท กำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 มีนาคมนี้ และกระทรวงไอซีทีจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทางเทคนิคและมีสิทธิ์เข้าประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีออกชั่น) ในวันที่ 17 มีนาคม และคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้แก่กระทรวงมหาดไทยได้ทันภายในเดือนเมษายนนี้ โดยการบริหารจัดการระบบสมาร์ตการ์ดนั้น ทางมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยทางไอซีทีก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ระบบการให้บริการสมาร์ตการ์ดของกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบใดๆ เพิ่มเติม

ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในโครงการ สมาร์ตการ์ด โดยร่วมกับผู้ผลิตการ์ดและชิปเพื่อเข้ายื่นประกวดราคา ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ซื้อซองประกวดราคาไปแล้วและอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของทีโออาร์ ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นนำเสนอระบบปฏิบัติการ Java Card Open Platform หรือ Jcop ซึ่งจะติดตั้งอยู่บนชิปของบัตรและมีจุดเด่นในแง่ของความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง โดยที่ผ่านมาบริษัทได้เป็นผู้ติดตั้งระบบสมาร์ตการ์ดให้แก่ลูกค้าหลายองค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์เพื่อรองรับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (smartCcard) ให้แก่สำนักทะเบียนราษฎรทั่วประเทศจำนวน 1,077 แห่ง รวมทั้งได้เพิ่มเติมระบบการจัดทำสมาร์ตการ์ดและระบบริหารจัดการข้อมูลสมาร์ตการ์ด (card management) ให้แก่สำนักบริหารการทะเบียนกลางเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งหมดจะเป็นการเช่าซื้อระบบคอมพิวเตอร์จากกลุ่มบริษัทซีดีจี โดยมีค่าใช้จ่ายราว 500 ล้านบาทต่อปี

มหาดไทยมีความพร้อมที่จะให้บริการระบบสมาร์ตการ์ดแก่ประชาชนได้ทันที หลังจากที่กระทรวงไอซีทีส่งมอบบัตรให้แก่สำนักบริหารการทะเบียน สำหรับในขณะที่กระทรวงไอซีทียังไม่ส่งมอบบัตรให้แก่กระทรวงมหาดไทยนั้น คณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดทำบัตรสมาร์ตการ์ดนำร่องจำนวน 10,000 ใบก่อน เพื่อเปิดให้ประชาชนที่เข้างาน "สัปดาห์สมาร์ตการ์ดของคนไทย" ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายนนี้สามารถขอทำบัตรสมาร์ตการ์ดได้ทันที

นายสุรชัยกล่าวว่า ข้อมูลที่บรรจุลงบนชิปของบัตรจะเป็นข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.ข้อมูลจากกรมการปกครองซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือบัตรจำนวน 41 รายการ เช่น ชื่อสกุล, ที่อยู่, วันเดือนปีเกิด, เพศ, สัญชาติ, ศาสนา, ลักษณะลายพิมพ์นิ้วมือ รหัสลับ (pincode), กุญแจส่วนบุคคล (PKI), ข้อมูลบิดา มารดา, ข้อมูลคู่สมรส ฯลฯ 2.ข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 16 รายการ เช่น สถานพยาบาลของผู้ถือบัตร, โรคประจำตัว, รายการยาที่แพ้, หมู่โลหิต, จำนวนครั้งที่เข้ารับบริการฉุกเฉิน ฯลฯ และ 3.ข้อมูลสำนักงานประกันสังคม 19 รายการ เช่น สถานะผู้ประกันสังคม, ชื่อสถานพยาบาล, ประวัติการจ้างงาน, ชื่อนายจ้าง, สถานะว่าจ้าง, สาเหตุการเลิกจ้าง ฯลฯ

ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีจะเริ่มส่งมอบสมาร์ตการ์ดให้แก่กระทรวงมหาดไทยภายในปี 2547 จะส่งมอบจำนวนทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านใบ โดยประชาชนกลุ่มแรกที่จะทำบัตรสมาร์ตการ์ดนั้นจะเป็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มคนที่ลงทะเบียนคนจนกับรัฐบาล เพื่อเก็บข้อมูลและนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวและคนจนต่อไป คาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถออกบัตรสมาร์ต การ์ดให้ประชาชนได้ทั่วทั้งประเทศ

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า กรมการปกครองได้วาง แผนการใช้ประโยชน์จากบัตรสมาร์ตการ์ดออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ปี 2547 ใช้เป็นบัตรยืนยันตัวบุคคลเพื่อเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจคัดสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนด้วย ระบบอิเล็ก ทรอนิกส์ การใช้บัตรเพื่อลงทะเบียนประเภทต่างๆ

ปี 2548 จะมีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อใช้สมาร์ตการ์ดเป็นบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต โดยในเบื้องต้นอาจร่วมมือกับธนาคาร 1-2 แห่ง ปี 2549 ใช้แทนหนังสือเดินทางโดยจะเริ่มจากประเทศใกล้เคียงที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล เช่น ประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย การใช้แทนใบขับขี่รถยนต์ และการพัฒนาให้สามารถใช้เป็นบัตรเอทีเอ็มได้ทุกๆ ธนาคาร และระยะที่ 4 ปี 2550 สามารถนำบัตรสมาร์ตการ์ดไปใช้งานและรับบริการได้หลากหลายรูปแบบ

นายสุรชัยกล่าวเสริมว่า นอกจากนี้คณะกรรมการบูรณาการยังได้มีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารการทะเบียนแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำตู้คีออสก์เพื่อรองรับการให้บริการผ่านบัตรสมาร์ตการ์ดภายใต้ชื่อ Multi Purpose Machine ( MPM) หรือเครื่องบริการประชาชนอเนกประสงค์ โดยมีระบบให้บริการประชาชนหลายรูปแบบ เช่น การคัดสำเนารายการทะเบียน, อินเทอร์เน็ตสาธารณะ, การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอัตโนมัติ และการให้ข้อมูลรูปแบบต่างๆ

"ขณะนี้อนุกรรมการได้จัดทำเครื่องเอ็มพีเอ็มต้นแบบเสร็จแล้ว 3 เครื่อง มีแผนที่จะนำไปติดตั้งเพื่อทดลองให้บริการภายในหน่วยงานรัฐและแหล่งชุมชน โดยเบื้องต้นประชาชนสามารถนำสมาร์ต การ์ดมาขอคัดลอกสำเนาทะเบียนอัตโนมัติ คาดว่าปีนี้จะมีเครื่องเอ็มพีเอ็มทั้งสิ้น 76 เครื่อง เพื่อนำไปติดตั้งไว้ที่ศาลากลางจังหวัดทุกๆ จังหวัด นอกจากนี้ จะเพิ่มแอ็ปพลิเคชั่นการใช้งานผ่านเครื่องเอ็มพีเอ็มให้มากขึ้น เช่น ระบบการรับชำระค่าใช้จ่ายสาธารณะ ระบบบริการข้อมูลด้านต่างๆ ระบบการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ"

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.