ไอบีเอ็มดัน อี-ซอร์สซิ่ง รุกบริการไอทีครบวงจร

ไอบีเอ็ม เร่งโปรโมทแนวคิด "อี-ซอร์สซิ่ง" หรือให้บริการไอทีแบบคิดตามจำนวนการใช้งานจริง ในรูปแบบบริการสาธารณูปโภค ที่ผสานไอที และการให้บริการแบบครบวงจร หวังกระตุ้นตลาดไทยตอบรับกระแสที่กำลังมาแรง ให้ขยับขึ้นจากการใช้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ และอี-บิสซิเนส ในปัจจุบัน

 

นายสุราษฎร์ เลิศภูมิปัญญา รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจบริการกลยุทธ์เอาท์ ซอร์สซิ่ง บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังมองแนวโน้มของตลาดให้บริการด้านไอทีในอนาคต ซึ่งองค์กรธุรกิจ จะเริ่มขยายการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศผสานกับบริการ ซึ่งมีรูปแบบการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ในลักษณะเดียวกับบริการด้านสาธารณูปโภค (ไอที ยูติลิตี้ เซอร์วิส) โดยบริการรูปแบบดังกล่าว นับเป็นพัฒนาการระดับต่อไปของการใช้บริการไอที ซึ่งขณะนี้ ไอบีเอ็ม ในประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา เริ่มนำเสนอบริการลักษณะนี้แล้วในชื่อ "อี-ซอร์สซิ่ง" (e-Sourcing) "บริการอี-ซอร์สซิ่ง จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้บริการไอทีขององค์กร โดยองค์กรไม่ต้องลงทุนงบประมาณด้านไอทีใด ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากร แต่จะมาใช้บริการของผู้ให้บริการโดยตรง" นายสุราษฎร์ กล่าว

 

ขณะที่ ในส่วนของผู้ให้บริการนั้น จะสามารถให้บริการผ่านเครือข่ายที่ครบวงจร (เน็ทเวิร์ค ดิลิเวอรี่ เซอร์วิส) ตั้งแต่ระดับการประมวล (คอมพิวติ้ง) เช่น การให้บริการเครื่องแม่ข่าย ระดับระบบสำรองข้อมูล (สตอเรจ) ระบบเครือข่าย หรือเน็ทเวิร์คกิ้ง เกี่ยวข้องกับแบนด์วิธ และระดับเช่าใช้ระบบงาน หรือโฮสติ้ง ไปจนถึงระดับสูงสุด ซึ่งสนับสนุนงานด้านปฏิบัติการ (โอเปอเรชั่น) นอกจากนี้ บริการดังกล่าว ยังมีลักษณะเฉพาะที่ต้องแบ่งปันการใช้ทรัพยากร ระบบต้องมีมาตรฐาน หรือเป็นระบบเปิด และสามารถเพิ่มขยายได้ตามความต้องการ รวมถึงมีการทำงานในรูปแบบอัตโนมัติ (ออโตโนมิก คอมพิวติ้ง) โดยใช้เทคโนโลยีการร่วมกันประมวลผล และกระจายการประมวลผล สำหรับตัวอย่างของระบบงานที่สามารถใช้แนวคิดในการงานร่วมกันได้ โดยองค์กรไม่ต้องปรับ หรือขยายระบบเพิ่มเติม ได้แก่ ระบบเงินเดือน ระบบบุคลากร ระบบลงทะเบียน ระบบเก็บเงิน (บิลลิ่ง) รวมทั้งการใช้บริการสตอเรจ ออน ดีมานด์

 

ได้แรงหนุนจากวัฒนธรรมองค์กรใหม่

ทางด้านปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดอี-ซอร์สซิ่ง ประกอบด้วย มาตรฐานเทคโนโลยีแบบเปิด วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการมุ่งสู่การสร้างมูลค่า การจัดการความซับซ้อนของระบบ และลดปัญหาด้านบุคลากร ที่ต้องฝึกทักษะและติดตามเทคโนโลยี ขณะที่ ลูกค้าก็ได้รับประโยชน์ในด้านความสะดวกสบายในการใช้งาน เนื่องจากวิธีคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง จะสนับสนุนให้องค์กรขนาดเล็ก สามารถเข้าไปใช้บริการระบบงานที่ต้องลงทุนสูงได้ โดยไม่ต้องลงทุนระบบเอง และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนดีกว่าการใช้บริการเอาท์ซอร์สซิ่งแบบดั้งเดิม

 

การเงิน-ธนาคารเป็นผู้นำ

นายสุราษฎร์ กล่าวว่า จากผลสำรวจของบริษัทวิจัย การ์ทเนอร์ คอนซัลติ้ง ระบุว่า องค์กรภาคการเงินและธนาคารในเอเชีย-แปซิฟิก ร้อยละ 64 จะหันมาใช้บริการในแบบสาธารณูปโภคดังกล่าว โดยร้อยละ 28 ให้เหตุผลว่าต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 18 เชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ, ร้อยละ 5 พอใจความสามารถในการขยายระบบได้ และอีกร้อยละ 8 มองถึงความต้องการไอทีของลูกค้าในอนาคต

 

คาดตลาดไทยพร้อมเต็มที่อีก 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ในส่วนของสำหรับตลาดไทยแล้ว ยังอยู่ในขั้นของการสร้างการรับรู้ (อะแวร์เนส) ให้กับตลาดก่อน และคาดว่าตลาดจะพร้อมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า "ปัจจุบัน ตลาดไทยยังอยู่ระดับการใช้บริการขั้นพื้นฐานที่เป็นดาต้า เซ็นเตอร์ และการใช้บริการอี-บิสซิเนส ซึ่งต้องเริ่มขยับเข้าสู่การใช้บริการเอาท์ ซอร์สซิ่ง ที่องค์กรใช้บริการจากภายนอก ที่มิใช่เพียงด้านไอที แต่รวมถึงกระบวนธุรกิจ เช่น การใช้บริการติดตั้งระบบ และพัฒนาระบบ โดยองค์กรต้องมีการทำแผนแม่บทไอทีด้วย จากนั้นจึงจะก้าวเข้าสู่ระดับอี-ซอร์สซิ่ง" นายสุราษฎร์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.