ไมโครซอฟท์เตรียมรวมเฉพาะโปรแกรมเด่น สู้ราคาโอเพ่นซอร์ส

ไมโครซอฟท์ หวั่นเสียโอกาสคอมพิวเตอร์ไอซีที 1 ล้านเครื่อง หากยังลังเลเกรง "เสียมาตรฐาน" ไม่สามารถสรุปราคาซอฟต์แวร์ได้ แจงต้องศึกษาผลกระทบรอบด้าน ก่อนตัดสินใจ ขณะเดียวกันชี้ช่องทำเวอร์ชั่นเฉพาะไทย ป้องกันสินค้ารั่วไหล หั่นโปรแกรมไม่จำเป็นออก ดั๊มพ์ราคาสู้โอเพ่นซอร์ส รักษาส่วนแบ่งตลาด "หมอเลี้ยบ" เปิดทางเสนอราคาสัปดาห์หน้า

 

นายฐิติกร อุษยาพร ผู้จัดการธุรกิจเอสเอ็มอี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่สามารถเสนอระบบปฏิบัติการ (โอเอส) วินโดว์ส รวมซอฟต์แวร์สำเร็จรูปชุดออฟฟิศ เข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีในราคา 1,000 - 2,000 บาทได้ ส่วนราคาเฉพาะระบบปฏิบัติการวินโดว์สจะอยู่ระดับเดียวกันนี้ได้หรือไม่นั้น ขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ของการลดราคาไลเซ่นดังกล่าวสำหรับตลาดโฮมยูส เพื่อให้สามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ เพราะเป็นโครงการที่มีขนาดตลาดมหาศาล 1 ล้านเครื่อง และการที่ผู้ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศออกเครื่องรุ่นใหม่จับตลาดราคา 14,000-15,000 บาท ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และต้องการประสิทธิภาพเครื่องสูงขึ้น ก็น่าจะเหมาะกับบริษัท

 

"ที่ผ่านมา เคยสอบถามไปยังสมาคมผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ว่าราคาไลเซ่นระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี โฮม เอดิชั่น ของไมโครซอฟท์ควรจะเป็นเท่าใดจึงน่าจะขายไปกับเครื่องได้ ซึ่งสมาคมหนึ่งตั้งโจทย์ที่ 1,000 บาท ขณะที่อีกรายหนึ่งระบุ 1,500-2,000 บาท จากปกติบริษัทขาย 3,000-4,000 บาท เรียกว่าราคาใหม่ควรจะไม่เกิน 10%-15% ของราคาเครื่อง" นายฐิติกรกล่าว ฉะนั้น ราคาระดับดังกล่าวจึงเป็นเพียงตัวเลขที่สมาคมต่างๆ เสนอมา เพราะเห็นว่าจะทำให้ผู้บริโภคสามารถยอมรับได้ ซึ่งการตัดสินใจจะต้องขึ้นกับระดับภูมิภาค และสำนักงานใหญ่ เพราะต้องศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งการจัดส่งสินค้า ระบบลอจิสติกส์ การทำเป็นบรรจุภัณฑ์ซีดีรอมที่จะส่งให้ลูกค้าในปริมาณมาก การป้องกันการรั่วไหลของสินค้าที่จะไม่ให้หลุดไปยังประเทศอื่นที่มีราคาขายสูงกว่า จึงอาจทำเป็นเวอร์ชั่นไทยโดยเฉพาะออกมา

 

สร้างแพ็คเกจใหม่เสนอ

ส่วนราคาชุดออฟฟิศยังไม่ได้ตั้งตัวเลขออกมาแต่อย่างใด ซึ่งพิจารณาว่าควรทำราคาพิเศษเสนอไปในเวลาเดียวกับระบบปฏิบัติการวินโดว์ส หากยอมรับว่า ตลาดคอนซูเมอร์ของไมโครซอฟท์ ออฟฟิศในไทยมีน้อยมาก ทั้งจะเป็นชาวต่างประเทศเข้ามาซื้อมากว่า โดยปัจจุบันราคาแยกขายแต่ละโปรแกรมในร้านค้าปลีกเฉลี่ยโปรแกรมละ 9,000 บาท แต่ตลาดหลักของชุดออฟฟิศจะเป็นตลาดองค์กร ซึ่งซื้อซอฟต์แวร์ชุดออฟฟิศที่มีราคา 23,900 บาท ส่วนชุดที่ใช้เพื่อการศึกษาจะราคา 9,500 บาท ทั้งนี้หากนำเสนอโปรแกรมออฟฟิศต่อโครงการไอซีที ก็อาจเลือกบางโปรแกรมที่มีการใช้งานมาก เช่น เวิร์ด เอ็กซ์เซล แต่เพาเวอร์พอยต์คงไม่จำเป็นสำหรับคอนซูเมอร์

 

นอกจากนี้ ถ้าโครงการไอซีที กำหนดกลุ่มผู้ซื้อเป็นครู และนักเรียนในโรงเรียนได้ ก็อาจเสนอส่วนลดชุดออฟฟิศเท่ากับสถาบันการศึกษาได้ แต่เมื่อโครงการขยายผลไปในวงกว้างมากขึ้น จึงต้องพิจารณากันใหม่ "ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดคอนซูเมอร์ของบริษัทนับว่าใหญ่มาก แต่ในไทยการละเมิดลิขสิทธิ์ยังสูงอยู่ แต่โครงการดังกล่าว จะทำให้ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ใหญ่ขึ้นมาก ทำให้บริษัทต้องศึกษาอย่างจริงจังหากก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็ว" นายฐิติกร กล่าว

 

พบหมอสัปดาห์หน้า

..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า พร้อมเปิดโอกาสให้บริษัท ไมโครซอฟท์ เข้าพบเพื่อเสนอเงื่อนไขความร่วมมือกับโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดข้อเสนอเพิ่มเติมของไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงจะพิจารณาข้อเสนอครั้งใหม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ อย่างไร เป็นหลัก ทั้งต้องไม่กระทบต่อนโยบายส่งเสริมโอเพ่นซอร์สของกระทรวงด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ไมโครซอฟท์เคยแจ้งข้อจำกัดว่า ใช้นโยบายราคาใกล้เคียงกันทั่วโลก จะลดต่ำเป็นพิเศษให้ประเทศใดประเทศหนึ่งยาก

 

หวัง"โชคดี"ตกสู่ไทย

นายพิสิฐ พฤกษานุศักดิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีเอ็ม) กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นเรื่องยากที่ไมโครซอฟท์จะลดราคาเหลือโปรแกรมไม่เกิน 2,000 บาท แต่หากลดให้ประเทศไทยจริงก็เป็นสิ่งที่ "โชคดี" มาก เพราะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ไมโครซอฟท์เคยติดต่อเสนอเฉพาะระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดว์ส เข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีในช่วงแรก ซึ่งที่ประชุมคณะทำงาน นำเรื่องเข้าที่ประชุม ซึ่งมี น..สุรพงษ์ ร่วมประชุมด้วย และได้พิจารณาเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะนอกจากต้องจ่ายเงินซื้อแล้ว การจะใช้งานได้ยังต้องมีซอฟต์แวร์ชุดสำนักงาน (ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ) ด้วย ทางออกจึงเลือกเป็นการบันเดิลซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ ลีนุกซ์ทะเล และซอฟต์แวร์ชุดสำนักงานภาษาไทย ออฟฟิศทะเล ซึ่งจะใช้งานครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากกว่า และไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเอทีซีเอ็มยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ เข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีแต่อย่างใด "ในการประชุม รมว.กระทรวงไอซีที ได้ให้นโยบายไว้ว่า หากไมโครซอฟท์จะเข้าร่วมโครงการก็เป็นไปได้ แต่ควรมีราคาที่เหมาะสมกว่าที่เสนอมา ซึ่งไม่ขอเปิดเผยว่าไมโครซอฟท์เสนอเท่าใด เพราะไม่ได้สรุปให้เข้าร่วมโครงการในล็อตแรก" นายพิสิฐ กล่าว ด้านแหล่งข่าว ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้ชี้แจงต่อคู่ค้าว่า วินโดว์ส รวมชุดออฟฟิศ ไม่สามารถขายราคา 1,000 - 2,000 บาทได้

 

ต่อรองซัพพลายเออร์ผลิตคอมพ์เพิ่ม

นายพลากร จิรโสภณ กรรมการบริหาร สมาคมเอทีซีเอ็ม กล่าวว่า สัปดาห์หน้าเอทีซีเอ็มจะเจรจากับผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ทุกรายในตลาด ทั้งรายใหม่และรายเดิม เพื่อรองรับการขยายโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ซึ่งปัจจุบันทะลุเป้า 100,000 แสนเครื่องไปแล้ว โดยจะประชุมกันในเรื่องสเปคเครื่อง, กำลังการผลิต และจำนวนการผลิตเพิ่มเติม ทั้งนี้สเปคเครื่องอาจเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต 3 ส่วนหลัก คือ เมนบอร์ด ซีพียู และแรม เพราะต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยีได้ หากผู้ผลิตรายใดไม่มีการผลิตเทคโนโลยีเดิมแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนสเปคกันใหม่

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.