"ไอซีที" นำร่อง "สมาร์ทการ์ด" ต้นปี 47 "การ์ดเนอร์" ชี้ทั่วโลก70%ล้มเหลว

"ไอซีที" เดินเครื่องลุยโปรเจ็กต์ "สมาร์ทการ์ด" มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท มั่นใจแจ้งเกิดต้นปีหน้า ประเดิมนำร่อง 2 กลุ่มหลักเกษตรกร-คนว่างงาน และประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝัน 3 ปีครบ 63 ล้านคนทั่ว ปท. หวังใช้เป็นฐานข้อมูลการวางแผนพัฒนาประเทศ ด้าน "การ์ตเนอร์ฯ" เตือนทั่วโลกกว่า 70% โครงการล้มเหลว แนะหน่วยงานรัฐเตรียมความพร้อมการแชร์ข้อมูล

..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการจัดทำบัตรประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อทางราชการ โดยข้อมูลต่างๆ จะอยู่ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน ใบขับขี่ บัตรประกันสังคมและอื่นๆ ทั้งนี้การจัดทำบัตรดังกล่าวต้องใช้ฐานข้อมูลของประชาชนจริงในทุกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าในต้นปี 2547 จะสามารถเริ่มออกบัตรลอตแรกได้ โดยกำหนดเป้าหมาย 20 ล้านใบ/ปี และคาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จกว่า 60 ล้านบัตร ครบจำนวนประชากรของประเทศไทย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายนำร่องโครงการ "สมาร์ทการ์ด" ในต้นปีหน้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มเกษตรกร, นักศึกษา และคนว่างงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ...ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยให้เกษตรกรหรือกลุ่มคนว่างงานแสดงความประสงค์ว่าอยากทำอาชีพอะไร ให้ลงทะเบียนข้อมูลออนไลน์ได้ระหว่างวันที่ 5-31..2547 ส่วนกลุ่มที่ 2 คือประชาชนในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนที่มี 2 สัญชาติ คือ ไทย-มาเลเซีย

ในอนาคตประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการแบบออนไลน์โดยใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น การเลือกโรงพยาบาลในโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค, การเสียภาษี, การย้ายที่อยู่หรือการเลือกสถานศึกษาให้กับบุตร ฯลฯ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ราชการ

สำหรับงบประมาณในการจัดทำสมาร์ทการ์ดเฉลี่ย 100 บาท/คน ซึ่งตามแผนประชาชนทุกคน 63 ล้านคน แม้แต่เด็กแรกเกิดก็จะมีสมาร์ทการ์ด คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากประชาชนทุกคนมี "สมาร์ท การ์ด" คาดว่าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐได้บางส่วน เนื่องจากโครงการบัตรดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่จะแก้ไขปัญหาและดำเนินงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เช่น การที่รัฐบาลใส่งบประมาณเพื่อการศึกษาภาคบังคับให้กับเด็กประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเด็กนักเรียนแท้จริงทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร ซึ่งก็ทำให้งบประมาณรั่วไหลได้ แต่ถ้ามีข้อมูลชัดเจนก็จะช่วยประหยัดงบประมาณได้

..สุรพงษ์กล่าวต่อว่า แม้งานวิจัยของ Gartner ได้ระบุว่าโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้มเหลวกว่า 70% นั้น ตนมองว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงริเริ่มโครงการเท่านั้น ซึ่งในส่วนของประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงก็จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากแต่ละประเทศมาพิจารณาเป็นกรณีศึกษา และในประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สิงคโปร์, เกาหลี หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย กระทรวงก็จะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ต่อไป

สำหรับหน่วยความจำ (memory) ของบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรอยู่ที่ประมาณ 32 KB ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะบรรจุใน chip set ของสมาร์ทการ์ด โดยในเบื้องต้นก็จะเป็นการบรรจุข้อมูลพื้นฐาน อาทิ วัน/เดือน/ปีเกิด, กรุ๊ปเลือด, เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก, บัตรประกันสังคม, ใบขับขี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ว่าสถาบันการเงิน-การธนาคารจะสามารถเข้าร่วมโครงการสมาร์ทการ์ด เพื่อช่วยลดต้นทุนบางส่วนในการผลิตบัตร เช่น การรวมฐานข้อมูลเป็นบัตรเอทีเอ็ม, เครดิตการ์ด และยังสามารถต่อยอดการทำธุรกรรมออนไลน์ในลักษณะกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-purse) ด้วย

ด้านนายดิออน วิกกินส์ ผู้อำนวยการด้านวิจัย บริษัทการ์ตเนอร์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้มเหลวกว่า 70% ส่วนหนึ่งมาจากวิธีการนำไปใช้ยังไม่รัดกุม ขาดการศึกษาอย่างถ่องแท้ รวมทั้งยังขาดความพร้อมของหน่วยงานบางแห่งที่ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ ส่งผลให้การทำธุรกรรมออนไลน์ขาดความลื่นไหล ไม่สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันอย่างทั่วถึง และปัญหาเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูล

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะยังล่าช้ากว่าประเทศอื่นในเรื่องนี้ แต่ก็มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยให้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือมองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และนำมาปรับรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อให้บริการสู่สาธารณะต่อไป ซึ่งบริการที่จะเป็นประโยชน์และมีความเป็นไปได้ ในเบื้องต้น คือการเสียภาษี หรือการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ (e-voting) เป็นต้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.