ไอดีซีเผยพีซีไทยโตสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซอฟต์แวร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบรักษาความปลอดภัยโตสูง

ไอดีซี เผยตัวเลขการใช้จ่ายไอทีไทยปี 46 แตะ 1.88 พันล้านดอลล์ ปี 50 พุ่งสู่ 2.65 พันล้านดอลล์ ขณะที่ยอดเครื่องพีซี 1.2 ล้านเครื่อง โต 34%

 

นายเจสัน แคดดีส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทไอดีซี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยระดับโลก กล่าวในการเปิดตัวตั้งธุรกิจในไทยเป็นครั้งแรกว่า บริษัทคาดการณ์ตัวเลขมูลค่าการใช้จ่ายไอทีของไทยปีนี้ 1.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปีที่แล้ว 8.7% โดยตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งคาดว่า ปี 2550 มูลค่าการใช้จ่ายไอทีไทยอยู่ที่ 2.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การใช้จ่ายหลักยังอยู่ที่ฮาร์ดแวร์ 70% ซอฟต์แวร์ 10% บริการไอที 20% ใน 5 ปีข้างหน้า การลงทุนฮาร์ดแวร์จะลดลง มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 7-8% ซอฟต์แวร์เฉลี่ยโต กว่า 10% บริการไอทีโต 14.8% ปีนี้ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ (พีซี) ไทย จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ 1.2 ล้านเครื่อง เติบโต 34% ซึ่งได้แรงผลักดันจากโครงการคอมพ์ไอซีที แต่ปีหน้าไม่มีโครงการนี้ ตลาดฮาร์ดแวร์จะเริ่มลดลง แม้ยังมีการลงทุนในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจธนาคาร ที่อัพเกรดจากเมนเฟรม และคอร์แบงกิ้ง และปี 2548 ตลาดรัฐจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งมอบเครื่อง เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

เอาท์ซอร์ส-ซิเคียวริตี้-โครงสร้างพื้นฐานโต

สำหรับกลุ่มเติบโตจะเป็นซอฟต์แวร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยจัดการบริหารทรัพยากรระบบฮาร์ดแวร์ที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งการจัดการระบบสำรองข้อมูล เครือข่าย และระบบไอทีทั้งองค์กร โดยปีนี้ตลาดนี้จะอยู่ที่ 27.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 13.5% นอกจากนั้นตลาดระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ซิเคียวริตี้ คอนเท้นท์ แมเนจเมนท์ และตลาดจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จะเติบโตขึ้นด้วย ส่วนตลาดบริการไอที คาดว่าจะมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มป็น 30,000 ล้านบาท ในปี 2250 เติบโตเฉลี่ย 14.8% โดยปีนี้ตลาดเอาท์ซอร์ซิ่ง สัดส่วน 15% ของบริการไอที ซึ่งมาจากแรงผลักดันธนาคารพาณิชย์เป็นต้นแบบและองค์กรขนาดใหญ่ไทยใน 100 อันดับแรก จะเริ่มเอาท์ซอร์สด้วย

 

ดาต้า เซอร์วิส โตในตลาดโทรพื้นฐาน

ส่วนตลาดโทรคมนาคมในไทยโดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน มีรายได้รวมในปีนี้ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนจากบริการเสียง ราว 82% หรือ 1.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2550 รายได้จากเสียงจะลดลงเหลือ 73% จากตลาดรวม 2.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้รายได้จากบริการข้อมูลหรือดาต้า เซอร์วิส จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาจากบริการวงจรเช่า (ลีสด์ไลน์) โดยในปี 2549 บริการไอพีวีพีเอ็น และเมโทรแลน จะเริ่มเติบโตขึ้นแทนบริการลีสด์ไลน์ เนื่องจากราคาที่ปรับลดลง โดยไอพีวีพีเอ็นเติบโตเฉลี่ย 22% ขณะที่ลีสด์ไลน์โต 13-14%

 

ชี้บรอดแบนด์ไทยต่ำสุด

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 20,000 รายจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2.2 ล้านราย นับว่าต่ำสุดในภูมิภาค กระนั้นนโยบายกระทรวงไอซีทีการกำหนดอัตราบริการเดียว (แฟลทเลท) จะช่วยให้จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น บริษัทได้ประมาณการรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ต ปีนี้ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 129 ล้านดอลลาร์ ในปี 2550 โดยเทคโนโลยีเอ็กซ์ดีเอ็กซ์แอลจะเติบโต 50-60% ซึ่งจะมากกว่าการใช้งานผ่านระบบหมุนโทรศัพท์ (ไดอัลอัพ)

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.