รายงาน : ดีเดย์ 20 พ.ย.คนไทยใช้บัตรประชาชนไฮเทค

กรมการปกครอง เล็งเปิดให้บริการบัตรประชาชนรุ่นฝังชิพ (สมาร์ทการ์ด) 20..นี้ สร้างทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย ด้วยต้นทุนค่าบัตรต่ำที่สุดในโลก ไม่เกินบัตรละ 100 บาท บรรจุข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งแต่หมายเลขบัตรประจำตัว ทะเบียนราษฎร์ และลายพิมพ์นิ้วมืออิเล็กทรอนิกส์

 

สำหรับบัตรประชาชนรุ่นใหม่ดังกล่าว จะมีความจุข้อมูล 32,000 ไบต์ (32เค) ทำให้เพิ่มความสะดวกในการบรรจุข้อมูลสำมะโนครัว และใช้เป็นหลักฐานแทนทะเบียนบ้านเพื่อประกอบการติดต่อราชการ หรือทำธุรกรรม เช่นที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บัตรดังกล่าวยังสามารถต่อเข้าไปยังเวบไซต์ของกรมฯ เพื่อใช้บริการอีเมล โดยใช้เลขหมายบัตรประชาชน เป็นรหัสประจำตัวผู้ใช้ (ยูสเซอร์ เนม) และจะมีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์กำกับท้ายในอีเมลว่า ผู้ส่งเป็นเจ้าของบัตรจริงๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการเข้ารหัสข้อมูล ด้วยการใช้เทคโนโลยีกุญแจสาธารณะ (พีเคไอ : พับลิค คีย์ อินฟราสตรัคเจอร์) "ผู้ใช้บัตรจะต้องเสียบบัตรเข้ากับเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด ที่ติดตั้งกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และเมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว เครื่องอ่านบัตรก็จะดึงข้อมูลลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ แนบไปกับอีเมลที่จะส่งออกไปยังผู้รับโดยอัตโนมัติ" นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวถึงวิธีใช้งาน

 

ค่าบัตรไม่เกิน 100 บาท

ทั้งนี้บัตรสมาร์ทการ์ด จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการทำบัตรประชาชน เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัตรดังกล่าวเพิ่มอีก 72 บาท สำหรับค่าชิพ ค่าฝังชิพ และระบบปฏิบัติการที่ใช้ในบัตรเป็นหลัก ขณะที่บัตรแถบแม่เหล็กพื้นฐานแบบเดิมมีต้นทุนค่าบริการ 28 บาทนั้น รัฐเป็นผู้รับภาระ "เมื่อรวมกันแล้วจะมีค่าใช้จ่ายบัตรละไม่เกิน 100 บาท ถือว่าต่ำสุดในโลก เทียบกับบางประเทศ เช่น มาเลเซีย มีค่าทำบัตรๆ ละ 400 บาท ส่วนคนไทยที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม ก็ใช้บัตรเดิมที่เป็นบัตรแม่เหล็กต่อไปได้" นายสุรชัยกล่าว สาเหตุที่สามารถทำราคาให้ต่ำได้ เนื่องจากกำหนดให้เอกชนที่จะเข้าประมูลโครงการดังกล่าว ใช้ระบบปฏิบัติการ (โอเอส) ที่เขียนโดยคนไทย และใช้บัตรที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย และใช้เทคโนโลยีของชิพในระบบเปิด เพื่อเปิดกว้างสำหรับชิพที่จะผลิตในประเทศไทยได้ในอนาคต

 

ใช้งบ 1,800 ล้านบาทต่อปี

ทางด้านงบประมาณของโครงการ คาดว่าอยู่ระดับ 1,800 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และค่าบำรุงรักษาพร้อมเงินเดือนในสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งเมื่อเทียบกับประชากร 65 ล้านคน เท่ากับประชากร 1 คน มีค่าใช้จ่ายต่อบัตร 30 บาท ขณะที่เดิมมีงบประมาณที่ต้องใช้อยู่แล้ว แต่จะมีค่าใช้จ่ายต่อบัตร 10 บาทต่อคน โดยมีสถิติการทำบัตรประชาชนปีละ 10 ล้านใบ "ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างการเปิดซองเทคนิค เพื่อจัดหาเอกชนมาให้บริการระบบแบบครบวงจร (เทิร์นคีย์) ซึ่งมีเงื่อนไขเป็นการเช่าระบบ ระยะเวลา 6 ปี โดยรัฐจะชำระค่าบริการรายเดือน เมื่อครบกำหนดต้องโอนกรรมสิทธิ์สินทรัพย์เป็นของรัฐด้วย เพื่อความมั่นคงของประเทศ" นายสุรชัย กล่าว

 

โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.ระบบทะเบียนราษฎร์ออนไลน์ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำบัตรประชาชนจากสำนักงานอำเภอในท้องที่ใดๆ ภายใน 15 นาที จากปัจจุบันที่สามารถให้บริการจำกัดเฉพาะพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช อุดรธานี พิษณุโลก สงขลา สุราษฎร์ธานี สำหรับในส่วนงานแรกนี้ มีเอกชนเข้าประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือเอไอที, ซีดีจี, เอ็มเฟค และสงขลาฟินิชชิ่ง

และ 2.บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ซึ่งเอกชนต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการใช้ในบัตรเอง และเขียนระบบงานลงในบัตรด้วย รวมถึงต้องทดสอบระบบว่าทำงานได้จริง แต่หากไม่สามารถทำงานได้ รัฐก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ในส่วนนี้มีเอกชนแสดงความสนใจเข้ามา 4 ราย ได้แก่ เอไอที, ซีดีจี, สงขลาฟินิชชิ่ง และบีพีทีเอส

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเลือกเอกชนที่ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ และใช้ระยะเวลาติดตั้งระบบระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ก็จะเริ่มให้บริการบัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ทการ์ดได้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ..นี้ และสามารถเปิดให้บริการทั่วประเทศได้ภายในวันที่ 20..47

 

นักวิจัยไทยขานรับความพร้อม มั่นใจต้นทุนต่ำกว่านำเข้า

หน่วยงานวิจัย ขานรับนโยบายรัฐอี-ซิติเซน พัฒนางานต้นแบบ รับเทคโนโลยีออกแบบ-ผลิตสมาร์ทการ์ดในประเทศ เชื่อคนไทยทำได้ด้วยทุนต่ำกว่า

นายพสิน อิสระเสนา ณ อยุธยา นักวิจัยศูนย์บริการออกแบบวงจรรวม (TIDI) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถออกแบบ และทำต้นแบบฮาร์ดแวร์ของไมโครคอนโทรลเลอร์ 8 บิต ที่จะใช้บัตรสมาร์ทการ์ดที่เป็นทั้งบัตรชนิดต้องใช้ร่วมกับเครื่องอ่านบัตร (Contract Smartcard) กับบัตรที่ไม่ต้องใช้เครื่องอ่าน (Contractless Smartcard) ซึ่งจะรองรับนโยบายจัดทำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด หรืออี-ซิติเซนได้ ปัจจุบัน ศูนย์ฯ สามารถออกแบบวงจรรวม ที่รองรับการใช้งานบัตรประจำตัว ซึ่งใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RFID CARD) ได้แล้ว โดยร่วมกับเอกชนพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นใช้เป็นชิพที่ติดในสัตว์ (Animal ID)

ด้านนายอิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ บางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า ศูนย์ปรับแนวทางดำเนินงานเป็นโรงงานเวเฟอร์แฟบขนาดเล็ก รองรับการผลิตชิพสำหรับที่ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด จากเดิมมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นว่าศูนย์ฯสามารถผลิตชิพภายในประเทศเอง ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างผลงานที่วัดได้ หากรัฐจะสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.