กรมการปกครอง ประเดิมบัตรประชาชนไฮเทคปีแรก 16 ล้านใบ

. ไอซีที รับบทเจ้าภาพหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องผลักดันโครงการ
กรมการปกครอง รับมติ ครม. ออกบัตรสมาร์ทการ์ดบริการประชาชนฟรี ดีเดย์ พ..นี้ ระบุชั้นต้นรองรับการให้บริการ หน่วยราชการนำร่อง 4 กลุ่มก่อน ด้านกระทรวงไอซีทีหวังเพิ่มเทคโนโลยีสแกนม่านตา-นิ้วมือ

 

นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้ปรับแนวนโยบายให้เป็นไปตามมติของ ครม. เมื่อวันที่ 1..ที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้กรมเป็นศูนย์กลางที่จะออกบัตรสมาร์ทการ์ด ที่เป็นบริการพื้นฐานให้กับประชาชน นอกเหนือจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และข้อมูลของประชาชน แล้วยังรองรับข้อมูลและบริการของหน่วยงานราชการอื่นได้ด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสะดวกที่ประชาชนจะถือบัตรสมาร์ทการ์ดใบเดียว และใช้งานได้หลายแอพพลิเคชั่น อีกทั้ง ครม. ยังระบุให้บัตรสมาร์ทการ์ด เป็นบริการขั้นพื้นฐาน ที่รัฐจะให้กับประชาชน ดังนั้น จึงไม่ต้องเสียค่าบริการในการทำบัตรประชาชน ที่ใช้สมาร์ทการ์ด จากนโยบายเดิม ที่กรมมองว่า สมาร์ทการ์ด จะเป็นเพียงทางเลือกซึ่งประชาชนที่สนใจจะใช้ก็ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 72 บาท เป็นค่าชิพ

 

"จากมติดังกล่าว ประชาชนที่ต้องการทำบัตรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และคาดว่าหากไม่มีอะไรผิดพลาดทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่จะสามารถให้บริการได้เดือนพฤศจิกายน นี้" นายสุรชัย กล่าว โดยกำลังทำเรื่องเสนอขอแปรญัตติงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อการจัดซื้อจัดหาชิพสำหรับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ไปยังสำนักงบประมาณ ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณการทำบัตรประชาชน 10 ล้านใบ และเมื่อเปลี่ยนนโยบายขยายให้รองรับบริการของหน่วยราชการอื่น คาดว่าต้องทำเพิ่มอีก 6 ล้านใบเป็น 16 ล้านใบ

 

ขณะเดียวกัน กรมฯ กำลังเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาจัดทำระบบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ คือ โครงการทำระบบทะเบียนราษฎร์ใหม่โดยระบบออนไลน์คอมพิวเตอร์ ครอบคลุมทุกพื้นที่อีก 572 สำนักทะเบียนทั่วประเทศ จากที่ดำเนินการไปแล้ว 505 สำนักทะเบียน เพราะข้อมูลทะเบียนราษฎร์เป็นข้อมูลหลักที่ใช้ออกบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต่อไปประชาชนจะสามารถทำบัตรประชาชนที่สำนักงานอำเภอในเขตใดๆ ก็ได้ ทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะสำนักงานที่สำมะโนครัวตั้งอยู่เท่านั้น และไม่ต้องถือสำเนาทะเบียนบ้านอีกต่อไป ส่วนระบบที่ 2 คือ ระบบบัตรประชาชนอเนกประสงค์สมาร์ทการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งออกแบบมาตรฐานเทคนิครองรับไว้แล้ว แม้เปลี่ยนแปลงนโยบายต้องรองรับแอพพลิเคชั่นของหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนการประมูลใหม่ คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะประกาศผลผู้ชนะทั้งสองระบบ

 

นำร่อง 4 หน่วยงานหลัก

ทั้งนี้ เบื้องต้นบัตรสมาร์ทการ์ดจะรองรับการใช้งานของ 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย งานประกันสุขภาพ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, งานประกันสังคม, บัตรเกษตรกร ที่ระบุประเภทของเกษตรกร และพนักงานข้าราชการที่ระบุสังกัด ส่วนอนาคตหากหน่วยงานใดพร้อมก็สามารถเชื่อมโยงระบบและเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในบัตรสมาร์การ์ด ที่มีความจุข้อมูล 32 เค (กิโลไบต์) ซึ่งรองรับการใช้งาน 34 หน่วยงาน

 

"สำคัญที่ข้อมูลในบัตรเบื้องต้นจะมีข้อมูลเลขหมายประจำตัว ลายพิมพ์นิ้วมือ รูปถ่าย ก่อน ซึ่งการอัพเดทข้อมูลของตนเอง ก็เป็นสิทธิที่แต่ละคนทำได้ ส่วนของหน่วยราชการ จะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะข้อมูลของหน่วยงานตนเอง และเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบซึ่งต้องมีรหัสผ่านการเข้าระบบด้วย เพื่อรักษาชั้นความลับ และข้อมูลส่วนบุคคล" นายสุรชัย กล่าว ทั้งนี้เมื่อมีการปรับระบบมาใช้สมาร์ทการ์ดแล้ว ก็จะใช้งบประมาณทำระบบเท่าเดิม เฉลี่ย 30 บาทต่อคนต่อใบ โดยแต่ละปีใช้งบ 1,800 ล้านบาท สัดส่วนครึ่งหนึ่งของงบประมาณ เป็นค่าใช้จ่ายระบบคอมพิวเตอร์และสื่อสาร

 

ไอซีที ยืนยันออกสมาร์ทการ์ดสิ้นปีนี้

ด้าน น..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวสอดคล้องกันว่า ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะต้องมีบัตรสมาร์ทการ์ดใบแรกออกมาใช้งาน ซึ่งระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน นี้ กระทรวงจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อผลักดันบัตรสมาร์ทการ์ดออกใช้งานจริง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำข้อมูลด้านทะเบียนราษฎร์ ใบขับขี่ บัตรประกันสังคม และบัตรข้าราชการ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปติดต่อราชการ หรือการให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ โดยใช้ข้อมูลจากบัตรใบเดียว รวมทั้ง ในอนาคตอาจเพิ่มเติมเทคโนโลยีสแกนม่านตา และสแกนลายนิ้วมือ เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการยืนยันตัวบุคคล ซึ่งจะง่ายต่อการติดต่อราชการมากขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.