"IMD" เลื่อนไทยขึ้นแท่นอันดับ10 เทียบความสามารถแข่งขันทั่วโลก

 

ไอเอ็มดีจัดสหรัฐและฟินแลนด์เป็นอันดับ 1 ในจำนวนประเทศทั่วโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด พิจารณาจากบรรยากาศความน่าลงทุน ขณะที่ไทยมาเป็นอันดับ 10 ขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อันดับ 13

สถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ (Institute for Management Development-IMD) ของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงานว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ประจำปี 2003 ว่า ประเทศที่ครองแชมป์ได้แก่ สหรัฐและฟินแลนด์ ในการพิจารณาจัดอันดับครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ไอเอ็มดีจัดแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็นสองกลุ่ม สหรัฐได้ครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน และนับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 1999 ส่วนฟินแลนด์มาเป็นที่ 1 ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า 20 ล้านคน เลื่อนขึ้นจากอันดับ 2 ในปีที่ผ่านมาที่มิได้มีการจัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

หลายปีที่ผ่านมาไอเอ็มดีจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยพิจารณาจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ แต่ในปีนี้ ไอเอ็มดีจัดอันดับโดยให้ความสำคัญกับความน่าสนใจทางการลงทุน หรือความน่าสนใจของลักษณะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยประสิทธิ ผลของธุรกิจ การทำงานและกฎเกณฑ์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานและการจัดการกับเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนนโยบายภาครัฐในการจัดการให้บริษัทท้องถิ่นไม่นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศสูงเกินความเหมาะสม

ผู้อำนวยการฝ่ายการวัดระดับการแข่งขันของไอเอ็มดีระบุว่า สหรัฐยังคงครองอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรเกิน 20 ล้านคนได้ เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่ต่ำมากและปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูง แต่ก็กล่าวเตือนว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการเสนอแผนลดภาษีของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อาจสร้างหนี้ต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาจส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเงินลงทุนได้ยากมากขึ้น เพราะสหรัฐอาจดึงเงินลงทุนจากทั่วโลกส่วนใหญ่ไป สำหรับประเทศที่อยู่ในอันดับรองจากสหรัฐได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย และเยอรมนี ตามลำดับ โดยไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 10 เลื่อนขึ้นจากอันดับ 13 ของปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนอันดับ 12 เท่าปีก่อน และอินโดนีเซียอันดับ 28 ตกจากอันดับ 25 สำหรับประเทศที่มีประชากรต่ำกว่า 20 ล้านคน ฟินแลนด์มาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยสิงคโปร์ เดนมาร์ก และฮ่องกง จากทั้งหมด 29 ประเทศ

รายงานไอเอ็มดียังระบุถึงปัญหาในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลกด้วยว่า ในปีที่ผ่านมาแม้ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกงทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนิน งานได้เป็นอย่างดี แต่การระบาดของโรคซาร์สคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับของประเทศในภูมิภาคเอเชียปีหน้า ส่วนประเทศหลักๆ ในยุโรป ปัญหาการขาดดุล การปฏิรูปภาครัฐ และมาตรการของรัฐบาลที่เข้มงวดมากเกินไปถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ถ่วงความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ประเทศในละตินอเมริกาต้องเพิ่มระดับความมั่นคงทางการเมืองและการกำหนดนโยบายให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้ เฉพาะอย่างยิ่งอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองและต้องระมัด ระวังอย่างมากในระบบเศรษฐกิจโลกได้แก่ หนี้ภาคเอกชนทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนการที่สินทรัพย์ของกองทุนเงินสงเคราะห์หลายแห่งมีมูลค่าลดลงถึงประมาณ 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รัฐและบรรษัทต่างๆ จำเป็นต้องรีไฟแนนซ์ อย่างเร่งด่วน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.