ไอทีไร้พรมแดน : ประเทศไทยกับก้าวใหม่ของสิทธิบัตร (1)

บริษัทของคนไทย หรือนักประดิษฐ์อิสระทั้งหลาย ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้น ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจขอรับสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ดังกล่าวได้ โดยต้องการให้ได้รับความคุ้มครอง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศพร้อมกัน

 

คงเคยมีคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะขอรับสิทธิบัตรที่เดียวแต่ขอรับความคุ้มครองในหลายประเทศได้ ขอตอบว่าขณะนี้ยังเป็นไปไม่ได้ แต่อีกไม่ช้าไม่นานนี้ การขอคุ้มครองในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นไปได้ เพราะประเทศไทยกำลังพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญา ว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty) หรือที่เรียกโดยย่อว่า PCT เพียงแต่รอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่านั้น

 

ความเคลื่อนไหวที่จะนำประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของ PCT ดำเนินมาต่อเนื่องหลายปี โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจและศึกษาผลดี และผลเสียของการเข้าร่วมเป็นภาคีดังกล่าว ตลอดทั้งขอความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย จนท้ายที่สุดได้มีข้อสรุปเมื่อเร็วๆ นี้ว่าไทยควรจะเข้าสู่ระบบ PCT เพราะน่าจะช่วยให้คนไทยสามารถนำผลิตภัณฑ์จากการประดิษฐ์ใหม่ๆ ไปขอรับความคุ้มครองในประเทศอื่นได้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมการส่งออก เพราะจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของตน จะไม่ถูกลอกเลียนในต่างประเทศได้โดยง่ายหรือไร้หลักประกัน โดยประการสำคัญ PCT มีสมาชิกกว่า100 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมตลาดสำคัญๆ ของสินค้าของไทยเกือบทั้งหมด

 

ก่อนที่จะอธิบายระบบสิทธิบัตรของ PCT จะขอทำความเข้าใจในการจดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศ ในปัจจุบันเสียก่อนเพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ปัจจุบันหากคนไทยต้องการยื่นขอรับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในต่างประเทศ ก็จะต้องยื่นคำขอในแต่ละประเทศ และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ประเทศนั้นๆ กำหนดซึ่งอาจแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องติดตามคำขอในแต่ละประเทศ ต้องแยกชำระค่าธรรมเนียมตามขั้นตอนของแต่ละประเทศ โดยความเร็วหรือช้าในแต่ละขั้นตอนของแต่ละประเทศมักจะไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและจำหน่ายสินค้า เพราะอาจทำได้ไม่พร้อมกันในแต่ละประเทศ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.