ไอพีสตาร์ ขุมทรัพย์ดวงใหญ่ส่องรายได้ชินแซท

 

มุ่งดาวเทียมบรอดแบนด์อันดับ 1 ของโลก

 

ดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งกำลังจะยิงขึ้นสู่วงโคจรภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากเลื่อนกำหนดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นับเป็นฐานรายได้ในอนาคตที่สำคัญของเครือชิน คอร์ป อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องมาจากสมรรถนะของดาวเทียม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

 

ทั้งนี้ จากการที่บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการดาวเทียมรายใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียม 3 ดวง ได้แก่ ไทยคม 1-3 ให้บริการครอบคลุมทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา และยุโรป มีแผนยิง 'ดาวเทียม ไอพีสตาร์' หรือไทยคม 4 ขึ้นสู่วงโคจรภายในไตรมาส 4 นี้ ผู้บริหารประกาศเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไอพี สตาร์ ก้าวสู่การให้บริการดาวเทียมที่รองรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) อันดับ 1 ของโลก ด้วยศักยภาพของตัวดาวเทียมเองที่มีสมรรถนะในการส่งสัญญาณสูงถึง 40 กิกะบิตต่อวินาที ขณะที่ดาวเทียมทั่วไปจะมีสมรรถนะอยู่ระหว่าง 3-4 กิกะบิตเท่านั้น รวมทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียมไทยคม 3 ถึง 20 เท่าด้วย

 

นายดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 กิจการดาวเทียมรองรับบริการบรอดแบนด์ เนื่องจากบริษัทเข้าตลาดเป็นรายแรก จึงย่อมเป็นข้อได้เปรียบ ต่างจากดาวเทียมเดิม ที่คงยากจะแข่งขันกับดาวเทียมระดับโลกอื่นๆ ซึ่งปูพรมบริการรองรับการด้านกระจายสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์มาก่อนได้ สำหรับเป้าหมายอันดับ 1 ที่ตั้งไว้ จากการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ เพื่อนำไปสู่รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล หรืออย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากรายได้ที่ชินแซท เคยได้รับ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตลาดบริการดาวเทียมในปัจจุบันมีมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนผลกำไร คาดการณ์ว่า หากยิงดาวเทียมได้ไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ จะเริ่มสร้างรายได้ในปีแรกของการให้บริการประมาณ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในปีถัดไป ส่วนปีที่ 2 คาดว่า ดาวเทียมศักยภาพสูงดวงนี้จะสร้างรายได้ให้ ชินแซท ถึง 172 ล้านดอลลาร์ จากนั้นปีที่ 3 จะเพิ่มเป็นกว่า 244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากขายช่องสัญญาณเพื่อใช้ศักยภาพครบทุกด้านได้ถึง 50% ของศักยภาพการใช้งานทั้งหมดก็จะคุ้มทุนแล้ว ขณะที่การลงทุนใช้สร้างดาวเทียมกินเวลากว่า 3 ปีดวงนี้ใช้งบลงทุน 443 ล้านดอลลาร์ และขณะนี้ขายช่องสัญญาณกับลูกค้าถึง 70% แล้ว

 

ขณะที่ไอพี สตาร์เตรียมยิงขึ้นสู่วงโคจรนั้น ส่งผลดีต่อความสนใจของนักลงทุนอย่างดีเช่นกัน เมื่อชินแซท เตรียมขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป หรือหุ้นไอพีโอ ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) หากยังกำหนดไม่ได้ เนื่องจากต้องดูภาวะตลาดประกอบด้วย แต่เชื่อมั่นว่ายังอยู่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะตลาดหุ้นมีทิศทางที่ดีขึ้น และต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ เป็นสัญญาณที่ดีว่า ภาวะการลงทุนในครึ่งปีหลังจะส่งผลดีต่อการขายหุ้นพีโอของบริษัท

 

ไอพี สตาร์เสริมรายได้กลุ่มชิน

นอกจากเป้าหมายเพื่อให้บริการตามศักยภาพของไอพี สตาร์โดยตรงแล้ว ข้อดีของไอพี สตาร์ ยังส่งเสริมรายได้ต่อธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มชินที่ให้บริการอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจากกระแส-ทิศทางการใช้บริการโทรคมนาคมในโลก ล้วนไปในทิศทางเดียวกันคือ ลดการใช้โทรศัพท์พื้นฐานไปเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กันดาร ห่างไกล อันเป็นพื้นที่ยากต่อการเดินสายไฟเบอร์ หรือสายทองแดงได้ทั่วถึง เพื่อให้บริการโทรคมนาคมได้

ในส่วนของไอพี สตาร์นั้น เทคโนโลยีรองรับการเพิ่มศักยภาพโทรคมนาคมทั้งด้านเสียง ข้อมูล มัลติมีเดีย บรอดแบนด์ มีช่องทางการทำตลาด เสนอจุดเด่นทางเทคโนโลยีที่ได้เปรียบให้กับลูกค้าผู้ให้บริการโทรศัพท์ (โอเปอเรเตอร์) เจาะกลุ่มผู้ใช้บริการในพื้นที่ซึ่งยังเข้าไปไม่ถึง อันจะนำมาซึ่งรายได้ในอนาคตของโอเปอเรเตอร์ได้

 

นำร่องลาว เชื่อมบริการโทรศัพท์-บรอดแบนด์

ขณะเดียวกัน ประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือวางระบบโครงข่ายโทรคมนาคม เป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญที่ไอพีสตาร์จะเจาะตลาดเข้าไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีจุดเด่นเรื่องต้นทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีอื่น เช่น ไมโครเวฟ หรือเคเบิลใยแก้ว ถึง 3 เท่า ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ ชินแซท ได้ทุ่มเทเงินลงทุนเต็มที่สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในลาว ซึ่งเห็นภาพที่ชัดเจนก่อนจะขยายผลนำเสนอไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเมื่อ 9.. ที่ผ่านมา ชินแซท ได้เปิดเกตเวย์ในลาว ภายใต้การบริการของ ลาว โทรคม บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว 51% และกลุ่มชินในชื่อเชนนินตัน ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ 49% ด้วยงบ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลาว โทรคม จ่ายเงินลงทุนทำเกตเวย์ 1.2 ล้านดอลลาร์ อีก 3 แสนดอลลาร์ที่เหลือรัฐบาลลาวเป็นผู้จ่าย

งบประมาณดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุนด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม 12 ล้านดอลลาร์ ระบบโทรศัพท์พื้นฐานแบบไร้สายด้วยเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ 2000 1x บนคลื่นความถี่ 450 เมกะเฮิรตซ์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ 2000 1x คลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ 4 ล้านดอลลาร์ และขยายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่ม 2-3 ล้านดอลลาร์ จากงบประมาณการลงทุนในลาวทั้งถึงปี 2549 ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใช้งบไปแล้วกว่า 70% โดยแอพพลิเคชั่นแรกจากไอพีสตาร์ ในลาว เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากเครือข่ายกว่า 80 สถานีทั่วประเทศ โดยระบบเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย ทรังค์กิ้ง) ของไอพี สตาร์ เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีควบคุม และสถานีปลายทางในพื้นที่ห่างไกลให้รับสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทั่วประเทศ รวมถึงเพื่อประโยชน์ในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บรอดแบนด์ และอื่นๆ ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศลาว

 

สะท้อนมุมมองการขยายตลาดของกลุ่มชิน

สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ ชินแซทเล็งอนาคตอันยาวไกล และยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะนำกลยุทธ์นี้ หรือดัดแปลงนำเสนอตัวอย่างที่เกิดขึ้นในลาว ไปใช้ในประเทศอื่นๆ เพราะลาว โทรคม ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งระบบจีเอสเอ็ม 900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์อยู่แล้ว ขณะที่เตรียมให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานระบบซีดีเอ็มเอ 450 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะเริ่มให้บริการ 1..นี้ และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอ 2000 1x ความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ใน ม.. ปี 2548 สำหรับอุปกรณ์โครงข่ายซีดีเอ็มเอ ในลาวนั้น เลือกซื้อจากบริษัทหัวเหว่ย โดยไอพี สตาร์ จะเชื่อมโยงโครงข่ายด้วยสัญญาณดาวเทียม ให้ครอบคลุมพื้นที่ประชากร ที่ยังเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพราะอุปสรรคที่ผ่านมาแม้มีประชากรที่ต้องการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่การวางระบบไปไม่ถึง ทำให้เสียโอกาสการตลาด ดังนั้นการรุกตลาดในลาวด้วยไอพี สตาร์นี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้โทรศัพท์ทั้งระบบพื้นฐานและเคลื่อนที่เป็น 1 ล้านรายภายในปี 2549 นี้ จากปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์ทุกระบบรวมกันประมาณ 200,000 รายและจะเป็น 250,000 รายภายในสิ้นปีนี้ ตลอดจนให้บริการบรอดแบนด์ เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ลาวในการให้บริการอี-กอฟเวิร์นเมนต์ อี-คอมเมิร์ซ ต่อไป

 

โดยเหตุนี้ลาวจึงกลายเป็นประเทศหนึ่งที่วางระบบสื่อสาร โทรคมนาคมทันสมัย จนขนาดที่นายอธิป ฤทธาภรณ์ กรรมการสภาบริหาร ลาว โทรคม ซึ่งเป็นผู้บริหารจากกลุ่มชิน กล่าวว่า ในลาวมีการวางโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น นั่นเป็นเพราะประเทศลาวลงทุนเทคโนโลยีทีหลังไทย จึงเป็นข้อได้เปรียบเพราะได้เทคโนโลยีทันสมัยกว่า รวมถึงเป็น 'ต้นแบบ' ให้กลุ่มชิน ทดสอบเทคโนโลยีและบริการที่มีอยู่ นอกจากโทรศัพท์พื้นฐาน ทั้งเทคโนโลยีมีสาย ใช้คลื่นวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ บรอดแบนด์ และบริการอื่นๆ ในอนาคต ผ่านบริษัทลาวโทรคม แห่งนี้ และในอนาคต ชินแซท จะใช้ไอพี สตาร์เป็นตัวขยายธุรกิจไปประเทศอื่นๆ ต่อยอดจากต้นแบบที่เกิดขึ้นในลาวไปทั่วโลกต่อไป

 

เชื่อมโยงธุรกิจมือถือรองรับ 3 จี

สิ่งที่น่าสนใจของรูปแบบทางธุรกิจในลาว อย่างหนึ่งคือ เลือกใช้ระบบซีดีเอ็มเอมาให้บริการ ซึ่งนายอธิป กล่าวไว้ว่า เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะ ?กีดกัน? คู่แข่งอื่นก่อนเข้าทำตลาดเดียวกัน ทั้งยังได้เปรียบในเชิงเทคโนโลยีที่มุ่งสู่ 3จี และมีไลเซ่นให้บริการโทรศัพท์ระบบ 3จีได้ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้คู่แข่งอื่นๆ จึงยากที่จะแข่งขันได้ เพราะเป็นย่านความถี่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยการให้บริการโทรศัพท์ระบบซีดีเอ็มเอ บริษัทคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 38.2 ล้านดอลลาร์ เป็น 40 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และมีหลายรายอยู่ระหว่างการติดต่อรัฐบาลลาวเพื่อทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทำก่อนจะมีคู่แข่งเข้ามาแน่นอน จึงต้องเร่งสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุดก่อนคนอื่น ซึ่งลาว โทรคมได้ทุ่มงบประมาณการตลาดปีนี้ไว้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 20% เพื่อรองรับบริการที่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หากมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ของไทยจัดตั้งขึ้น กลุ่มชินคอร์ปจะร่วมเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1900 เมกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือในยุค 3จี สำหรับการให้บริการในไทย และจากข้อได้เปรียบที่มีเทคโนโลยีครบวงจรนี้ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มให้เติบโตต่อไป 'ไอพีสตาร์มีประโยชน์มากสำหรับการใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณในพื้นที่ห่างไกล อย่างในชนบท หรือพื้นที่ซึ่งเคเบิลและไมโครเวฟไม่คุ้มค่าในการลงทุน เช่น ระบบ 470 เมกะเฮิรตซ์ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น ก็สามารถนำคลื่นความถี่นี้มาให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานด้วยเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอได้อย่างในลาวเช่นกัน เพื่อให้สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็ว 150 กิโลบิตต่อวินาที ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทศท เช่าใช้ปัจจุบัน' นายดำรง กล่าว

 

ส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมรายแรกในไทย

จากการขายช่องสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน กินยาว หากขายได้แต่ละช่องแล้ว ชินแซท ยังได้เล็งเห็นลู่ทางสร้างรายได้จากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม ทั้งอุปกรณ์เกตเวย์ และเทอร์มินัล ดาวเทียม สำหรับลูกค้าที่เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมดวงอื่นอยู่แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องการหาอุปกรณ์เทอร์มินัลให้สามารถทำงานร่วมกันทั้งระบบได้ โดยอนาคตตลาดด้านนี้จะเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าปี 2548 จะจำหน่ายอุปกรณ์เกตเวย์และเทอร์มินัลได้ประมาณ 10,000 ชุดผ่านการทำตลาดร่วมกับพันธมิตร และหลังยิงดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว หากคืนทุนได้ครึ่งหนึ่งของมูลค่าดาวเทียมที่ราว 400 ล้านดอลลาร์ ก็จะพิจารณาสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์ดวงที่ 2 ขึ้น ตามปริมาณความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้ชินแซท เป็นบริษัทโทรคมนาคมในไทยรายแรกและรายเดียวในปัจจุบันที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ

 

ทั้งนี้ เป็นการผันบทบาทจากผู้บริการดาวเทียมย่านเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ ส่วนปีหน้าจะขยายไลน์มาเป็นผู้จำหน่ายด้วย หลังจากที่ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีประเทศในแถบละตินอเมริกา อินเดีย ติดต่อเข้ามาแล้ว และต่อไปจะจำหน่ายไปทั่วโลก ทำตลาดร่วมกับพันธมิตรนำเอาเทคโนโลยี ไอพีสตาร์ ผนวกกับอุปกรณ์ของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่าทำงานร่วมกันได้กับทุกยี่ห้อ เช่น อีริคสัน โนเกีย ซีเมนส์ และอัลคาเทล สำหรับรายได้ทางตรงและจะเป็นรายได้ที่ยั่งยืนนี้มีมากกว่า 70% ของขอบเขตพื้นที่ให้บริการแล้ว โดยจีน สร้างรายได้จากการให้บริการจำนวน 25% ประเทศอินเดีย 15% ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ประเทศละ 10% รายได้จากไทยประมาณ 7%

 

ทั้งนี้ การรุกตลาดของชินแซท จะเสริมสร้างรายจากต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีรายได้กว่า 90% จากต่างประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปี 2547 มีรายได้ทั้งสิ้น 1,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท หรือ 5% จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต มีรายได้ในลาวเพิ่มขึ้น 3% เป็น 147.8 ล้านบาท จาก 143.4 ล้านบาทในระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ในประเทศกัมพูชามีรายได้ 198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จาก 191 ล้านบาทจากรอบระยะเวลาเดียวกันของปี 2546 โดยชินแซท มีรายได้รวมจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตจากบริษัทย่อย เพิ่มขึ้น 73.9% เป็นเงิน 357 ล้านบาท สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจภายหลังการรวมกิจการระหว่างซีเอส อินเตอร์เน็ต และล็อกซ์อินโฟ หนึ่งในผู้นำธุรกิจอินเทอร์เน็ตของไทย นอกจากนี้ชินแซทเทลไลท์ได้ดำเนินโครงการไอพีสตาร์ และสามารถขายอุปกรณ์ปลายทางระบบไอพีสตาร์ (IPSTAR User Terminal: UT) เพิ่มขึ้น 529% เมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ 191 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.44 บาท

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.