การปรับตัวของอุตสาหกรรมไอทีปี 2545 (2)

นอกเหนือจากการปรับตัว ของยักษ์ใหญ่ ในอุตสาหกรรมพีซี ชิพ และโอเอสแล้ว ความเคลื่อนไหว ของอุตสาหกรรม อินเทอร์เน็ต ที่น่าจับตามองมีอยู่ 2 ประการ คือ อันดับแรกคือเครือข่าย "เวบ เซอร์วิส" เทคโนโลยี ที่จะช่วยให้ซอฟต์แวร์ต่างภาษา และต่างระบบ สามารถสื่อสารกันได้ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยหากสามารถพัฒนาได้สำเร็จ จะส่งผลให้บริษัทและผู้บริโภคทั่วไป สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลลับ ทำธุรกรรม และเปิดบริการอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ผู้ที่ถือครองข้อมูลเหล่านี้ ก็จะสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลอย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไอทีหลายราย ต่างทุ่มลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว โดยมีไมโครซอฟท์นำทีมมาด้วยกลยุทธ์ "ดอทเน็ต" (.Net) พร้อมๆ กับเอโอแอล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่ง ซึ่งชูบริการ "มาย เอโอแอล" เข้าแข่ง ส่วนไอบีเอ็มก็ไล่ตามมาด้วยเทคโนโลยี "เวบสเฟียร์"

 

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ธุรกิจเวบไซต์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้อยู่รอดได้ ก็คือการขยายเวบไซต์ให้เป็นชุมชนออนไลน์ ที่ครอบคลุมสินค้าและบริการจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้มีอีเบย์และอะเมซอนขับเคี่ยวกันอยู่อย่างถึงพริกถึงขิง

 

แข่งเดือดอุตสาหกรรมมือถือ

อันดับแรก คือ โนเกีย ผู้ผลิตอันดับหนึ่งรายนี้ได้ลุยเปิดตัวโทรศัพท์มือถือทั้งรุ่นธรรมดา รุ่นจอสี หรือแม้แต่ติดกล้องดิจิทัลไปแล้วกว่า 30 รุ่น ในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมประกาศผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้นทุนต่ำ เพื่อเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย เขตชนบทของประเทศจีน และอเมริกาใต้โดยเฉพาะ ส่วนโมโตโรล่า ผู้ผลิตอันดับสองของโลก ปรับกลยุทธ์โดยหันมาผลิตมือถือระดับล่างรุ่น ซี330 ป้อนผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายสหรัฐหลายราย เพื่อวางจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อของตนเอง พร้อมเผยเทคนิค ใช้ชิ้นส่วนภายในชนิดเดียวกัน ขณะที่ออกแบบให้มีรูปทรงภายนอกต่างกัน ด้านบริษัทซัมซุง ประกาศเตรียมผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรก ที่ใช้ซอฟต์แวร์สมาร์ทโฟน 2002 ของไมโครซอฟท์ พร้อมชูกลยุทธ์เด่นในการผสมผสานเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้ากับอุปกรณ์พกพา ซึ่งช่วยให้เครื่องสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายได้ ขณะที่ย้ำว่าทางบริษัทไม่มีนโยบายแข่งขันในตลาดมือถือจอสีระดับล่างอย่างบริษัทอื่นแต่อย่างใด

บริษัทซีเมนส์ ซึ่งล่าสุดปฏิเสธข่าวแลกธุรกิจมือถือกับบริษัทโมโตโรล่า มีแนวทางสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทโดยวิธีลดค่าใช้จ่ายในการค้นคว้าวิจัย และหันมาซื้อสิทธิบัตรซอฟต์แวร์จากโนเกียเพื่อผลิตโทรศัพท์อัจฉริยะรุ่นใหม่แทนการพัฒนาขึ้นเอง แต่ยังคงมุ่งพัฒนาโทรศัพท์ 3จีของตนเอง เพื่อตอบรับกระแสเทคโนโลยีใหม่ และสุดท้ายบริษัทโซนี่ อีริคสัน ก็เล็งตอบโต้มือถือราคาถูกที่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้ โดยวางแผนส่งรุ่น ที100 (T100) วางจำหน่ายในต้นปีหน้า เพื่อเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นโดยเฉพาะ ขณะที่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ประกาศเชิญโปรแกรมเมอร์ภายนอกให้เข้ามาร่วมพัฒนา "คิลเลอร์ แอพพลิเคชั่น" สำหรับโทรศัพท์อัจฉริยะรุ่น พี800 (P800) แข่งกับยักษ์ใหญ่โนเกีย และวางแผนที่จะเปิดเผยระบบงานของโทรศัพท์ดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วย เพื่อตามเทรนด์กระแสโอเพ่นซอร์สที่กำลังมาแรง

 

รีลไทม์ อนาคตซอฟต์แวร์องค์กร

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า องค์กรธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก จะทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นบริษัท ณ เวลาจริง หรืออาร์ทีอี (real time enterprise - RTE) ตามทฤษฎีแล้วจะหมายถึงองค์กรที่อุปกรณ์รับส่งข้อมูลภายในทั้งหมดเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยให้พนักงานในบริษัทสามารถส่งข้อมูลไปยังบุคคลใดก็ได้ ในทุกที่ทุกเวลา ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ "อโกรา" (Agora) ของเอชพีและไมโครซอฟท์ ที่จะช่วยให้พีซีมีคุณสมบัติในการสื่อสาร ณ เวลาจริง อาทิ การใช้ประชุมระยะไกลผ่านจอภาพ หรือใช้แทนโทรศัพท์ แนวคิดนี้อาจจะฟังดูสวยหรู แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีอุปสรรคที่สำคัญก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเชื่อมโยงระบบการสื่อสารที่หลากหลายในปัจจุบันให้สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ ดังนั้น ผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีตัวกลางนี้ได้สำเร็จ ก็จะสามารถกวาดรายได้จำนวนมหาศาล เฉกเช่นเดียวกับที่ บิล เกตส์ โกยทรัพย์มาแล้วในยุคที่วินโดว์สครองตลาดระบบปฏิบัติการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยืนยันว่า ตลาดดังกล่าวจะเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งทุกฝ่ายน่าจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้พร้อมหน้ากันอย่างน้อยเป็นเวลา 4 ปีข้างหน้า และหากมีผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีตัวกลางได้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าผู้บริโภคจะยังสามารถใช้ระบบอันหลากหลายเช่นนี้ได้อยู่เช่นกัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.