ตามรอย ไอทีพระราชดำริ ฝันที่เอื้อมถึงของ ผู้ด้อยโอกาส

 

เอกรัตน์ สาธุธรรม

เด็กหนุ่มเมืองกรุงคนหนึ่ง กำลังต่อรองขอรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ก็สามารถ LOGIN เข้าอินเทอร์เน็ตเล่นเกมในระบบเสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทางได้อย่างไม่ยากเย็น ย้อนกลับมาในเวลาเดียวกัน ต่างเพียงสถานที่ และวาระของการใช้ชีวิต เด็กชายคนหนึ่งตาพิการ มองอะไรไม่เห็น อาศัยอยู่นอกตัวจังหวัด บ้านของเขาไกลจากตัวเมืองหลายสิบกิโลเมตร กำลังฟังข่าวไอทีจากวิทยุถึงความน่าตื่นเต้นของอินเทอร์เน็ต ?.เขาอยากเล่นคอมพิวเตอร์ แต่เขาจะมองจอคอมพิวเตอร์เหมือนคนปกติได้อย่างไร การสัมผัสแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์แค่สักครั้ง มันก็ดูจะยากเหลือเกิน??..

 

ปัญหา ดิจิทัล ดีไวด์ (Digital Devide) หรือความไม่เท่าเทียมกันทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานหลายปี หลายองค์กร หลายสถาบันทั้งภาครัฐ และเอกชน มีความร่วมมือกันในโครงการต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสามารถแค่ ทำให้มันดีขึ้น ณ เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ หนึ่งในโครงการที่เป็นรูปธรรมของการ บรรเทา ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเทคโนโลยีในสังคมไทย ที่ผ่านมา เกิดโครงการหลายโครงการ ที่ทำให้คนซึ่งไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าจะได้สัมผัส หรือได้เห็นสิ่งที่เขาเรียกว่ากัน ของไฮเทค มีฝันที่เป็นจริง แม้เขาเหล่านั้น จะไม่สามารถเรียนรู้ หรือได้สัมผัสประสบการณ์ทางเทคโนโลยีได้เต็ม 100% เหมือนคนปกติทั่วไปก็ตาม  ใครจะคิดว่า นักโทษชายในเรือนจำ ที่ใครก็คงคิดว่าเขา ไม่มีสิทธิ ที่จะได้เห็น หรือสัมผัสคอมพิวเตอร์ความเร็วขนาดกิกะเฮิรตซ์ จะสามารถนั่งหน้าคอมพิวเตอร์กดแป้นพิมพ์ มองการประมวลผลบนหน้าจอด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข ฟังการสอนของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ...... แน่นอนว่า เขาไม่เคยคิด ว่าจะได้รับสิทธิตรงนี้

 

พระราชดำริฯ สร้างฝันเป็นจริง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในอันที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชน ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงใช้ไอทีหลายรูปแบบในโครงการพัฒนา เพื่อนำความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดกับประชาชนชาวไทย พระองค์ทรงตระหนักถึงประโยชน์ และความสำคัญของไอที ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการ และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริม และพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพของเด็กไทยในชนบท เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้พิการผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ

 

การดำเนินการโครงการนี้ มีคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานกรรมการ มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ประสานงาน ติดตามผลการดำเนินงานทั้งกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กิจกรรมหลักของโครงการ จะให้การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่โรงเรียน หน่วยงานในโครงการ การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแก่บุคลากรของหน่วยงานในโครงการนักเรียนชนบท และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนเสนอแนะ และประสานการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อตอบสนองพระราชดำริฯ โครงการนี้ ได้แบ่งโซนของการดำเนินการ อุดช่องว่าง และ เข้าไปเติมเต็ม ทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน คือ ไอทีสำหรับการศึกษา ไอทีสำหรับคนพิการ ไอทีสำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล ไอทีสำหรับผู้ต้องขังในทัณฑสถาน

 

โครงการไอทีเพื่อการศึกษา

นักเรียนในชนบท เป็นกลุ่มที่โครงการเน้นเป็นพิเศษ เพราะต้องการให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงไอที และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันเป็นการพัฒนาครู และบุคลากรของโรงเรียนในชนบทให้สามารถใช้เครื่องมือด้านไอที และถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมที่สำคัญของโครงการ จะให้การสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การสร้างบทเรียน ตลอดจนการจัด หรือสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรของโรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 70 โรงเรียน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลเพื่อปรับปรุงการดำเนินการของโรงเรียนในโครงการ และเพื่อนำมาตัดสินใจวางแผนการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ในโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงานดี ก็จะทรงพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ใหม่กว่าเครื่องที่ทรงพระราชทานครั้งแรก ซึ่งโดยมากจะเป็นเครื่องมือสอง ที่มีผู้บริจาคมา เพื่อให้โรงเรียนใช้งานได้กว้างขวางขึ้น และทรงแนะนำให้ใช้เครื่องเก่าสำหรับฝึกพิมพ์ดีด หรือใช้เป็นอุปกรณ์การสอนพื้นฐานของคอมพิวเตอร์แทน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะรองประธานโครงการเล่า

 

ฝันที่เป็นจริงของนักโทษ

นักโทษ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่หลายคนอาจคิดว่า สังคมทอดทิ้ง แต่โครงการนี้ไม่ทิ้ง เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงดำริว่า.... ผู้ต้องขังต้องได้รับความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้ และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ไปใช้ประกอบอาชีพได้เมื่อพ้นโทษ รวมไปถึงให้ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างรายได้ และคุณค่าต่อตัวเอง

ปัจจุบันมีทัณฑสถานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4 แห่ง คือทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเรือนจำคลองเปรม โดยทัณฑสถานแต่ละแห่งจะได้รับการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้นตามหลักสูตรของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (150-200) ชั่วโมง ทัณฑสถานได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ต้องหาที่จะเข้ารับการอบรม เช่น ต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป ไม่เคยเรียนคอมพิวเตอร์มาก่อน อายุระหว่าง 18-35 ปี มีความประพฤติดี เป็นต้น ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรเมื่อผ่านการทดสอบ

นอกเหนือจากการอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์พื้นฐานแล้ว โครงการยังจัดหลักสูตรที่สูงขึ้น เช่น หลักสูตรซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักสูตรการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งได้จัดหางานด้านการพิมพ์หนังสือมาว่าจ้างผู้ต้องขัง ด้วยความคาดหมายว่า เมื่อผู้ต้องขังได้รับการอบรมในหลักสูตรที่สูงขึ้น จะทำให้พวกเขามีผลงาน และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับจ้างพิมพ์งาน การออกแบบ และทำการ์ดอวยพร การทำปฏิทิน ตกแต่งภาพโบรชัวร์ และการซ่อมคอมพิวเตอร์

 

ไอทีของขวัญล้ำค่าเพื่อเด็กป่วย

เด็กป่วยเรื้อรัง เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของโครงการ เพื่อให้เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กป่วย ซึ่งจะขาดโอกาสทางการศึกษาเมื่อต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลมหานครเชียงใหม่ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) โดยโรงพยาบาลเหล่านี้จะได้รับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และโปรแกรมช่วยการเรียน การสอนจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาใช้จัดหลักสูตรการเรียน การสอนสำหรับเด็กป่วย โดยมีครูการศึกษาพิเศษจากกระทรวงศึกษาธิการ มาปฏิบัติหน้าที่ดูแลการเรียน การสอนของเด็กในโรงพยาบาล จากการติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาล พบว่าโดยทั่วไปเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เด็กยังได้รับความเพลิดเพลิน พอใจ และสนุกกับเกม หรือบทเรียนต่างๆ คลายความรู้สึกหดหู่จากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยลงได้บ้าง รองประธานโครงการฯ เล่าต่อ

 

ตัวพิการแต่หัวใจสู้

คนพิการ กลุ่มคนที่ดูจะเสียเปรียบคนปกติทุกเรื่องอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่คงต้องยกเว้นไว้ในเรื่อง ไฮเทค ถึงแม้จะได้เต็มร้อย แต่ก็ถือว่า เขามี โอกาส ได้ใช้งาน และเรียนรู้ โครงการนี้ศึกษาวิจัย และพัฒนาระบบไอที อุปกรณ์โปรแกรม สื่อการสอน เพื่อให้คนพิการได้ใช้งานในราคาที่ย่อมเยากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้ใกล้ชิดได้ ที่ผ่านมา อุปกรณ์ไอทีสำหรับคนพิการผลผลิตจากโครงการ มีออกมาให้เห็นกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโปรแกรมฝึกพูด (Speech Viewer) มาใช้เพื่อช่วยในการฝึกการออกเสียง และฝึกพูด ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดทำอุปกรณ์สัญญาณเสียง เพื่อช่วยในการเดินทางของคนตาบอด โดยนำไปติดตั้งที่รถประจำทาง เพื่อให้คนตาบอดทราบว่ารถประจำทางที่กำลังแล่นมาเป็นรถหมายเลขอะไร จะวิ่งไปไหน อุปกรณ์สำหรับช่วยสื่อสารขนาดพกพา สำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการออกเสียง (โอภา) เพื่อให้สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ การพัฒนามัลติมีเดียภาษามือเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการสอนคอมพิวเตอร์แก่คนหูหนวก หูตึง และอบรมล่ามภาษามือ

 

ปฐมบทแห่งการอุดช่องว่าง ดิจิทัล ดีไวด์

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บอกว่า ปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันทางเทคโนโลยี (Digital Devide) ขณะนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะแก้ไขอย่างไร มีหลายวิธีที่จะทำ เพียงแต่ปริมาณ หรือความถี่ของวิธีการเหล่านี้ที่จะดำเนินการยังมีน้อยอยู่ ส่วนใหญ่ก็ทำเท่าที่กำลังจะมี ความรู้ในเรื่องของการแก้ดิจิทัล ดีไวด์ ผมกล้าพูดได้เลยว่า โครงการนี้ช่วย และรู้เยอะมากที่สุดในประเทศไทย มีการขยายผล แต่จะขยายได้มากหรือน้อย ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ เจ้าภาพในที่นี้หมายถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องสานต่อโครงการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รวมไปถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหน่วยงานเหล่านี้ นอกจากจะรับรู้แล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงปัญหาของดิจิทัล ดีไวด์นั้นจริงๆ แล้วอยู่ตรงไหนบ้าง และวิธีการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร โครงการในพระราชดำรินี้ ใช้งบประมาณราว 11 ล้านบาทต่อปี เป็นเงินที่ใช้หมุนเวียนภายในโครงการ นำไปใช้ซื้ออุปกรณ์พระราชทานในที่ต่างๆ รวมถึงนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับงานบางส่วน เช่น การศึกษาในโรงเรียนประถม จะใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างซอฟต์แวร์ในประเภทมัลติมีเดีย หรือพวกซีดีที่เป็นเอดูเทนเม้นท์ มีเงินอีกส่วนใช้ในการวิจัย และพัฒนา ก็เอาไปพัฒนาวิจัยในส่วนของอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ อย่างเช่นที่ผ่านมาในส่วนของเครื่อง โอภา เป็นกล่องที่กดปุ่ม แล้วพูดได้ สำหรับผู้พิการ แต่เวอร์ชั่นที่เมืองไทยนั้นมีราคาถูกกว่าเมืองนอก เช่น ที่ขายกันอยู่ในแคนาดาแพงกว่านี้ 4 เท่า ดังนั้นเราก็มีของของเราใช้เอง ไม่ต้องพึ่งของต่างประเทศ คนพิการสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนคนปกติ เป็นแรงผลักหนึ่งของการทลายกำแพงดิจิทัล ดีไวด์

ในขณะที่กฎหมาย ซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมกันของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ อันว่าด้วยเรื่องของเทคโนโลยี ยังไม่สามารถตราออกมาได้ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปหลายปี หากการลงมือกระทำน่าจะได้ผลที่ดีกว่า และโครงการตามพระราชดำริ ก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ดี ของการถมช่องว่างดิจิทัลระหว่างคนปกติกับผู้ด้อยโอกาส

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.