รายงาน : ซิป้าคิดแผนสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 6 หมื่นล้าน

"รัฐควรช่วยสนับสนุนเจรจาต่อรอง ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่เป็นพื้นฐาน ของการสร้างงานกลุ่มซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น และมัลติมีเดีย"

หลังจากล้มๆ ลุกๆ อยู่นาน วงการซอฟต์แวร์มีโอกาสตั้งความหวังรอบใหม่ หลังเกิด "ซิป้า" ผู้ประกอบการเห็นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ขอเพียงรัฐจริงใจ สานงานต่อเนื่อง จากที่ประชุมสัมมนา "ซอฟต์แวร์ไทยบนมาตรฐานสากลกับความท้าทายของตลาดไอที" วานนี้ (17) นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า ไทยยังมีโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งในส่วนของซิป้า จะมุ่งสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ 3 ด้านหลัก คือ เอ็นเตอร์ไพร้ซ, แอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย, และอุปกรณ์พกพา สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่น การร่วมลงทุนกับเอกชน คาดว่า ต้องใช้งบประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน เช่น การร่วมทุนผลิตซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น โดยลิขสิทธิ์เป็นของผู้พัฒนา แต่เมื่อเกิดรายได้จากผลงานนั้น ซิป้าจะขอส่วนแบ่งไม่เกิน 10% เป็นต้น

 

เชื่อกระตุ้นยอดเป็น6หมื่นล้าน

"ซิป้า จะทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อขอความเห็นชอบต่อแผนงาน ซึ่งหากผ่านบอร์ดแล้ว จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จากนั้นแผนดังกล่าวก็เกือบจะชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ" นายมนู กล่าว  ทั้งนี้ หากแผนงานดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ และได้รับงบประมาณดำเนินการ เชื่อว่า ภายใน 3-5 ปี จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ทำรายได้ 5-6 หมื่นล้านบาท "ปกติอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะมียอดเติบโตปีละ 2,000 ล้านบาท หากปล่อยให้เติบโตไปตามเดิมโดยไม่มีมาตรการกระตุ้น ภายใน 5 ปี มูลค่าอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น" นายมนู กล่าว

 

หวังรัฐต่อรองลิขสิทธิ์

นายศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิเมจิแมกซ์ จำกัด กล่าวว่า การมีซิป้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น และมัลติมีเดีย ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนเจรจาต่อรองซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างงานกลุ่มนี้ เพราะปัจจุบันราคาซอฟต์แวร์ราคาสูง คิดต่อไลเซ่นประมาณ 4 แสนบาทต่อ 1 ปี และต้องเสียค่าอัพเกรดโปรแกรม 20% ต่อปี ขณะที่ญี่ปุ่นจะเสียค่าไลเซ่นถูกกว่า จากค่าเงินญี่ปุ่นสูงกว่าไทย "หากต่อรองให้ได้ก็จะช่วยทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยที่ส่วนใหญ่มีโอกาสสร้างงานสู่ระดับชาติได้ดียิ่งขึ้น" นายศักดิ์ศิริ กล่าว

อีกปัญหาที่ต้องการให้รัฐช่วยคือ การสร้างความเข้าใจกับแหล่งเงินทุน หรือธนาคาร ให้เข้าใจว่าธุรกิจแอนิเมชั่นมีความสำคัญต่อการสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล เพราะทุกวันนี้ภาคเอกชนเข้าไปขอเงินทุนสนับสนุนก็จะได้รับการปฏิเสธ กระทั่งกองทุนแอคเซส วัน ก็ยังมีข้อจำกัดให้วงเงินต่อบริษัทไม่เกิน 25 ล้านบาท หรือส่วนใหญ่จะได้รับ 10-20 ล้านบาท

 

สร้างบุคลากรเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสายอาชีพด้านแอนิเมชั่น ยังเป็นเช่นเดียวกับบุคลากรไอทีสายอื่นๆ ปัจจุบันมีผู้จบด้านนี้โดยตรงไม่ถึง 20% ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาต่อยอดด้านกราฟฟิกดีไซน์ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม หากภาคการศึกษาเปิดสอนหลักสูตรด้านนี้มากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน อีกทางหนึ่ง

 

ตั้งดิจิทัลเซ็นเตอร์ แห่งเอเชียแปซิฟิก

ในส่วนของบริษัทเอง ขณะนี้กำลังเตรียมสร้างศูนย์ดิจิทัล เซ็นเตอร์ โดยจะร่วมเป็นพันธมิตรด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจากต่างประเทศ เพื่อรองรับการเรียนการสอนในลักษณะหลักสูตร ประกาศนียบัตร

รวมทั้งจะให้เป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลในลักษณะอี-ไลบราลี่ และสตูดิโอ แก่บริษัทต่างๆ ที่ผลิตงานแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย โดยใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท จากการกู้เงินแหล่งทุน โดยสร้างศูนย์บนพื้นที่ 3 ไร่ย่านสาทร "อุปกรณ์ต่างๆ จะหาพันธมิตร หรือสปอนเซอร์ให้นำอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ มาใช้ในการเรียน การสอน เช่น บริษัทโซนี่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2547 ซึ่งบริษัทเองก็จะย้ายเข้าไปยังศูนย์ดังกล่าวในไตรมาสสุดท้ายของปี" นายศักดิ์ศิริ กล่าว

ส่วนผลประกอบการของบริษัทปีนี้มีรายได้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการผลิตเกมให้บริษัทญี่ปุ่น และทำคอมพิวเตอร์ เอฟเฟคท์ให้ภาพยนตร์ไทย โดยปลายเดือนนี้ คาดว่าจะผลิตเกมนินจาให้บริษัทเซก้าเสร็จ

ทั้งวันที่ 22.. 2547 จะเชิญชวนนักสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเข้าชมผลงานของบริษัท ในช่วงเทศกาลบางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล เพื่อขยายธุรกิจสู่ต่างชาติต่อไป จากที่รับงานลูกค้าบริษัทภาพยนตร์ไทยอยู่ 7-8 เรื่องแล้ว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.