ไอซีทีดัน "ซิป้า" โต้โผ "โอเพ่นซอร์ซ" หนุนทำแผนแม่บทรับกระแสโลก

"หมอเลี้ยบ" ปลุกกระแสโอเพ่นซอร์ซรอบใหม่ มอบนโยบายให้ "ซิป้า" รับเป็นเจ้าภาพกำหนดทิศทางการส่งเสริมโอเพ่นซอร์ซเต็มตัว ด้านซิป้าเตรียมหารือ "เนคเทค" และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสนองนโยบาย เผยต้องผลักดันอย่างเป็นระบบตั้งแต่การส่งเสริมเป็นหลักสูตรในสถาบันการศึกษา-พร้อมกำหนดมาตรฐานการพัฒนาภาษาไทยรับกระแสโลก

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้มอบหมายให้ซิป้าเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ซ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายโอเพ่นซอร์ซของไทยยังไม่มีความชัดเจน โดยได้นัดหารือกับอาจารย์ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.เนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องโอเพ่นซอร์ซอยู่เดิมในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งจะรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและนักพัฒนาว่าควรจะกำหนดทิศทางและกรอบการส่งเสริมอย่างไร

"ปัจจุบันโอเพ่นซอร์ซเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะนับวันโอเพ่นซอร์ซที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพและมีการใช้งานกันแพร่หลาย เพราะจุดสำคัญของโอเพ่นซอร์ซคือทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ของลูกค้าต่ำลง ทำให้เปิดทางเลือกที่ดี ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้ไม่ว่าไอบีเอ็ม, ออราเคิล หรือซันฯ ต่างก็หันมาให้การสนับสนุนโอเพ่นซอร์ซ เพราะการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนโอเพ่นซอร์ซของบริษัทเหล่านี้ทำให้ต้นทุนของสินค้าถูกลง ช่วยให้สามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้น"

นายมนูกล่าวว่า การที่จะส่งเสริมให้ตลาดโอเพ่นซอร์ซเติบโตจะต้องส่งเสริมทั้งในแง่ของการใช้งานและการพัฒนา โดยต้องส่งเสริมกันตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา มีหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาเริ่มคุ้นเคยกับโอเพ่นซอร์ซ เรียกว่าต้องผลักดันอย่างเป็นระบบ และมาดูว่าจะเผยแพร่การใช้ออกไปในวงกว้างอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้ภาครัฐเป็นผู้ใช้รายใหญ่

ที่ผ่านมาอาจจะมีหน่วยงานบางแห่ง อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯที่มีการใช้โอเพ่นซอร์ซอย่างจริงจัง เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความรู้และสนใจเป็นการส่วนตัว แต่การกำหนดกรอบนโยบายจะทำให้มีการผลักดันอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาห กรรมเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์จากโอเพ่นซอร์ซ เป็นการวางแผนระดับชาติ ทั้งนี้ การที่ซิป้าเป็นเจ้าภาพไม่ได้หมายความว่าซิป้าจะเข้าไปทำทุกอย่างเอง แต่เป็นการประสานงานกับหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนหรือกรอบที่วางไว้ได้อย่างไร โดยที่ทางกระทรวงไอซีทีหรือซิป้าจะตั้งงบประมาณมาสนับสนุน

นอกจากการวางกรอบการส่งเสริมด้านโอเพ่นซอร์ซแล้ว ประเด็นสำคัญคือจะต้องมีการสร้างมาตรฐานของภาษาไทย รวมถึงบราวเซอร์อินเตอร์เฟส อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องของโอเพ่นซอร์ซมีทั้งในส่วนของโอเอส (ระบบปฏิบัติการ) และแอปพลิเคชั่น คอนเซ็ปต์ไม่ได้หมายถึงของฟรี การที่จะทำให้การพัฒนาและการใช้โอเพ่นซอร์ซแพร่หลายได้ ต้องมองในเชิงพาณิชย์ด้วย เพราะถ้าจะให้อุตสาหกรรมของโอเพ่นซอร์ซพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาวก็ต้องให้มีการสร้างธุรกิจเพื่อให้เกิดเม็ดเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาต่อไป ซึ่งในต่างประเทศได้เปลี่ยนรูปแบบไลเซนส์เป็นค่าบริการดูแลลูกค้า แต่ในเมืองไทยยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งต้องมาช่วยกันกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการหรือนักพัฒนากล้าลงทุน

ด้าน ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ หรือเอ็นไอซีที หนึ่งในสมาชิกสมาคมโอเพ่นซอร์ซไทย เปิดเผย "ประชา ชาติธุรกิจ" ว่า ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าในการพัฒนาโอเพ่นซอร์ซในเมืองไทย เนื่องจากติดปัญหากรอบแนวคิดของคณะทำงานที่ไม่ตรงกัน และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งเน้นผลักดันโอเพ่นซอร์ซให้เกิดในเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็วเกินไป

ภาครัฐต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยให้มีหน่วยงานกลาง หรือคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบโอเพ่นซอร์ซ และสนับสนุนงบประมาณในการทำงานที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันเป็นการพัฒนาที่แฝงอยู่ในหน่วยงานต่างๆ อาทิ เนคเทค หรือซิป้า ซึ่งทุกหน่วยงานมีหน้าที่และภารกิจหลักอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญในระดับอุตสาหกรรม ต้องมีการสร้างมาตรฐานกลางลีนุกซ์ เพื่อให้นักพัฒนานำไปพัฒนาต่อในเชิงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีการใช้งานที่แพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักพัฒนาได้หันไปผลักดันลีนุกซ์ผ่านเวทีระดับโลก เพื่อหวังให้ข้อมูลสะท้อนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากมองว่ารัฐบาลไทยนิยมรับฟังความคิดเห็นจากต่างชาติมากกว่าภายในประเทศด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วหากมีการยอมรับความจริงและมุ่งให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในเชิงภาพรวมของประเทศ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการใช้งานลีนุกซ์ในประเทศไทย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.