รื้อภาษีอุ้ม SME-โชวห่วย รายได้ต่ำกว่า 2ล.ไม่เสีย VAT อุตฯอิเล็กทรอนิกส์เฮเหลือ 0%

รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้น ศก. สั่งรื้อโครงสร้างภาษีเอาใจธุรกิจรายย่อยสุดๆ พร้อมดึงนักลงทุนต่างชาติ สรรพากรขานรับยันแนวโน้มต้องลดภาษี เผยแนวทางอุ้มโชวห่วย-เอสเอ็มอี 5 หมื่นรายรับเต็มๆ ขยับฐาน VAT จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท ภาษีอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ ทีวีสี-ไฟเบอร์ออปติกเหลือ 0% สรรพสามิตเอาด้วยรื้อโครงสร้างภาษีรถยนต์-เหล้าพื้นบ้าน

หลังจากนโยบายประชานิยม หรือ populist ของรัฐบาล พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะมุ่งเน้นรากหญ้าในช่วง 1 ปีแรกของการเข้ามา บริหารจัดการประเทศ และดูเหมือนรัฐบาลจะพอใจกับผลงานที่วัดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2545 ที่คาดว่าจะโตในระดับ 3.5-4% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้รัฐบาลมั่นใจว่ามาตรการแก้ปัญหาได้เดินมาถูกทางแล้ว ขณะนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินหน้านโยบายประชานิยมต่อ ด้วยการประกาศว่าจะต้องหันมาเร่งและผลักดันเรื่องการลงทุนของภาคเอกชน โดยเน้นที่ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม รวมทั้งเน้นการดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน และมาตรการที่รัฐบาลพยายามนำออกมาใช้ก็คือ มาตรการจูงใจทางด้านภาษี

ล่าสุดนายสมคิดได้กล่าวว่า รัฐบาลจะทบทวนมาตรการจูงใจนักลงทุนต่างชาติครั้งใหญ่ในทุกๆ ด้านเพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากที่สุด โดยรัฐบาลกำลังหามาตรการอื่นๆ นอกจากมาตรการภาษี ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งศึกษารายละเอียดของมาตรการที่เหมาะสมโดยเร็ว รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณไปให้สถาบันอิสระ เช่น สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ สถาบันยานยนต์ สถาบันอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเหล็ก สถาบันเพิ่มผลผลิต สถาบันเอสเอ็มอี และสถาบันอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชน โดยเน้นการทำวิจัยและพัฒนา รายงานวิเคราะห์ตลาด รายงานปัจจัยความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรม เป็นต้น

สรรพากรเตรียมชงกรอบภาษี
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงเรื่องแผนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพากร ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า สำหรับหลักการในการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นการลงทุน ทั้งการลงทุนภายในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการลดอัตราเพียงอย่างเดียวอาจจะมีการปรับปรุงฐานภาษีด้วย ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงฐานะการคลัง ภาวะเศรษฐกิจ และภาระหนี้ของประเทศด้วย ซึ่งในสัปดาห์หน้านี้จะนำเรื่องนี้มาหารือกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

'สำหรับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ แนวโน้มมีแต่ที่จะต้องลดอัตราภาษีลง มาตรการภาษีเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่จะจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ก็จะมีทั้งลดอัตรา บางรายการก็อาจจะได้รับการยกเว้น และในบางประเภทก็ต้องคงอัตราภาษีสูงไว้เหมือนเดิม ขณะนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศสิงคโปร์เก็บในอัตรา 24.5% ภายในระยะเวลา 2 ปีก็จะทยอยลดอัตราลงเหลือ 22% และ 20% ตามลำดับ ส่วนภาษี GOOD SERVICE TAX หรือ VAT จะมีการปรับจาก 3% ขึ้นเป็น 5% ซึ่งส่วนต่างของอัตราภาษีระหว่างประเทศไทยกับสิงคโปร์จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย' นายศุภรัตน์กล่าว

ขุน 'โชวห่วย-เอสเอ็มอี' ขยับฐาน VAT เป็น 2 ล้าน
นายศุภรัตน์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเมื่อเช้าวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาตนก็ไปหารือกับนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือบริษัทร่วมค้าปลีกเข้มแข็ง ในเบื้องต้นทางกรมสรรพากรก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีและการเสียภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมสรรพากรก็เคยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับธุรกิจ SMEs ไปแล้ว ขยับฐาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขึ้นเป็น 2 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากร เปิดเผย 'ประชาชาติธุรกิจ' ถึงแนวคิดในการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยนอกจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ทางกรมสรรพากรก็เคยทำการศึกษาการปรับฐานรายได้ของผู้ประกอบการที่มีรายได้ 1.2 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องมาจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ปรับขึ้นไปเป็น 2 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด 350,000 ราย หากมีการปรับฐานรายได้ที่อยู่ในข่ายต้องเสีย VAT ขึ้นไปเป็น 2 ล้านบาท ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ประมาณ 50,000 รายหลุดออกจากระบบ VAT ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประเภทโชวห่วยซื้อมาขายไปประมาณ 20,000 ราย ที่เหลือเป็นกิจการประเภทให้บริการ

'ถ้าดูผิวเผินแล้วจะดูเหมือนว่ากรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้ แต่ถ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ความรู้ด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ก็จะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น สภาพปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งทำยอดขายไม่ให้ถึง 1.2 ล้านบาท ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษี เพราะต้องทำระบบบัญชี สต็อกสินค้า หากขยับฐาน VAT ขึ้นไปเป็น 2 ล้านบาท ประกอบกับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดก็จะทำให้พวกนี้ไม่ต้องหลบยอดขายอีกต่อไป เข้ามาเสียภาษีถูกต้องมากยิ่งขึ้น' แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าวต่อไปอีกว่า ในจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 50,000 รายนี้ ประมาณ 20,000 ราย เป็นธุรกิจโชวห่วย กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดามีรายได้ไม่เกิน 2,000,000 บาท เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากรปีละไม่เกิน 26,500 บาท/ราย หากมีการดูแลผู้เสียภาษีเหล่านี้อย่างใกล้ชิดก็จะทำให้มีรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ารัฐอย่างน้อย 100 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นนิติบุคคลเสียภาษีตามปกติ (20-30% ของกำไรสุทธิ) ผลดีก็คือจะช่วยให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชี สต็อกสินค้า มายื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน และในอนาคตเมื่อธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้นมาก็จะมาอยู่ในระบบ VAT และเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรก็จะลดงานในการไปตรวจสอบเอกสารจำนวนมาก แต่เก็บภาษีได้น้อย เช่น ผู้ประกอบการ 50,000 รายมายื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน ในรอบ 1 ปี เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจเอกสารกี่แผ่น

สรรพสามิตเอาด้วย ปรับภาษีรถยนต์-เหล้าพื้นบ้าน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพ สามิตว่า ขณะนี้ทางกรมสรรพสามิตได้ส่งแผนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ ทั้งในส่วนของการจัดประเภทหมวดหมู่ 4 ประเภท และการปรับปรุงพิกัดอัตราภาษีใหม่ พร้อมกับแผนการเปิดเสรีสุรากลั่นพื้นเมืองมาที่กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งในส่วนของนโยบายการเปิดเสรีสุราพื้นเมืองนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่ที่มี ร..สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะทำงาน ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ก่อนที่จะนำเสนอพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเปิดเสรีสุราพื้นเมือง เพื่อนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

'สำหรับเรื่องอัตราภาษีสุรากลั่น ทางตัวแทนของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรได้เสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนโดยการลดอัตราภาษีสุราและให้เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะมาขอใบอนุญาตผลิตสุราพื้นเมืองจากกรมสรรพสามิต นอกจากจะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กลุ่มสหกรณ์ ให้ครอบคลุมถึงบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่เกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรตาม พ...กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร พ..2542 ด้วย' แหล่งข่าวกล่าว

ลดภาษีอิเล็กทรอนิกส์  'ทีวีสี-ไฟเบอร์ออปติก'
ดร.สมคิดเปิดเผยหลังการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลากร ในสินค้ากลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ว่า ผลกระทบในช่วง 2 ปีหน้า จากอัตราภาษีภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีหรืออาฟต้า (AFTA) จะเกิดเต็มรูปแบบ ไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรักษาระดับการผลิต และเพื่อดึงดูดการลงทุนด้วยเช่นกัน คือปัจจุบันได้เร่งดำเนินการในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ เน้นอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการ จะมีการปรับลดภาษีนำร่อง 2 รายการ คือ 1.ทีวีสี 2.ไฟเบอร์ออปติก ซึ่งทั้ง 2 รายการนี้มีตลาดใหญ่มาก และยังมีคู่แข่งขันที่สำคัญและน่ากลัว คือ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและจีนด้วย

ทั้งนี้ ภายในวันพุธที่ 14 สิงหาคม จะมีการเรียกประชุมกรมต่างๆ ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีทั้งหมดเข้าไปหารือเรื่องการจัดเก็บภาษี 2 รายการนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมใหญ่เพิ่มเติมอีก 3 รายการ คือ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, ปิโตรเคมีและพลาสติก และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เพื่อที่จะพิจารณากำหนดพิกัดภาษีที่แน่นอน

ด้านนายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การช่วยเหลืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ จะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการกำกับการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการกำกับดูแล ซึ่งระบบดังกล่าวเรียกว่า Electronics Custom Free Zone และจะใช้ระบบ E-Commerce และ E อื่นๆ มาตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เท่าที่มีการพูดคุยกับเอกชนมีความพอใจ และเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ดังนั้น คงจะไม่มีการย้ายฐานผลิตอีกแล้ว

โดยสินค้าที่ผ่านระบบดังกล่าวนี้ จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหรือเพื่อขายในประเทศ ซึ่งอัตราภาษีจะเป็นอัตราที่สามารถแข่งกับอาฟต้าและตลาดโลกได้ แต่ก็จะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขกรอบภาษีอาฟต้า ที่จะมีผลกระทบในช่วง 2 ปี คือ ในต้นปี 2546 อัตราภาษีจะเหลือร้อยละ 5 และในต้นปี 2547 จะเหลือร้อยละ 0 ดังนั้น หากผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบภายใต้ระบบธุรกรรมนี้ ก็จะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีที่เหลือร้อยละ 0 จากปัจจุบันโครงสร้างภาษีของประเทศไทยที่เป็นอยู่มีอัตราเฉลี่ยของภาษีอยู่ที่ร้อยละ 10-20 เช่น สินค้าทีวีสี และในส่วนของการย้ายฐานการผลิต ซึ่งก็ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการต่างๆ โดยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง และก็คงจะไม่มีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย

ดีเดย์ลดภาษี 14 ..นี้
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในรายละเอียดว่า สินค้านำร่อง 2 รายการ คือ ทีวีสี และไฟเบอร์ออปติก เมื่อมีการนำเข้า ชิ้นส่วนทุกชิ้นที่นำเข้ามาผลิตจะมีอัตราภาษี 0% ทั้งหมด ส่วนสินค้าสำเร็จรรูปจะเหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยอัตราภาษีที่แน่นอนจะประกาศเป็นทางการได้ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม ซึ่งก็จะมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากการประกาศ สำหรับผลกระทบของรายได้จากการปรับลดภาษีครั้งนี้ นายพงษ์ภาณุได้ให้ความเห็นว่า รัฐไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะรายได้ที่ลดลงถือว่าน้อยมาก แต่จะมีผลกระทบทางด้านรูปแบบของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น และเป็นรายได้ที่จะต้องส่งเข้ารัฐบาลมากกว่า

นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงโครงสร้างของภาษีสินค้าอีก 3 รายการ คือ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมีและพลาสติก และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มนั้น ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังได้เสนอ โดยขั้นตอนอยู่ในระหว่างการเสนอรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งแพ็กเกจข้อเสนอของกระทรวงการคลังจะแบ่งโครงสร้างภาษีเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ภาษีวัตถุดิบมีอัตราภาษีร้อยละ 1 ซึ่งสาเหตุที่ไม่ปรับเป็น 0% เพราะยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ 2.กึ่งสำเร็จรูปอัตราภาษีร้อยละ 5 3.กลุ่มสำเร็จรูปอัตราภาษีประมาณร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม สำหรับกึ่งวัตถุดิบ และสำเร็จรูป ที่เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว จะให้เวลาในการปรับตัว 3 ปี คือถึงปี 2548 ส่วนสินค้าสำเร็จรูปจะทำทีหลัง เพราะยังไม่มีผลกระทบในทางอุตสาหกรรมมาก

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.