ทีเอ อิงโครงข่ายหลัก ก้าวสู่ธุรกิจบริการ-แอพพลิเคชั่น

หวังก้าวสู่ผู้ให้บริการสื่อสาร-ไอที ครบวงจร รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงข่ายที่มีอยู่อย่างเต็มที่

ทีเอ ชูความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผนึกพันธมิตร สร้างเนื้อหา-แอพพลิเคชั่น ต่อยอดนำเสนอลูกค้า กระตุ้นจำนวนการใช้บริการ ทั้งเตรียมขยายโอกาสทางธุรกิจ จากโครงข่ายใยแก้วนำแสง ที่เข้าถึงทุก 500 หลังคาเรือน ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เปิดให้ผู้ให้บริการรายใหม่ เข้ามาเช่าใช้หลังเปิดเสรี

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ กล่าวว่า แนวทางดำเนินธุรกิจในกลุ่มทีเอ จะประสานความร่วมมือ (ซินเนอยี่) ระหว่างธุรกิจของบริษัทในเครือมากขึ้น เพื่อนำเสนอบริการโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่มีอยู่ บันเดิลไปกับระบบงานและเนื้อหา ที่สนับสนุนให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวก ในรูปแบบ "วันสต็อปช็อป" ขณะเดียวกัน จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตร พัฒนาเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าผู้ใช้งาน เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนการใช้งาน บนโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่บริษัทลงทุนไว้มากขึ้น

โดยขณะนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายให้โครงการ "มัลติ แอ็คเซส โพรทัล (MAP:Multi Access Portal)" มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวทางดังกล่าว และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ที่จะสร้างเนื้อหาที่จูงใจให้ประชาชน เข้ามาใช้บริการผ่านช่องทางการเข้าถึงการสื่อสาร (แอ็คเซส) ทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน, โทรศัพท์เคลื่อนที่, เคเบิลทีวี ทั้งนี้เพราะมั่นใจ แนวโน้มตลาดในอนาคต การใช้บริการเข้าถึงสื่อ จะขยายตัวมากกว่าการสื่อสารเสียง (วอยซ์) ในแบบดั้งเดิม ขณะที่ ส่วนของเนื้อหา (คอนเทนท์) ประเภทหลักๆ ที่คาดว่าจะกระตุ้นจำนวนการใช้งานของลูกค้า คงเน้นการตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ข่าวสารที่มีหัวข้อเฉพาะค้นหาได้ บริการการศึกษา และข้อมูลสุขภาพ (เฮลธแคร์) อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานในเครือข่ายที่มีอยู่ ต้องมีความเร็วสูงเพียงพอ หรือเป็นบรอดแบนด์ เพื่อรองรับการให้บริการเนื้อหาด้านนี้ด้วย

ต่อยอดรายได้ให้เช่าโครงข่าย

นอกจากนี้ หากในปีหน้ามีการเปิดเสรีโทรคมนาคม และการแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดตั้ง กทช.เกิดขึ้นจริง ก็จะเห็นรูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ มากขึ้น โดยในส่วนของบริษัท กำลังมองถึงการนำโครงข่ายที่มีอยู่ไปให้ผู้ให้บริการรายเล็กที่ได้สิทธิการให้บริการเช่าใช้ ในรูปแบบที่เป็น "รีเซลลิ่ง คอนเซ็ปท์" โดยอาศัยจุดเด่นของบริษัท ในฐานะที่ติดตั้งเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงทุก 500 หลังคาเรือนในกรุงเทพฯและปริมณฑลไว้แล้ว สำหรับการแข่งขันกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) นั้น บริษัทจะอาศัยความได้เปรียบด้านการบริหารจัดการ ความคล่องตัวของประสบการณ์ทำธุรกิจในฐานะบริษัทเอกชน

ลงทุนเพิ่มพันล้านบาทปี 45

นายศุภชัย กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทจัดสรรงบลงทุนไว้ 900-1,000 ล้านบาท โดยจะเน้นการพัฒนาการให้บริการ ทั้งส่วนช่องทางจำหน่าย (เอาท์เล็ท) และคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อรองรับการตลาดแบบขายตรง ซึ่งนับเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีนี้ที่ใช้งบไปราว 2,000 ล้านบาท ด้านผลประกอบการนั้น บริษัทตั้งเป้าชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้หมด เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อตัดปัจจัยนี้แล้ว คาดว่าในไตรมาส 4 ปีหน้า บริษัทจะเริ่มถึงจุดคุ้มทุน และทำกำไรในกำไรสุทธิ โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่มีหลักประกัน (Secured debt) จำนวน 50,000 ล้านบาท และหนี้ด้อยสิทธิระยะยาว (debenture) อีก 9,000 ล้านบาท มีระยะเวลาชำระเงินภายใน 2557 สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในปีหน้า คาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจไร้สาย และการเพิ่มแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ บนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า รายได้ในกลุ่มธุรกิจบริการเสริมต่างๆ คงจะยังมีสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของรายได้รวม

ชี้อนาคตโทรคมนาคมไทยขึ้นกับปัจจัย 6 ซี

นายศุภชัย กล่าวว่า อนาคตอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ต้องขึ้นปัจจัย 6 ประการ หรือ 6 ซี (6C) ได้แก่

1. เนื้อหาและการใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสารและไอที (Content) เพราะความพร้อมของระบบข้อมูล และเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม จะผลักดันให้เกิดการบริโภคผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม (Bandwidth) อย่างมากมาย

2. การแข่งขัน (Competition) เพราะหลังเปิดเสรีโทรคมนาคมแล้ว และมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้เกิดการแข่งขันบริการจากผู้ให้บริการที่หลากหลายทั้งใน และต่างประเทศ ดังนั้น อัตราค่าใช้บริการ และช่วงของความคุ้มทุน (Magin) จะลดลง ขณะที่ ฐานผู้ใช้บริการและการตลาด จะใหญ่ขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกันจะทำให้เกิดการยุบรวมกิจการทั้งระหว่างบริษัทในประเทศ และกับต่างประเทศ

3. ความร่วมมือกัน (Cooperation) ทั้งระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไอที อุปกรณ์เชื่อมต่อ (คัสโตเมอร์ ดีไวซ์) ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ความร่วมมือนี้ จะเป็นไปเพื่อแสวงหาคำตอบต่อความต้องการที่หลากหลายมาให้ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการสนองตอบความต้องการของลูกค้าในระดับองค์กร หรือแม้แต่รายบุคคลก็ตาม

4. ความคิดใหม่ๆ (Creativity) และนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ของบริการด้านนี้ จะสนับสนุนการเจริญเติบโตของธุรกิจและการแข่งขัน

5. การบริหารความสัมพันธ์ (Customer Relations Management) ผู้ให้บริการแต่ละราย จะต้องมีแนวนโยบายที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า และรักษาความสัมพันธ์อันดีเพื่อที่จะเอาชนะใจลูกค้าให้ภักดีกับบริการ

6. ความพร้อมของสังคม (Compatibility) ได้แก่ การศึกษา และระดับความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานเครื่องมือสื่อสารคอมพิวเตอร์ (Computerliteracy) รวมทั้งภาษาอังกฤษ จะมีบทบาทมากขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.