ทศท. เลือกทีเอ ประเดิมเจรจาแปรสัญญาโดยตรง 2 ฝ่าย

ทีเอ เสนอยกหุ้น 16% ให้ ทศท. ถือแลกยกเลิกจ่ายส่วนแบ่งรายได้
ทศท. รุกต่อแปรสัญญาสัมปทานสื่อสาร เตรียมเรียก "ทีเอ" เจรจาตกลงในหลักการเป็นแห่งแรก ตามด้วยทีทีแอนด์ที ขณะที่ทีเอ เสนอแนวทางใหม่มอบหุ้น 16% ให้ ทศท. ถือ แลกยกเลิกจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ส่วน สรท. ค้านแปรสัญญาเต็มที่ ยํ้าหากคงไว้ซึ่งหลักการเดิม จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หุ้น ทศท. ได้อีกทาง

 

นายโอฬาร เพียรธรรม ผู้อำนวยการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า ทศท. กำลังจะเรียกบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานเข้ามาเจรจา ตามแนวทางการแปรสัญญาร่วมการงาน ที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้คู่สัญญาเจรจากันเอง โดยคาดว่าจะเรียกบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ มาเจรจาเป็นบริษัทแรก เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีเงื่อนไขในการเจรจามากที่สุด ส่วนบริษัทอื่นที่มีแนวโน้มต้องการจะแปรสัญญาอย่างบริษัท ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทีทีแอนด์ที จะเรียกเข้ามาในลำดับต่อไป แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า จะเรียกเอกชนเข้ามาเจรจาเมื่อไร

 

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ บริษัท ทีทีแอนด์ที ให้เหตุผลว่า แนวทางแปรสัญญาเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้บริษัทมีอุปสรรคในการหาพันธมิตรร่วมทุนตามเงื่อนไขในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะนักลงทุนต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น พ...ประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.. 2544 ที่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติไว้เพียง 25% ขณะที่การแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ปรับสัดส่วนนักลงทุนชาวต่างชาติเป็น 49% แต่ต้องรอเสนอสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบหลักการดังกล่าว รวมถึงวุฒิสภาด้วย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า การแปรสัญญาร่วมการงาน ควรจะมีความชัดเจนก่อนที่ ทศท.จะขายหุ้นเมื่อมีการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้ว เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจนในแง่ของการเกิดรายได้ในการดำเนินงาน และเห็นว่า เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จในอนาคตอันใกล้

 

ทีเอ ยก ทศท.ถือหุ้น 16%

แหล่งข่าวจาก ทศท. กล่าวว่า แนวทางการแปรสัญญาร่วมการงาน บริษัท ทีเอ นั้น เสนอเงื่อนไขให้ ทศท. เข้าถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 16% หรือเท่ากับส่วนแบ่งรายได้ ที่บริษัทต้องจ่ายให้กับ ทศท. แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการพูดในหลักการ ว่า แนวทาง และวิธีการคิดจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เอกชนคงต้องการให้ ทศท. คิดส่วนแบ่งรายได้ถึง ปี 2549 เท่านั้น โดยมองว่าในปีนั้น จะมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจ และไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ให้แก่ผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ดังนั้น เอกชนส่วนใหญ่มองว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับ ทศท. เป็นภาระต้นทุน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกับระหว่างผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่า

 

สหภาพคัดค้านแปรสัญญา

นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ส่วนของสหภาพคัดค้านการแปรสัญญาร่วมการงาน เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนไม่เห็นด้วยในหลักการที่ ทศท. ว่าจ้างองค์กรต่างๆ ศึกษาแนวทาง รวมถึงมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดังนั้น หากเอกชนไม่ยอมรับ ก็ควรดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้ ทศท. ต่อ แม้ ทศท. จะแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนไปแล้วก็ตาม ส่วนแนวทางและข้อเสนอ ที่ทีเอได้ยื่นมานั้น สรท. ไม่สามารถรับหลักการได้ เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจโทรคมนาคมมีความไม่แน่นอน ดังนั้น การเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเอกชนของ ทศท. ไม่น่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินงาน "ทั้งมองว่า หากเอกชนคู่สัญญากับ ทศท. ยังดำเนินการอยู่ภายใต้ ทศท. จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้น ทศท. เมื่อมีการแปรสภาพ และนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากจะช่วยให้ ทศท. กำหนดที่มาของรายได้ที่แน่นอนได้" นายมิตร กล่าว

 

กสท.ยังไม่กำหนดกฎเกณฑ์

แหล่งข่าวจาก การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสท. ยังไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ หรือเรียกเอกชนมาเจรจาเกี่ยวกับการแปรสัญญาร่วมการงาน เพราะยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานการแปรสภาพองค์กร โดยเฉพาะกสท. จะต้องแบ่งออกเป็น 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งยังมีปัญหาการดำเนินงานอยู่ และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด โดยเห็นว่าสัญญาสัมปทานในส่วนของ กสท.นั้น มีรายได้ไม่มากนักหรือราว 2,700 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 12% ของรายได้รวมจากการดำเนินงาน ซึ่งแนวทางการเจรจาอาจจะง่ายกว่าของ ทศท.

 

ทุนจดทะเบียนโทรคมนาคม 2,000 ล้าน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแปรสภาพบริษัท กสท.โทรคมนาคม กสท.มีแผนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทประมาณ 2 พันล้านบาท ตามความเห็นของที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยในอนาคตหากนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงจะเพิ่มทุน แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น ภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ การกระจายหุ้นของ ทศท. ที่คาดว่าจะเข้าไประดมทุนก่อน กสท. โดยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการเพิ่มทุนของ กสท.ด้วย สำหรับ กสท.โทรคมนาคม มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 78,000 ล้านบาท และบริษัทไปรษณีย์ไทยมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท แต่หากสามารถตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขวิธีการ และทุนประเดิม ในการจัดตั้งบริษัทไปรษณีย์ไทยได้แล้ว ทาง กสท. คงกำหนดวันจัดทำประชาพิจารณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กสท.คาดว่า จะประชาพิจารณ์ประมาณเดือน ก..เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้ศึกษาแนวทางการรวมกิจการระหว่าง ทศท. และ กสท. ทำให้เงื่อนไขเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลงไป

 

นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ รองผู้ว่า กสท. กล่าวว่า แนวทางการแปรสัญญาร่วมการงาน ควรเปิดโอกาสให้เอกชนมีความเป็นอิสระ และเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยเห็นว่า เอกชนเมื่อเข้ามารับภาระการลงทุนให้กับรัฐ เมื่อรัฐบาลอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลงทุนได้ ดังนั้น สิ่งที่เอกชนจ่ายให้กับรัฐในรูปของส่วนแบ่งรายได้ ก็น่าจะหาแนวทางที่จะตกลงกันในเรื่องนี้ และเห็นว่า การแปรสัญญาควรจะเป็นการเจรจาระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยหลักการการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขสัญญา ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของคู่สัญญา ระหว่างรัฐและเอกชน แต่ยังไม่ทราบว่าเงื่อนไขที่เอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ กสท. จะเสนอเข้ามาในลักษณะใด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.