ยูเอ็นดีพี จัดไทยติดอันดับ 40 พัฒนาคน แซงหน้าจีน - อินเดีย
นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาฉบับล่าสุดของสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นดีพี) ด้านบทบาทการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Report :HDR 2001) ภายใต้หัวข้อ บทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 72 ประเทศ
สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว คำนึงจากปัจจัยทางด้าน ได้แก่
1.การสร้างเทคโนโลยี โดยพิจารณาถึงการจดทะเบียนสิทธิบัตรเทียบกับจำนวนประชากร และการได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์
2.การแพร่กระจายของนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นข้อเกี่ยวเนื่องจากการมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต และการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
3.การเปรียบเทียบระหว่างการใช้นวัตกรรมดั้งเดิม โดยใช้ปัจจัยชี้วัดจากจำนวนเครื่องโทรศัพท์ ทั้งที่เป็นโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ไร้สาย ร่วมกับการใช้งานกำลังไฟฟ้า
4.ปัจจัยด้านทักษะความชำนาญของมนุษย์ โดยใช้ตัวบ่งชี้จากค่ากลางระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา และอัตราการเรียนด้านวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นการเสนอแนวคิด กรอบการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จ โดยการจัดอันดับครั้งนี้ ได้ดึงจุดเด่นของโครงการในประเทศไทยจาก สวทช.3 โครงการ ได้แก่ การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในโรงเรียน ผ่านโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อโรงเรียนไทย (สคูลเน็ต), โครงการคิดค้นยารักษาโรคมาลาเรียที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นในประเทศไทย และการนำวิธีคาดการณ์เทคโนโลยี
ติดอันดับ 3 ประเทศที่พร้อมพัฒนา
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาฉบับดังกล่าวยังจัดอันดับประเทศต่างๆ ตามดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศ (ทีเอไอ) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับด้วย
โดยส่วนของประเทศไทย ติดอันดับ 3 ในการวัดระดับประเทศที่มีความพร้อมในการพัฒนา (Dynamic adopters) ซึ่งมีผู้อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 26 ประเทศ ได้แก่ มีฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 7, จีน อันดับที่ 8, อินโดนีเซีย อันดับที่ 23 และอินเดีย ติดอันดับ 26
ส่วนผลการจัดอันดับในระดับอื่นๆ ด้านหลักๆ นั้น ได้แก่ การวัดระดับความเป็นผู้นำ (ลีดเดอร์) ซึ่งมีผู้ติดอันดับทั้งหมด 18 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป, การวัดระดับของศักยภาพในการผู้นำในอนาคต จากทั้งหมด 19 ประเทศ ซึ่งมีฮ่องกง และมาเลเซีย ติดอันดับที่ 6 และ 12 ตามลำดับ เป็นต้น
เชื่อดัชนีเอสแอนด์ทีไทยขยับขึ้น
นายไพรัช กล่าวว่า ผลการจัดอันดับดังกล่าว ทำให้คาดว่าการจัดอันดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เอสแอนด์ที) ครั้งต่อไป ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสขยับไปอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 42 จากทั้งหมด 43 ประเทศ ขณะเดียวกัน คาดว่า ผลจัดอันดับครั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น "ในปีนี้เป็นกรอบด้านการพัฒนามนุษย์ แต่ในปีหน้าน่าจะปรับเปลี่ยนหัวข้อการจัดอันดับ ซึ่งประเทศไทยก็น่าจะเตรียมความพร้อมในการพัฒนาด้านอื่นไว้ด้วย" นายไพรัช กล่าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.