เอไอเอสพร้อมใช้ภาษาไทย

เอไอเอส วางแผนนำระบบแสดงผล "ภาษาไทย" บนเครื่องลูกข่าย โทรศัพท์มือถือ เข้ามาใช้งานด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดอยู่ระหว่าง เจรจานักพัฒนาระบบหลายราย

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาระบบแสดงผลภาษาไทยบนลูกข่ายโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว และไม่ใช่เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น จะมีภาษาอื่นๆ ด้วย โดยล่าสุดบริษัท อยู่ระหว่าง เจรจา กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หลายราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการให้ลูกข่ายมือถือ เป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ต้องการให้สามารถนำมาใช้งานชดเชยคอมพิวเตอร์ได้บางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้ว "ภาษาไทย" ถือว่าจำเป็น และสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทมีบริการเสริมใหม่ๆ ออกมา ซึ่งรวมถึงบริการอี-คอมเมิร์ซ บนมือถือ ถือว่าภาษาไทยเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้บริการนี้ ขยายตัวในระยะเวลาที่รวดเร็วได้ เพราะลูกค้าใช้โทรมือถือในปัจจุบันมีระดับการศึกษาหลากหลาย

เป้าหมายเพิ่มบริการใหม่ๆ

ขณะที่ นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบริการเสริม บริษัท เอไอเอส กล่าวว่า บริษัทมีกลยุทธ์การทำตลาด บริการเสริมใน 3 รูปแบบได้แก่

1. การทำตลาดในวงกว้าง ซึ่งเป็นการทำตลาดบริการทั่วไป ให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการ โดยที่เนื้อหาการบริการดังกล่าว จะสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ในระดับกว้างๆ

2. การทำตลาดในกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันเอไอเอส แบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มนักศึกษา (University) เป็นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น
  • กลุ่มแม่บ้าน (House wife)
  • กลุ่มผู้ชื่นชอบเทคโนโลยี (NetSavy)
  • กลุ่มนักศึกษาจบใหม่หรือกลุ่มเริ่มต้นทำงาน (Young-Adult) และ
  • กลุ่มผู้บริหาร (Exclusive)

ทั้งนี้ การแบ่งกลุ่มตลาดตามกลยุทธ์ดังกล่าว จะทำให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของ การจัดรายการส่งเสริมการขาย หรือรูปแบบบริการตลอดจนเครื่องลูกข่าย ที่เหมาะสมทำตลาดในแต่ละกลุ่ม

3. การทำตลาดในลักษณะเฉพาะกับลูกค้ารายบุคคล (One to One Marketing) โดยมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการคุณภาพเฉพาะด้าน นอกจากนี้ ยังมองว่าแนวการทำตลาดลักษณะดังกล่าว เป็นเป้าหมายของบริษัท ที่จะให้บริการแก่ลูกค้าแต่ละราย

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดลักษณะวันทูวัน จะมีจุดขายหลักด้วยการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น โดยให้ลูกค้าแต่ละราย เลือกที่จะรับข้อมูล หรือใช้บริการแอพพลิเคชั่นนั้นๆ เอง ตัวอย่างเช่น การส่งข้อความระบุถึงบริการข่าวสารกีฬาใหม่ ไปยังกลุ่มผู้ใช้บริการข้อมูลรูปแบบดังกล่าว หรือการส่งข้อความไปยังลูกค้าที่เคยใช้บริการมายริงโทน หลังจากจับมือกับแกรมมี่ ที่เปิดให้บริการลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีบริการบนฐานของระบบข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ที่ประกอบด้วยบริการดังนี้ บริการข้อความ (Text), บริการส่งข้อความภาพ, บริการส่งอีเอ็มเอส (Enhance Messaing service) ซึ่งเป็นการผนวกความสามารถ ในการส่งข้อมูลภาพเสียง และข้อความเข้าด้วยกัน พร้อมกันนี้ บริษัทมีแผนเปิดบริการเอ็มคอมเมิร์ซ ผ่านระบบเอสเอ็มเอส บนเทคโนโลยีซิมทูลคิท ผ่านช่องทางการชำระเงิน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ผ่านระบบใบแจ้งหนี้ เหมาะสำหรับการเรียกเก็บค่าบริการ ที่มีอัตราไม่สูงนักมีวงเงินกำหนด อาทิ ไม่เกินวงเงิน 500 บาท ต่อการซื้อสินค้าในเดือนหนึ่งๆ

2. ผ่านสถาบันการเงิน อาทิ บัตรเครดิต หรือบัตรไดเร็คเดบิต เป็นต้น เบื้องต้นจะจับมือกับพันธมิตรที่เป็นร้านค้าหรือบริการต่างๆ ที่เหมาะสมกับการใช้จ่ายเงินไม่สูงนัก (ไมโครเพย์เมนท์)

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.