APEC โลกของความแตกต่าง หุ้นส่วนเศรษฐกิจของสมาชิกที่หลากหลาย
รายงาน

ในระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายนนี้ จังหวัดขอนแก่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (APEC meeting of ministers responsible for trade หรือ APEC MRT 2003) โดยหัวข้อ (theme) ของการประชุมจะใช้หัวข้อเดียวกับประเด็นหลักในการประชุมผู้นำ APEC ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯก็คือ "โลกแห่งความแตกต่าง : หุ้นส่วนเพื่ออนาคต หรือ A World of Differences : Partnership for the Future" แต่การประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC จะเน้นการเสริมสร้างการค้าและความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก APEC ที่มีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรมและระดับการพัฒนา เพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

แต่หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า จุดกำเนิดของ APEC เมื่อในปี 2532 ก็คือ APEC เกิดขึ้น เนื่องจากการเจรจาของประเทศภาคี GATT หรือที่เรียกว่า การเจรจารอบอุรุกวัย ในขณะนั้นกำลังมีปัญหาเนื่องจากประเทศภาคี GATT ไม่สามารถปิดรอบการเจรจาได้ ทำให้การเจรจายืดเยื้อ ดังนั้น สหรัฐกับออสเตรเลียจึงเห็นว่าควรจะมีการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าและการ เปิดเสรีระหว่างสมาชิกในกลุ่ม จากแนวความคิดนี้เอง APEC จึงถือกำเนิดเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ APEC ถือกำเนิดขึ้นมา 14 ปี ด้วยจำนวนประเทศสมาชิก 21 ราย ได้แก่ สหรัฐ, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, ไทย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จีน, ไทเป, ฮ่องกง, ปาปัวนิวกินี, ชิลี, เปรู, เวียดนาม และรัสเซีย จุดประสงค์ในเรื่องการส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีทางการค้าก็เปลี่ยนไป จากข้อจำกัดที่ว่า APEC ได้วางตำแหน่งตัวเองไว้ให้เป็นเวทีของการปรึกษาหารือ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ใน APEC จึงต้องยึดหลักฉันทามติ เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย การส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีทางการค้าจึงกลายเป็น เรื่องพูดกันไปพูดกันมา ทำแผนกันไปทำแผนกันมา แต่ไม่มีผลทางปฏิบัติ เพราะมติ APEC ไม่มีผลทางกฎหมาย บังคับสมาชิกไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงกลายเป็นเรื่องของความสมัครใจ

ดังนั้น APEC จึงยึดแผนงานหลัก 3 ด้านมาโดยตลอด ได้แก่ 1)การเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน 2)การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และ 3)ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ecotech) ซึ่งแผนงานทั้ง 3 ด้าน ได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุม APEC ทุกปี โดยการประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2537 ก็เช่นกัน ที่วาระการประชุมจะหนีไม่พ้นเรื่องของการพิจารณาทบทวนการดำเนิน งานตามแผนความร่วมมือในประเด็นทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีและผู้นำ APEC ในช่วงปลายปี

สำหรับวาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC ในครั้งนี้ จะมีวาระสำคัญ 2 หัวข้อหลัก ได้แก่

1)การขยายการค้าและการลงทุน (expansion of trade and investment) ซึ่งจะประกอบด้วยหัวข้อย่อย คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่ประชุมจะทบทวนกระบวนการทำงานในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้บรรลุเป้า หมาย ลดต้นทุนการนำเข้า-ส่งออก (transaction cost) ลงร้อยละ 5 ภายในปี 2006 ตามที่ผู้นำ APEC ประกาศไว้ในการประชุม APEC ที่เซี่ยงไฮ้ใน ปี 2544

นอกจากนี้ มาตรการรักษาความปลอดภัย (secure trade in the APEC region หรือ STAR) ที่สหรัฐเป็นผู้เสนอขึ้นระหว่างการประชุมผู้นำ APEC ที่เม็กซิโกในปี 2545 ในการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกจะหารือกันถึงการดำเนินการเรื่อง STAR ให้มีผลกระทบต่อการค้าน้อยที่สุด และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้จะมีความช่วยเหลือ capacity building กับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหรัฐ ในการจัดซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและอบรมบุคลากรด้วย

การผลักดันมาตรการการค้าไร้กระดาษ (paperless trading) โดยใช้ระบบส่งผ่านข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารกระดาษในการผ่านพิธีการศุลกากรและทางการค้าอื่นๆ นอกจากนี้ไทยจะยกปัญหาเรื่องการใช้มาตรการสุขอนามัย (SPS) ที่เข้มงวดของประเทศสมาชิก APEC บางประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) โดยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในภูมิภาค APEC

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องต่อเนื่องจากการประชุม APEC ครั้งที่ผ่านมา เช่น การปฏิบัติตามมาตรฐานความโปร่งใสของเอเปก (APEC transparency standards), โครงการ pathfinder initiatives เป็นโครงการนำร่องโดยให้ประเทศสมาชิกที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการไปได้ก่อน, แผนปฏิบัติการรายประเทศ (individual action plans หรือ IAPs) และแผนปฏิบัติการร่วม (collective action plans หรือ CAPs), โครงการบัตรเดินทางธุรกิจของ APEC ที่คาดว่าไทยจะพร้อมเข้าร่วมโครง การเต็มรูปแบบกลางปีนี้ รวมทั้งความร่วมมือด้านความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น life-science innovation forum เป็นเวทีหารือร่วมภาครัฐ เอกชน และวิชาการ เพื่อพัฒนานโย บายในการสร้างนวัตกรรมด้าน life-science ซึ่งก่อให้เกิดการลงทุนที่เห็นผลในทุกขั้นตอนของการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การตรวจพบและป้องกันดูแลรักษาโรคติดต่อและโรคที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงทุกขั้นตอนของมูลค่าเพิ่มในวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ life sciences ที่เริ่มตั้งแต่การวิจัย การพัฒนา การผลิตเชิงอุตสาหกรรม และการตลาดสู่ผู้บริโภครวมถึงผู้ป่วย

2)บทบาทของ APEC ในการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี (strengthening the multilateral trading system) โดยในเดือนกันยายน 2546 จะมีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 5 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ดังนั้นในการประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ APEC จะแสดงบทบาทนำในการส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจน และผลักดันเรื่องสำคัญที่ค้างอยู่ในการเจรจาการค้าโลกที่กำลังประสบปัญหาความชะงักงันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการเจรจาสินค้าเกษตร และการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีการค้า APEC จะใช้เวทีที่จังหวัดขอนแก่นหารือร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC bussiness advisory council หรือ ABAC) ถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานต่างๆ ของ APEC ให้ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.