เอเชียนำทัพ แจ้งเกิดตลาดโอเพ่นซอร์ส

สิงคโปร์ - นักวิเคราะห์เผย รัฐบาลเอเชีย แห่หนุนระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์ส หวังเลี่ยงค่าลิขสิทธิ์มหาโหด พร้อมลดอิทธิพลบริษัทซอฟต์แวร์ต่างชาติ ชี้อินเดีย-จีน-มาเลเซีย นำทีมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประจำชาติ ขณะแม่ข่ายลินิกซ์ ครองสถิติเติบโตสูงสุดในภูมิภาค

 

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทย ได้มีข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ลินิกซ์ในเอเชีย เพื่อลดอัตราการนำเข้าซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ และในช่วง 1 เดือนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็เข้าพบปะหารือกัน เพื่อหาทางสนับสนุนให้ลินิกซ์ กลายเป็นทางเลือกใหม่แทนการใช้วินโดว์ส

 

จากสถิติของปีที่แล้ว ลินิกซ์มีส่วนแบ่งในตลาดแม่ข่ายเอเชีย โดยไม่นำรวมประเทศญี่ปุ่น ราว 10% เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 7% เมื่อปี 2544 ขณะที่ทางไอดีซียังทำนายว่า ตัวเลขดังกล่าว จะกระโดดขึ้นเป็น 28% ภายในปี 2551

ตัวเลขดังกล่าวหมายความว่า ลินิกซ์จะมีอัตราการเติบโตในเอเชียถึงปีละ 38% ทำให้ระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สตัวนี้ กลายเป็นแพลตฟอร์แม่ข่าย ที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาค ขณะที่อัตราการเติบโตทั่วโลก ในช่วงเวลาเดียวกัน น่าจะอยู่ที่ระดับ 27% เมื่อเปรียบเทียบกับโอเอสคู่แข่งแล้ว ยูนิกซ์มีส่วนแบ่งในตลาดแม่ข่ายเอเชีย ลดลงจาก 14% เมื่อปี 2544 เหลือ 13% ในปี 2546 ส่วนวินโดว์ส มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2544 เป็น 66% ในปีที่แล้ว

 

เลี่ยงค่าธรรมเนียมวินโดว์ส

ทั้งนี้ ลินิกซ์ ถือเป็นซอฟต์แวร์ "โอเพ่นซอร์ส" ตัวหนึ่ง เนื่องจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถคัดลอกและแก้ไขเปลี่ยนแปลงรหัสโปรแกรมพื้นฐานได้โดยอิสระ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้โปรแกรมเมอร์ทั่วอุตสาหกรรม สามารถร่วมมือกันพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้ ต่างจากซอฟต์แวร์องค์กร เช่น ซอฟต์แวร์วินโดว์สของไมโครซอฟท์ หรือโซลาริสของซัน ที่มีการปกปิดรหัสโปรแกรมเป็นความลับ

 

ด้านนายเทเรนซ์ เอ็นจี ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำทวีปเอเชียของซัน กล่าวว่า ต้นทุนด้านค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ ในการใช้วินโดว์ส เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชีย หันมาสนใจลินิกซ์ "เงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเช่าซอฟต์แวร์องค์กร อาจช่วยให้รัฐบาลในตลาดกำลังพัฒนาบางแห่ง อย่างมาเลเซียและเวียดนาม สามารถสร้างสะพาน หรือแม้แต่ซื้อเครื่องบินได้เลย" เขากล่าว นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคาแล้ว รัฐบาลในเอเชียยังหันมาสนใจลินิกซ์ เนื่องจากปัญหาด้านรูโหว่ระบบความปลอดภัย ในซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ ขณะที่การใช้รหัสซอฟต์แวร์ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งถือครองแต่เพียงผู้เดียว ยังอาจคุกคามความมั่นคงของชาติได้

 

เร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ประจำชาติ

นายริค ซีเวลล์ ผู้จัดการฝ่ายโปรแกรมลินิกซ์ บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด โค.ประจำเอเชีย แปซิฟิก เผยว่า โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย, จีน และมาเลเซียนั้น ลินิกซ์จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลเหล่านี้ พยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของตนเองอยู่ "วิธีการดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนา สามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่จำเป็นต้องพึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ต่างประเทศ" เขาเสริม  และแม้ว่าอัตราการใช้ลินิกซ์ มีทีท่าว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ใช่ว่าซอฟต์แวร์ตัวนี้ จะไม่มีข้อบกพร่องใดๆ นักวิเคราะห์เผยว่า เทคโนโลยีดังกล่าว เหมาะกับการใช้งานบนแม่ข่ายที่รันงานชนิดเดียว หรือมีฟังก์ชันง่ายๆ เช่น ไฟร์วอลล์ และเครือข่ายเสมือนจริงส่วนบุคคล มากที่สุด  "นี่เป็นเพราะโครงสร้างของลินิกซ์ ไม่สามารถเพิ่มสเกลได้ดีเท่ายูนิกซ์" นายรัจนิช อาโรร่า นักวิเคราะห์ประจำไอดีซี กล่าว "และยังมีปัญหาด้านความเสถียร ที่ทำให้ยังไม่ค่อยมีการนำลินิกซ์ มาใช้รันงานที่สำคัญๆ และมีปริมาณมาก"

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.