เอเชียแปซิฟิกดาวรุ่ง "บริการเสียงผ่านเน็ต"

ไอดีซี ชี้ ปี 2548 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นตลาดดาวรุ่งของ "บริการเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (วอยซ์โอเวอร์ไอพี : VOIP)" ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 113% หรือประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบุนโยบายเปิดเสรีสื่อสารจะสร้างแรงกดดันผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ขยายตัว

นายไซมอน ชู นักวิเคราะห์อาวุโส กลุ่มวิจัยสื่อสารอุปกรณ์ไอพีและบรอดแบรนด์ เอเชียแปซิฟิก บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น (ไอดีซี) กล่าวว่า ตลาดการให้บริการสื่อสารเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล (VOIP: Voice Over Internet Protocol) ของผู้ให้บริการรายต่างๆ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่า ในปี 2548 จะทำรายได้ถึงประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่นับรวมญี่ปุ่น หรือเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่อง 113% ขณะที่ มูลค่าตลาดอุปกรณ์เครือข่ายจะโตเฉลี่ย 35% หรือมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 ส่วนมูลค่าโดยรวมของการใช้งานวอยซ์โอเวอร์ไอพีในภูมิภาคนี้ ไม่รวมญี่ปุ่น ซึ่งรวมมูลค่าการซื้อขายอุปกรณ์ต่างๆ ในปี 2548 คาดว่า อยู่ที่ 101,507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2547 ที่มีมูลค่าราว 90,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่า 79,147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 โดยปีหน้าคาดว่า มูลค่าตลาดจะอยู่ในระดับ 60,869 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีนี้คาดว่าตลาดรวมอยู่ที่ 54,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการแบ่งตามตลาดของกลุ่มผู้ใช้งานนั้น คาดว่า ในปี 2548 จะมีตลาดหลักในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป (รีเทลล์) ที่เข้าถึงบริการสาธารณะที่ใช้เทคโนโลยีวอยซ์โอเวอร์ไอพี ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ให้ในสัดส่วน 8,114.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้จากตลาดองค์กรราว 2,620.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

"บางประเทศที่มีอัตราจำนวนโทรศัพท์ต่อประชากรต่ำ (teledensity) ทั้งจีน และอินเดีย ตลาดผู้ใช้ทั่วไปจะโตมาก ขณะที่ในประเทศที่มีอัตราจำนวนโทรศัพท์ต่อประชากรสูง การใช้งานในองค์กรมากกว่าผู้ใช้ทั่วไป ส่วนในประเทศไทยนั้น เชื่อว่า แนวโน้มของตลาดนี้น่าจะเกิดจากกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปก่อน" นายชู กล่าว

4 ปัจจัยหลักหนุนตลาด

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดวอยซ์โอเวอร์ไอพี ในภูมิภาคนี้ จะประกอบจาก 4 ด้านหลัก ได้แก่

1. อัตราการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศที่ลดต่ำลง ซึ่งส่งผลให้การให้บริการรูปแบบเดิมผ่านเทคโนโลยี ที่เป็นเครือข่ายเซอร์กิต สวิตช์นั้นสร้างรายได้ลดลง ผู้ให้บริการจึงต้องเริ่มสนใจเทคโนโลยีใหม่ในรูปแบบ "แพ็คเกจ สวิตช์" มากขึ้น

2. แนวคิดในการรวม (Convergence) ของเครือข่ายเสียง ข้อมูล ภาพ และบริการอื่นๆ ไว้ภายใต้เครือข่ายเดียว จากเดิมที่แยกกันให้บริการผ่านหลายเครือข่าย ทำให้ต้นทุนต่ำลง ขณะที่ให้บริการได้หลากหลายมากขึ้น

3. อุปกรณ์ของผู้ใช้ปลายทางที่รองรับเทคโนโลยีมีความหลากหลายขึ้น ทั้งไอพี สวิตช์ ระบบปฏิบัติการซอฟต์แวร์ และการมีมาตรฐานการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ที่เป็นเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างค่ายๆ

4. การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการในประเทศที่เปิดเสรีทั้งออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เกาหลี มาเลเซีย และไต้หวัน และประเทศที่กำลังเปิดเสรี เช่น ไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ปัจจัยข้อนี้ ส่งผลผู้ให้บริการแต่ละรายจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และต้องหารายได้จากบริการเสริม โดยเฉพาะด้านวอยซ์โอเวอร์ไอพี และบริการรับจัดการเครือข่าย (แมเนจเน็ทเวิร์ค เซอร์วิส) ซึ่งกำลังเป็นตลาดที่เติบโต

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.