4 กระทรวงร่วมดันงานวิจัยเพื่อคนหูหนวก

ไอซีที ผนึก 3 กระทรวง ร่วมผลักดันงานวิจัยไทยเพื่อช่วยการสื่อสารของคนหูหนวก เน้นต่อยอดสู่การใช้งานจริง พร้อมเตรียมเสนอ ครม. ของบสนับสนุนโครงการเบื้องต้น

 

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงไอซีที จะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีสำหรับคนหูหนวก ให้ถูกนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์และใช้งานได้จริง โดยทั้ง 4 กระทรวง จะทำข้อตกลงร่วมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อร่างเป็นแผนงานต่อ ครม. เสนอของบประมาณ และบังคับใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

สำหรับงานวิจัยดังกล่าว ได้แก่ ระบบคำบรรยายภาพทางโทรทัศน์แบบซ่อนได้ (Closed Caption) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครื่องโทรศัพท์สำหรับคนหูหนวก และเครื่องโทรอักษร ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น ตลอดจนซอฟต์แวร์ภาษามือ 3 มิติ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

"โครงการนี้รัฐจะสนับสนุนในช่วงเริ่มต้น โดยเน้นงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ สำหรับนำไปใช้ในหน่วยงานที่มีคนพิการ แต่จะไม่สนับสนุนด้านการผลิต เพราะมองว่าหากเอกชนเข้ามาดำเนินการเชิงพาณิชย์เอง ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์" คุณหญิงทิพาวดีกล่าว

 

นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที ยังเตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อประกาศเป็นนโยบายให้ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และสถานีโทรทัศน์ จัดทำระบบบรรยายภาพโทรทัศน์แบบซ่อนได้ (Closed Caption) เพื่อให้ผู้พิการทางหู ได้รับรู้เนื้อความของรายการทัดเทียมกับคนปกติ โดยที่ผู้ผลิตรายการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเองทั้งหมด เนื่องจากเนคเทค ได้คิดค้นอุปกรณ์แปลงสัญญาณบรรยายภาพ ที่สามารถนำไปเชื่อมต่อกับเครื่องโทรทัศน์ได้สำเร็จแล้ว ด้วยต้นทุนเครื่องละ 3,000 บาท

 

ด้าน รศ.ดร.เอกชัย ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัย กล่าวว่า ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อาจต้องใช้เวลาอีก 1 วัน ในการใส่คำบรรยายใต้ภาพ โดยระบบจะทำการซ่อนคำบรรยายไว้ด้วยการเข้ารหัส เพื่อไม่ให้รบกวนสายตาสำหรับคนปกติ แต่ระบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนหูหนวกที่มีเครื่องถอดรหัสเป็นตัวอักษร ส่วนการนำไปใช้กับรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศสด อาจบรรยายได้ล่าช้ากว่าภาพที่ปรากฏ เพราะต้องมีเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลในระหว่างออกอากาศ ทั้งนี้ระบบสามารถรองรับได้ทั้งคำบรรยายไทย และภาษาอังกฤษ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.