ปาฐกถาพิเศษ ทิศทางการลงทุนอุตฯยานยนต์ ปี 2547-2550

คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ประเทศไทย เส้นทางหลักสายใหม่ที่คับคั่งด้วยโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์แห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสนับ สนุนอย่างเต็มกำลังจากรัฐบาล กอปรกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่นี่จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมการลงทุน การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถปิกอัพที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด และกรังด์ปรีซ์กรุ๊ป จึงได้จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ปี พ..2547-2550" โดยมีผู้ร่วมสัมมนาจากภาครัฐบาลและบริษัทเอกชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์

นโยบายรัฐต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการกำหนด "อุตสาหกรรมเป้าหมาย" ขึ้น โดยบรรจุอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าไปเป็นลำดับที่ 2 เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย ด้วยสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึงกว่า 10% ในปัจจุบันสูงประมาณ 16% ของจีดีพี มีการจ้างงานประมาณ 8-9% ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และยังขยายไปยังภาค เอสเอ็มอี ที่เรียกว่าอุตสาหกรรมสนับสนุนมากมาย หากสามารถพัฒนาและผลักดันได้สำเร็จ จะมีผลทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ นั้นเจริญเติบโตขึ้นไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมนี้ยังเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนไปยังทุกมุมโลก หากสามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว เสมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้วนแล้วแต่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น สำหรับปัจจัยที่ประสบความสำเร็จ คือ 1.เรื่องของต้นทุน 2.มีคุณภาพ 3.การตลาด ที่สามารถตอบสนองกับรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปค่อนข้างรวดเร็ว และ 4.เป็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระหว่างเรื่องของการพัฒนา การหาอุปกรณ์ซัพพอร์ตทั้งหลาย และเน็ตเวิร์กกิ้ง

เมื่อพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ เรามีความเชื่อว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา กว่าที่บริษัทรถยนต์หนึ่งค่ายจากเอเชียจะสามารถเติบใหญ่ขึ้นมาได้ใช้เวลาร่วม 1 ทศวรรษ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ตลาดที่เป็นตลาดหลักของอุตสาห กรรมรถยนต์นั้น ไม่พ่ายแพ้อเมริกาหรือยุโรปเลย คือตลาดในเอเชีย เหตุผลคือ จากที่ผมกล่าวมาเมื่อสักครู่ เรื่อง ของขนาดตลาดในเอเชียนั้นยิ่งใหญ่นัก ดูจำนวนประชากรถ้าลองนับประเทศจีนประเทศเดียว ผู้บริโภคกว่าพันล้านคน อินเดียพันกว่าล้านคน อาเซียนห้าร้อยกว่าล้านคน ตลาดนี้ใหญ่มาก ถ้าพูดถึงเรื่องการอิ่มตัวนั้นยังอีกนาน อัตรา ส่วนของประชากรต่อรถยนต์ 1 คัน ญี่ปุ่นเท่ากับ 2 ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ สัดส่วนประมาณ 5 ต่อ 1 ไทยที่ 12 ฟิลิปปินส์ 30 อินโดนีเซียที่ 60 ต่อ 1 ไม่ต้องพูดถึงจีน ถึงอินเดีย โอกาสสูง ด้วยไซซ์ของประชากร ด้วยสัดส่วนของรถยนต์ต่อหัว และด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้น จะต้องพยายามพิสูจน์ให้กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์รายใหญ่เชื่อว่า ประเทศนั้นจะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของการนำเสนอ เรื่องของต้นทุนการผลิต เทคโนโลยี มาร์เก็ตติ้ง เป็นศูนย์กลางของการประสานงานได้ ซึ่งประเทศไทยนั้นสามารถทำได้

ผมได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำกับเขาว่า อนาคตข้างหน้าในเอเชียจะมีศูนย์กลางอยู่แค่ 2 แห่ง นอกเหนือจากญี่ปุ่น ศูนย์กลางที่จะเป็นฐานแห่งแรกคืออาเซียน ด้วยความใหญ่โตของอาเซียน มีประชากรกว่า 500 ล้านคน และอาฟต้ากำลังจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ในไม่ช้า สิ่งเหล่านี้คือพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จะเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับในอาเซียน และสำหรับการส่งออกสู่ประเทศข้างเคียง ถ้าหากท่านจะมาลงทุนในอาเซียน ท่านไม่ต้องไปมองประเทศอื่นเลย เพราะประเทศไทยคือศูนย์กลางที่แท้จริงของอาเซียน ในยามที่เศรษฐกิจเราตกสะเก็ดเกิดวิกฤต การณ์การพูดเช่นนี้ทุกคนคงมีเครื่อง หมายคำถามตัวใหญ่ๆ ขึ้นมาว่า ท่านจะทำได้จริงหรือเปล่า แต่ในวันนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จีดีพีเติบ โตจาก 1.6 เป็น 6.1 และจะเป็น 8% ในปีข้างหน้า อันนี้สรุป beyond economics oriental เพิ่มขึ้นกว่า 500% และถ้าถามว่ามันจะตกลงมามั้ย ตอบได้เลยว่าไม่มีตก เพราะที่ผ่านมานั้นรัฐบาลยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เป็นเพียงการขันนอตประเทศไทยที่หลวม เป็นการต่อเติมการบริหารจัดการ ซึ่งเราไม่เคยมีการบริหารจัดการที่แท้จริงมานานแล้ว เมื่อเราใส่เรื่องของการบริหารจัดการเข้าไป เราขันนอตทุกตัวให้แน่น เราเริ่มจากการปฏิรูปจีดีพีเติบโตถึงเพียงนี้

ฉะนั้นปีข้างหน้า เราจะพยายามรักษาเสถียร ภาพของการเติบโตไว้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อจีดีพีเติบโต เสถียรภาพทางการเมืองแน่นแฟ้น มองไปข้างหน้า โอกาสพลิกเกมทางการเมืองเกิดขึ้นยากมาก หมายความว่านโยบายอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐบาลประกาศออกไป อยู่อย่างน้อยๆ 8 ปี นานที่สุดเท่าที่ท่านจะหาได้จากทุกประเทศในโลกนี้ เมื่อเสถียร ภาพทางการเมืองที่แน่นแฟ้น จีดีพีที่เติบโต รัฐบาลชุดนี้กว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคเอกชน ทราบดีว่าปัญหาของท่านคืออะไร  เราได้บอกผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในขณะนั้น ขอให้ท่านมาที่ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นศูนย์ กลางที่จะไปถึงเขตจีเอ็มเอส หรือกลุ่มลุ่มน้ำโขง ทะเลสู่จีนตอนใต้ ฉะนั้นอาเซียนจะไม่จำกัดวงอยู่แค่ 10 ประเทศ มันสามารถทะลุขึ้นไปอยู่ข้างบน แล้วประเทศไทยเป็นทางผ่านหรือเป็นเซ็นเตอร์ ทางเหนือนั้นขึ้นไปสู่จีเอ็มเอส ทะลุจีนลงมาทางใต้คืออินโดจีนกับกลุ่มประเทศที่เหลือ ทางเชื่อมโยงเหล่านี้บวกกับการที่ไทยพยายามช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เราได้ตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนา เป็นบาทโลน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยความแน่นแฟ้นของ 4 ประเทศ ในอนาคตจะสามารถขยายไปสู่ประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมอยู่แล้ว ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ อาเซียนจะเข้มแข็งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีประเทศไทยเป็นหัวใจ แต่ท่านจะปฏิเสธประเทศจีนไม่ได้เลย ฉะนั้นขาข้างที่สองของผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งหลาย คือ ประเทศจีน คนเป็นพันๆ ล้าน ถ้าไม่ไปลงทุนที่นั่น ก็ไม่มีสายตาที่กว้างไกล อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เมืองจีนมีการพัฒนาที่เร็วมาก และคุณภาพดีขึ้น จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายๆ ค่ายยังมีช่วงห่างอยู่ช่วงหนึ่ง ระหว่างไทยกับจีน

ขณะนี้เรานำหน้าจีนอยู่ในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเรื่องของฝีมือแรงงาน ในเรื่องของคุณภาพสินค้า ที่ประกอบออกมาได้ ฉะนั้นในสายตาของผู้วางนโยบาย เราไม่ได้มองว่าจีนเป็นคู่แข่ง แต่เรามองว่ามันต้องไปด้วยกัน และเราต้องเอาตัวเรานั้นอยู่เหนือจีนอย่างน้อยๆ 1 ช่วงตัว และประเด็นความท้าทายของรัฐบาล คือ จะทำยังไงในการรักษาช่วงห่างนี้เอาไว้ให้ได้ใน 10 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่าประเทศจีนนั้นเป็นประเทศใหญ่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีน ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตชิ้นส่วนในประเทศ แต่การมาลงทุนใน อาเซียนนั้น เป็นการลงทุนเพื่อการทำตลาดในภูมิภาคและการส่งออก แน่นอนที่สุด ถึงจุดหนึ่ง การที่ไปลงทุนในจีนก็ต้องส่งออก แต่ว่ามันยังมีช่วงเวลาตรงนั้นอยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลไทย คือ เมื่อเราสามารถทำตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ได้ เราต้องพยายามพัฒนาตัวเราเองนั้น ไม่ให้พ่ายแพ้กับศูนย์กลางและฐานใดๆ ในโลกนี้ ประเทศไทยมีจุดดีหลายข้อ ตลาดแรงงาน โครง สร้างพื้นฐาน เสถียรภาพทางการเมือง

ถามว่านโยบายอะไรที่รัฐบาลต้องพยายามเร่งออกมา หลายคนบอกว่าต้องเป็นภาษี แน่นอนเราต้องยอมรับว่าอัตราภาษีสรรพสามิตของเรานั้นยังค่อนข้างสูงอยู่ แต่นี่เป็นนโยบายแล้วว่ากรมสรรพสามิตกำลังดูทั้งระบบอยู่ แล้วไปเปรียบเทียบกับอัตราภาษีของประเทศอื่นๆ ฉะนั้นจะลดเท่าไร เวลาไหน ต้องคิดถึงเชิงยุทธศาสตร์ และจะต้องทำให้ไทยไม่เสียเปรียบในเชิงของการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะต้องพยา ยามที่จะโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการรถยนต์ทุกค่ายทุกสำนักในโลกนี้ ไม่ว่ายุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี หรือค่ายใดๆ ก็แล้วแต่ ประเทศไทยจะเป็นพาร์ต เนอร์ที่ลึกล้ำลึกซึ้ง เราจะไม่ทอดทิ้งซึ่งกันและกัน เพราะถ้าหากท่านบอกว่าจะมาลงทุนอุตสาห กรรมในเมืองไทย เพียงแค่มาประกอบแล้วก็ไป เราไม่ต้องการ แต่ถ้าท่านคิดที่จะเป็นพาร์ตเนอร์อย่างแท้จริง เวลามาลงทุนที่นี่ ลงทุนอย่างเต็มหัวใจ วางเมืองไทยเป็นศูนย์กลาง ไม่เพียงแต่การประกอบรถยนต์ เป็นศูนย์กลางของโนว์ฮาว การคิดค้น เรื่องของวิธีการวิจัยและพัฒนา คิดดีไซน์อย่างไรให้สินค้าตัวนั้นสามารถขายได้ ทำอย่างไรที่จะเอาเทคโนโลยี โนว์ฮาว และคลัสเตอร์ที่สำคัญมาซัพพอร์ตอินดัสทรีของท่าน อุปกรณ์อะไหล่ในรถยนต์ เข้ามาทุ่มเทจิตใจทำให้มันดี เสมือนหนึ่งว่าที่นี่เป็นอีกบ้านหนึ่งของท่าน

เพราะฉะนั้นผมได้กำชับบีโอไอว่า อนาคตข้างหน้าการให้บริการอย่างครบวงจรกับผู้ประกอบการนั้นคือหัวใจสำคัญ อัตราภาษีต่างๆ นับวันจะเริ่มล้าสมัย หน้าที่ของรัฐบาล คือ การสร้างคลัสเตอร์ที่แข็งแรง เพราะเมื่อไหร่ที่ซัพพอร์ตติ้งอินดัสทรีแข็งแรงขึ้นมา จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นสามารถผลิตสินค้าที่ดีและต้นทุนต่ำ ผมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ การให้ความช่วยเหลือทุกกรณี การเชื่อมโยงกับรัฐบาลของต่างประเทศ เราตั้งใจไว้ว่าเราจะกระชับในหลักรัฐต่อรัฐ และเอกชนพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน รัฐบาลจะต้องพยายามพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพยายามทำ แต่ ณ วันนี้เราการันตีกับท่านได้ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่แท้จริง เรามั่นใจว่านโยบายที่เราวางไว้แล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผมไม่เชื่อว่า FTA นั้นจะทำให้สินค้าจากข้างนอกมาตีเมืองไทย FTA เกิดเมื่อไหร่ สินค้าเราจะไปตีตลาดโลกข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย รัฐบาลก็ปล่อยปละละเลย เอกชนก็มาเพียงแค่ผิวเผิน ในไม่ช้ารถยนต์ที่ผลิตในไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ ช่วงที่ทิ้งห่างจากคู่แข่งนั้น มันก็จะหายไป

ประเทศไทยกับเอเชียในตลาดโลก
นายวิลเลี่ยม เอส. บอทวิค ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในเมืองไทยมีอัตราเติบโตสูงสุดในอาเซียน และยังมีการขยายตัวสูงกว่าตลาดในประเทศจีน ซึ่งทางจีเอ็มได้ตัดสินใจลงทุนสร้างฐานการผลิตในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2539 เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในเครือจีเอ็มสำหรับกลยุทธ์ของจีเอ็มในภูมิภาคนี้มีหลายประการด้วยกัน 1.เพิ่มคุณภาพ วางแผนการผลิตรถยนต์ในกลุ่มจีเอ็ม เพื่อเสริมสร้างตลาดในประเทศต่างๆ 2.สร้างกลุ่มแบรนด์ที่มีมาตรฐานทั้งภูมิภาค ในอาเซียนเป็นเชฟโรเลต โฮลเด้นในออสเตรเลีย แดวูในเกาหลีและเวียดนาม ฮัมเมอร์ คาดิลแลค ซาบ ในตลาดเฉพาะกลุ่ม 3.รวมพลังที่แข็งแกร่งกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ทั้งอีซูซุ ซูบารุ แดวู เห็นได้จากความร่วมมือในการผลิตรถปิกอัพ ไอ190 ซึ่งสามารถทำยอดขายปีแรกได้ 1 แสนคันในไทย และยังส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ลักเซอรี่คาร์...การกลับมาที่ร้อนแรง
นายคาร์ล ไฮน์ เฮคเฮาเซ่น ประธานบริหาร บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์หรูหราในเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว แม้ว่าในปี 2540 จะประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ยอดขายรถหรูตกลงเหลือ 5,000 คัน แต่ปัจจุบันยอดขายขึ้นมาถึง 12,000 คัน สำหรับรถเบนซ์ในปีนี้คาดว่าจะขายได้ 5,100 คัน บริษัทตั้งเป้าที่จะโตกว่า 10,000 คันในอนาคตอันใกล้ โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จของเบนซ์หลายประการด้วยกัน คือ 1.ผู้บริโภค ดอกเบี้ยต่ำ มีเขตการค้าเสรีต่างๆ 2.ผลิตภัณฑ์ของเดมเลอร์ไครสเลอร์ มีเทคโนโลยีที่สูงเกินความคาดหวังของลูกค้า รวมทั้งความร่วมมือของตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพในประเทศ

เมืองไทยยังเนื้อหอม
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก่อตั้งมาแล้ว 40 กว่าปี ถ้ารวมตัวเลขโตโยต้า โอเปอเรชั่น ในประเทศไทย จะมีพนักงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 8 หมื่นคน ในขณะนี้กำลังการผลิตของโตโยต้ากำลังขยายให้เป็น 3 แสนตันต่อปี โดยเน้นการประกอบรถปิกอัพที่จะขยายเป็น 2 แสนคันต่อปี ส่วนที่เกตเวย์นั้น เป็นโรงงานประกอบรถยนต์นั่ง มีกำลังการผลิต 1 แสนคัน และยังได้มีการประกาศตัวเรื่องการลงทุนใหม่ ไอเอ็มวี โปรเจ็กต์ เป็นมูลค่า 42,800 ล้านบาท มีการลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาอีก 2,700 ล้านบาท สำหรับยอดขายของโตโยต้า เราเคยขายสูงสุดเมื่อปี 2539 ประมาณ 164,000 คัน ช่วงเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2541 เราขายเพียง 42,000 คันเท่านั้น หลังจากนั้นเติบโตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปีนี้เราสามารถทำสถิติใหม่ได้โดยการขาย คาดว่าคงจะเกิน 180,000 คันแน่นอน

ในตลาดโลกนั้น ไทยอยู่ลำดับที่ 3 นอกจากประเทศญี่ปุ่น ที่หนึ่งคือสหรัฐอเมริกา มียอดขายประมาณ 1.5 ล้านคัน ที่สอง ออสเตรเลีย 157,000 คัน ของไทย 10 เดือนเราขายไป 150,000 คัน ตามหลังออสเตรเลียประมาณ 7,000 คันเท่านั้น ตอนนี้กำลังแข่งขันกับออสเตรเลียอยู่ ว่าใครจะเป็นเบอร์สองในอนาคต ในส่วนของลำดับที่สี่เป็นแคนาดา อันดับห้าเป็นประเทศอังกฤษ แผนการในอนาคต โตโยต้าจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และตัวเชื่อมโครงข่ายต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก เน้นเรื่องของการทำต้นทุนที่ถูก แต่คุณภาพดี และเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญเรามีนโยบายหลักในเรื่องของการเพิ่มตลาดในประเทศและการส่งออก ที่จะเริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในปี 2005 คาดการณ์ว่าจะมีการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน และเรามีนโยบายที่จะใช้ชิ้นส่วนให้ครบ 100% ใน 2-3 ปีข้างหน้า

สำหรับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ เทียบกับประเทศจีนและอินโดนีเซีย จะเห็นได้ว่ามุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่น มองว่าเราดีกว่าทั้งสองประเทศเกือบทุกด้าน ยกเว้นเราแพ้จีนในเรื่องของค่าแรงที่ยังถูกกว่า และขนาดตลาดของเขาใหญ่กว่า ตอนนี้ตลาดเมืองจีนมีขนาดประมาณ 3.25 ล้านคันต่อปี แต่ขณะที่ไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 530,000 คัน ถ้ารวมกับส่งออกประมาณ 230,000 คันนั้น หมายความว่าเรามีการผลิตรถยนต์ประมาณ 760,000 คัน ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เราก็มีจุดแข็งในเรื่องของแรงงานที่มีทักษะ ความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพ มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่หลากหลาย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนกระทั่งปลายน้ำ เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลถือว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ในเรื่องของการเปิดการค้าเสรี ประเทศไทยมีการเซ็น FTA ไป 3 ประเทศด้วยกัน คือ ประเทศบาห์เรน มีเรื่องของชิ้นส่วนยานยนต์เกี่ยวข้องบ้าง ประเทศที่ 2 จีน-ไทย เซ็นในเรื่องพืชผักผลไม้ แต่เรื่องของรถยนต์ประเทศจีนยังสงวนท่าทีอยู่ ในอนาคตคาดว่าจะหันมาคุยในเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วย ส่วนประเทศอินเดียเพิ่งเซ็นไปเร็วๆ นี้ เป็นรายการที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด 10 รายการ แต่ต่อไปคงต้องคุยกันมากขึ้นในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับออสเตรเลียได้มีการสรุปข้อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จะมีการเซ็นข้อตกลงในเดือนมีนาคมปีหน้า จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปี"48 โดยข้อเสนอฝ่ายออสเตรเลีย คือ ลดภาษีรถยนต์เป็นศูนย์หมด ปัจจุบันออสเตรเลียภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งอยู่ที่ 15% รถบรรทุกอยู่ที่ 5% ส่วนไทยนั้นเสนอให้ลดภาษีรถยนต์นำเข้า ถ้าเกิน 3 ลิตรขึ้นไป ลดให้เป็นศูนย์ทันที ถ้าต่ำกว่า 3 ลิตรลงมา จะลดขั้นแรกจาก 80% ลงมาเหลือ 30% จากนั้นค่อยลดลงไปจนเป็นศูนย์ในปี 2554

ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลไทยยังมีโครงการที่จะเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศ ถือเป็นข่าวดีที่ว่าประเทศไทยจะเป็นสาวเนื้อหอมให้ประเทศต่างๆ หันมาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะว่าโอกาสที่จะขยายตลาดมีมากขึ้น จีนมีพลเมือง 1,300 ล้านคน อินเดียประมาณ 1,000 ล้านคน สองประเทศรวมกัน 2,300 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ มุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่น มองไทยเหมาะที่จะเป็นฐานการลงทุนอย่างไร 1.มีขนาดตลาดที่น่าสนใจ 2.มีสถานะทางการเมืองค่อนข้างมีเสถียร ภาพ 3.มีอินเซนทีฟจากบีโอไอ 4.มีโครงสร้างพื้นฐานดีในเรื่องของท่าเรือ สนามบิน ระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ 5.มีแรงงานที่มีทักษะ 6.มีอุตสาหกรรมสนับสนุนมากมาย และมีซัพพลายเออร์เยอะแยะ 7.ฟรีแอนด์แฟร์เทรด หมายความว่า เป็นการค้าเสรีและยุติธรรมที่นักลงทุนจะไปลงทุน

สถาบันยานยนต์พร้อมสนับสนุน
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสถาบันยานยนต์ขึ้นเพื่อเชื่อมโยงและประสานงาน ระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ และการที่รัฐบาลได้บรรจุให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และยังเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเชียอาคเนย์ ดังนั้น ทางสถาบันยานยนต์จึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้

สถาบันยานยนต์จัดตั้งขึ้นในปี 2541 หลังวิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทย ในช่วงปี 2542-2543 งานหลักของสถาบันยานยนต์ คือ ช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนและเอสเอ็มอีต่างๆ ให้ฟื้นจากวิกฤต และภาระในขณะนี้ คือ การเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการได้แข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยทำวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปี 2544 ที่ให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยมีภารกิจหลัก คือ 1.ศึกษาและวิจัยธุรกิจยานยนต์ เป็นแกนนำในการรวบรวมข้อมูล เสนอผลงานในรูปของสื่อต่างๆ และคำแนะนำในการ ติดต่อกับภาครัฐ 2.สร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ 3.เสริมสร้างบุคลากร ในอุตฯนี้อย่างต่อเนื่อง 4.การบริการทดสอบและส่งเสริมมาตรฐานยานยนต์ 5.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยเชื่อมโยงกับมหาวิทยา ลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ

สำหรับเป้าหมายในปี 2549 ของแผนแม่บทอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ไว้ 1 ล้านคัน แบ่งเป็นปิกอัพ 7 แสนคัน และรถยนต์นั่ง 4 แสนคัน ในจำนวนนี้ส่งออกมากกว่า 40% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับชิ้นส่วนในปี 2549 จะมีการผลิตมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศกว่า 60% ส่วนตัวเลขการผลิตและส่งออกในปีนี้อยู่ที่ 7.5 แสนคัน เป็นขายในประเทศ 70% ส่งออก 30% ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 5 ของเอเชีย และคาดว่าภายในปี 2549 ไทยจะขึ้นไปถึงอันดับที่ 5 ของประเทศ เพราะขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศต่างๆ ได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.