ส.ยานยนต์ทาบนักลงทุนญี่ปุ่น ดึงเงิน-คนปั้นอุตฯรถยนต์ไทย


"สถาบันยานยนต์" เดินหน้าโครงการรับรองมาตรฐานบุคลากรเต็มสูบ เจรจาญี่ปุ่นได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและเงินทุนมาเสริม เริ่มต้นโครงการด้วย 4 สาขาหลักในอุตสาหกรรม วางแผนไม่เกิน 5 ปีกระจายการรับรองครบทั้งไลน์ผลิต ชี้ความต้องการแรงงานไทยอาจเพิ่มอีก 1 แสนตำแหน่ง

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าของโครงการรับรองมารตรฐานบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยใช้งบประมาณในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุดได้รับความร่วมมือจากทางญี่ปุ่นในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาบุคลากร "เคนโซ โมริ" จากนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมกับในประเทศไทยที่มี "อัจฉรินทร์ สารสาส" เป็นหัวหน้าคณะกรรมการกำกับโครงการ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งนอกจากการสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในโครงการนี้แล้ว ทางเจโทรซึ่งเป็นหน่วยงานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ทางญี่ปุ่นส่งเข้ามาช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งในการพัฒนาบุคลากรครั้งนี้ทางประเทศไทยจะใช้หลักสูตรการสอนของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นพื้นฐานในการสร้างหลักสูตรของประเทศไทย

"ภาพของโครงการและแนวทางการบริหารโครงการนี้มีเป้าหมาย 3 เรื่องที่เราจะทำ คือ 1. มีมาตรฐานฝีมือและระบบรับรองความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เราจะดูว่าหากจะได้รับการยอมรับจะต้องผ่านการสอบอะไรบ้าง 2. เราต้องมีหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรให้สามารถผ่านการสอบได้ และ 3. มีอาจารย์ที่จะมาสอนตามหลักสูตร ซึ่งเราเลือกมา 4 สาขาในช่วงแรก ได้แก่ การปั๊มเหล็ก การหล่ออะลูมิเนียม การฉีดพลาสติก และระบบซีเอ็มซี แมชีนนิ่ง เพื่อวางมาตรฐานและฝึกอบรมอาจารย์สาขาละ 100 คน เป็นส่วนของเอกชนทั่วไป 80 คน ที่เหลือมาจากหน่วยงานราชการและสถานศึกษาต่างๆ" และว่า

โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งสถาบันมีเป้าหมายว่าจะทำการพัฒนาไปถึงจุดไหน และต้องมีมาตรฐานในการสอบประเมินผล ซึ่งที่ทางสถาบันเลือก 4 โครงการนี้ก็เพราะว่าเป็นขั้นตอนหลักของการทำรถยนต์มากกว่า 70% ซึ่งเราก็มีแผนที่จะขยายไปให้ครบทุกขั้นตอนในการผลิต โดยตั้งเป้าว่าจากนี้ไปไม่เกิน 5 ปีจะต้องขยายให้ครบ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าคนไทยเรามีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้มาก แต่ก็เป็นความชำนาญทางด้านทักษะในการทำงาน แต่ไม่มีพื้นฐานในเรื่องของความรู้พื้นฐานของบุคลากร ซึ่งเราเชื่อว่าหากมีการพัฒนาเรื่องนี้ไปควบคู่กันทั้งเรื่องของความรู้และทักษะ รวมถึงวางระบบให้กับบุคลากรใหม่ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราสามารถแข่งขันในเรื่องศักยภาพของบุคลากรได้อย่างแน่นอน

"อันนี้เป็นโครงการเริ่มต้น เรามองว่าเรายังมีจุดที่ต้องพัฒนาอีกมาก เริ่มจากบุคลากรในโรงงานผลิตรถยนต์ เราจะต้องลงไปถึงพวกช่างตามศูนย์บริการต่างๆ ด้วย เพราะเรื่องของบุคลากรเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งเรามองว่าหากบริษัทรถยนต์มาลงทุนเพิ่มเพื่อให้ได้การผลิตรถยนต์ 1.5 ล้านคัน เราอาจจะมีความต้องการแรงงานอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนตำแหน่ง ซึ่งเราเทียบจากปัจจุบันว่าเราผลิตรถยนต์อยู่ 7 แสนคัน ใช้คน 2.5 แสน ซึ่งก็คงเพิ่มในสัดส่วนนี้ เพราะหากต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคจริงต้องผลิตได้ 1.8-2 ล้านคัน"

นายวัลลภกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนี้จะวัดความสำเร็จของโครงการได้จากจำนวนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ถ้าตัวเลขสูงตามเป้าที่วางไว้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ต้องดูในส่วนของมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม และ 3. ต้องวัดผลิตภาพของแรงงานว่าดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากทำอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ อุตสาหกรรมในประเทศก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก ผู้อำนวยการสถาบันยังได้กล่าวถึงโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์ทดสอบและวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาร่วมกับทางสถาบันในการทำการศึกษา ซึ่งตอนนี้มีสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเรากำลังพิจารณาอยู่ทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าเราทำตัวไหนอย่างไร รวมถึงทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วย

"โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าทั้งโครงการกว่า 7,500 ล้านบาท ซึ่งจะค่อยๆ ทำไปเป็นเฟสจนถึงเต็มเฟสจะมีทั้งสนามทดสอบและศูนย์ทดสอบการชน เราต้องการศึกษาว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะฐานการลงทุนเราไม่เหมือนกับเมื่อ 10 ปีก่อน เราต้องดูทั้งการผลิตเพื่อตลาดในและต่างประเทศ เป็นการศึกษาแบบ ดูอัลแทร็กซึ่งมีความเสี่ยงน้อยลง คาดว่าจะเดินหน้าได้ในเร็ววันนี้"

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.