อาร์แอนด์ดีเซ็นเตอร์ หนทางสู่ดีทรอยต์เอเชีย

หลังจากจดจดจ้องๆ เตรียมความพร้อมมากว่า 6 เดือน ในที่สุดกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ฤกษ์เข้าพบนายใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรม ท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และนายกฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มยานยนต์และหน่วยงานอื่นๆ ทำการศึกษาแผนงานต่างๆ ที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น "ดีทรอยต์ออฟเอเชีย" ที่สมบูรณ์แบบ

ในวันนั้นโครงการหลากหลายโครงการถูกงัดขึ้นมานำเสนอท่านนายกฯ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทของงบประมาณการลงทุน แต่ที่สบอารมณ์ท่านนายกฯ คงหนี้ไม่พ้นข้อเสนอที่จะผลิตรถยนต์ 1 ล้านคัน มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทในปี 2549 ซึ่งนายกฯทักษิณ มิได้ลังเลใจรับข้อเสนอทั้งหมดในเบื้องต้น จนกลายเป็นที่มาของการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการศึกษาโครงงานโดยละเอียดอีกครั้ง โดยงบประมาณที่ได้มา จะเน้นไปที่โครงการใหญ่ของประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถของบุคลากร การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วยการใช้วิธีแบบคลัสเตอร์ รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยและพัฒนายานยนต์ ซึ่งโครงการสุดท้าย เป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าจริงๆ ถึง 4.5 พันล้านบาท และการที่ได้รับเงินสนับสนุนโครงการในปีแรกถึง 20 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยรู้สึกว่ารัฐบาลเอาใจใส่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจังก็คราวนี้เอง

ย้อนอดีตกลับเล็กน้อย โครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยของ "นายพิเชษฐ สถิรชวาล" ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ตอบรับคำร้องของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่นำโดยนายปราโมทย์ พงษ์ทอง นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย แต่เพราะกระแสของรถสามล้อไทย ไชโยกลบไว้ ทำให้โครงการนี้ "ค้างเต่อ" เรื่อยมาถึงยุคของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เมื่อมีการนัดแนะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเด็นนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่มีการเสนอเข้ามาโดยนายกสมาคมคนเดิม และก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

สำหรับ Automotive Research and Testing Center หรือศูนย์ทดสอบวิจัยและพัฒนายานยนต์นั้น ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพมาตั้งแต่เริ่มงานได้แก่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นำโดยนายดำริ สุโขธนัง ผู้อำนวยการ และสถาบันยานยนต์ที่นำโดยนายวัลลภ เตียศิริ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี ให้มีศูนย์ทดสอบคุณภาพและการพัฒนาชิ้นส่วนของประเทศไทย โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และขออนุมัติงบประมาณปี 2546 ที่ต้องตั้งเรื่องเบิกในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อใช้เป็นงบฯในการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบฯทั้งหมดนี้ก่อนเดือนกันยายนที่กำลังจะถึงนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี ถึงการเอาจริงและความเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจสั่งการลงมาโดยเด็ดขาด โดยผู้ที่เข้ามาดูแลโครงการนี้ให้ก็หนีไม่พ้นรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถือเป็นมือขวาและมือเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดนายกฯที่สุด

"ปราโมทย์ พงษ์ทอง" บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่แยกออกมาจากเอเชี่ยน ออโต้ มอลล์ ของรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน เป็นโครงการสำหรับการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์อย่างแท้จริง ซึ่งจะรวมในส่วนของสนามทดสอบหรือมูฟวิ่งกราวนด์ที่เคยพูดคุยกันไว้ก่อนหน้านี้เข้าไปด้วย 20 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินก้อนแรก จะถูกนำมาใช้ในการศึกษาแผนงานของโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ตั้ง การก่อสร้าง ฟาซิลิตี้ภายในโครงการ รวมถึงเรื่องของบุคลากรและความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลและเอกชนทั้งหมด ส่วน 4.5 พันล้านที่จะนำมาทำให้เป็นจริงนั้น ยังไม่รู้ว่าจะมาจากฝ่ายรัฐบาลหรือเอกชน แต่คิดว่าอีกไม่เกิน 2 ปีนับจากนี้ ศูนย์วิจัยในฝันของ เอสเอ็มอีไทยทั้งหลายน่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างเสียที

นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยว่า ต้องตะเกียกตะกายในการออกสู่ตลาดต่างประเทศกันมากขึ้น ดังนั้นการมีศูนย์วิจัยและทดสอบของประเทศไทย และอาจจะมีการรับรองมาตรฐานการผลิตให้โดยรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะช่วยผลักดันความฝันเหล่านั้นให้เป็นจริงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เป็นสินค้าหลักของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบอดี้ พาร์ต ชิ้นส่วนหล่อ กระจก ไฟ โช้กอัพ รวมไปถึงเบาะ ซึ่งเรามีมาตรฐานที่ดีและพร้อมที่จะแข่งขันกับต่างชาติอย่างมาก

20 ล้านที่รัฐบาลอนุมัติ จะกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทุกอย่างที่วางแผนไว้เป็นจริงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกชิ้นส่วนจากประเทศไทยมูลค่า 2 แสนล้านบาท และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมาอยู่ที่ 60% จะบอกว่านี่เป็นก้าวแรกที่ต้องติดตามอย่างกระชั้นชิด เพราะโครงการนี้ถือเป็นการวัดดวงของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยทั้งหมดก็ว่าได้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีก 3 ปีนับจากนี้ เราจะกลายเป็นผู้นำในตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ได้อย่างค่อนข้างแน่นอน !!!

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.