กลุ่มยานยนต์เฮทักษิณไฟเขียว อนุมัติ 100 ล้านผุดศูนย์ทดสอบ

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ตีปีกนายกฯทักษิณ ไฟเขียวอนุมัติงบฯ 100 ล้านบาท ตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยและพัฒนายานยนต์ "นินนาท ไชยธีรภิญโญ" พร้อมทีมงานเสนอวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าปี 2549 ผลิตรถ 1 ล้านคัน มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ลุยขยายการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มจาก 40% เป็น 60%

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยทีมที่เข้าพบประกอบด้วยตนในฐานะผู้แทนสภาฯ นายอัจฉรินทร์ สารสาส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นายอดิศักดิ์ โรหิตศุน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายชวลิต จริยวัฒน์สกุล ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ นายปราโมทย์ พงษ์ทอง นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และนายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอวิสัยทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบกำหนดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถตระกูลปิกอัพ 1 ตันของโลก รวมถึงเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งชิ้นส่วนทดแทน (อาร์อีเอ็ม) และชิ้นส่วนที่ผลิตป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ (โออีเอ็ม) โดยต้องเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพ มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ และมีมูลค่าเพิ่มในประเทศสูงขึ้น

"เราเสนอไปว่าในปี 2549 ประเทศไทยน่าจะผลิตรถยนต์ในประเทศถึง 1 ล้านคันต่อปี ขายในประเทศ 60% และส่งออก 40% ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท โดยในรถที่เราจะผลิตทั้งหมด เป็นรถปิกอัพถึง 70% ที่เหลืออีก 30% จะเป็นรถเก๋ง นอกจากนี้ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ยังตั้งเป้าว่าจะขยายมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่กว่า 40% ให้เป็น 60% ในปีเดียวกัน ซึ่งการขยายมูลค่าเพิ่มจะประกอบไปด้วย การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การเพิ่มความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรในประเทศ"

นอกจากนี้ ยังมีการพูดกันในเรื่องของศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ ระบบสาธารณูปโภค กฎระเบียบรวมถึงนโยบายรัฐบาล ข้อมูลข่าวสารในวงการ แต่อาจจะเสียเปรียบคู่แข่งอย่างประเทศจีนในบางเรื่อง เช่น ขนาดของตลาด แหล่งวัตถุดิบหรือแม้กระทั่งค่าแรง เราต้องยอมรับว่าอาจจะเสียเปรียบเขาบ้าง ซึ่งเรื่องนี้เราต้องยกระดับการผลิตของเราขึ้นไปแข่งขันในอีกระดับ

"เราคิดว่าคงต้องยกระดับมาตรฐานของเราขึ้นไปอีก ทั้งอาร์อีเอ็มและโออีเอ็ม ทางรัฐบาลก็ถามมาว่าเราอยากจะทำรถแห่งชาติหรือไม่ ทางกลุ่มก็ตอบไปแล้วว่าไม่ อยากเป็นแค่ฐานการผลิตขนาดใหญ่เท่านั้น ปีที่ผ่านมาเราอยู่ลำดับที่ 17 ของโลก เราก็มีเป้าหมายว่าเราอยากจะขึ้นไปยืนที่ 10 มันก็เลยต้องทำงานอีกมาก อย่างเช่นเรื่องของบุคลากรที่ต้องพัฒนา เรื่องของโครงสร้างภาษีที่ต้องแก้ไขในบางจุด เรื่องต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต รวมไปถึงเรื่องปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งแก้ไขในอนาคตอันใกล้"

นายนินนาทกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอจัดตั้งศูนย์ทดสอบวิจัยและพัฒนายานยนต์ไปแล้ว ภายในวงเงินงบประมาณกว่า 4.5 พันล้านบาท โดยเสนอของบฯในเบื้องต้นเพื่อทำการศึกษารายละเอียดของโครงการจำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งท่านนายกฯเห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเอสเอ็มอีที่ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถทำการทดสอบมาตรฐานเหล่านี้เองได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้มีการอนุมัติงบประมาณในวงเงิน 100 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาแผนงานอื่นๆ เพิ่มเติมไปในคราวเดียวกัน

"นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ เพื่อติดตามแผนงานทั้งหมดที่รัฐบาลและเอกชน จะดำเนินการ โดยจะเป็นตัวกลางในการกำกับยุทธศาสตร์ต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานทั้งหมด ซึ่งตรงนี้นายกฯได้มอบหมายให้รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้ดูแล รวมถึงการเสนอขอให้นำระบบ Net Account Settlement เข้ามาใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นระบบการค้าแบบหักบัญชี โดยบริษัทมีการสั่งสินค้าเข้าและส่งออก สามารถหักลบส่วนต่างได้ทันที ไม่จำเป็นต้องจ่ายออกไปก่อนทั้งหมด อันจะช่วยได้ในเรื่องของการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน"

ซึ่งหน่วยงานรัฐบาลที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องระบบบัญชีก็ได้แก่ กรมศุลกากร โดยเฉพาะการคืนภาษีมุมน้ำเงิน ที่จำเป็นต้องมีหลักฐานการชำระเงินอย่างชัดเจนก่อนคืนเงิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ส่วนโครงงานต่างๆ ที่เสนอไป ตนคิดว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องของศูนย์ทด สอบ เพราะการลงทุนสี่พันกว่าล้านตอนนี้ หากคิดถึงปี 2549 ที่เราจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมรถยนต์ห้าแสนล้าน ถือว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.