ธ.ก.ส.ตั้งเครือข่ายข้อมูลเกษตรหนุนลูกค้า

ตั้งเป้าเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้หลายทาง ทั้งผ่านมือถือ-เวบทีวี-เน็ต

ธ.ก.ส.ชูระบบจีไอเอสหนุนจัดเก็บข้อมูลในโครงการ "เครือข่ายข้อมูลทางการเกษตร" รวมถึงสร้างช่องทางให้เกษตรกร 4.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เข้าถึงข้อมูลได้ทั้งผ่านมือถือ-เวบทีวี-อินเทอร์เน็ต เตรียมนำร่องก่อน 7 จังหวัด เพื่อสานเป้าหมายสูงสุดนำไปใช้ "ทำกิน" สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว

นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างพัฒนา "เครือข่ายข้อมูลทางการเกษตร (Agricultural Information Network : AIN) เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเอาไปใช้ "ทำกิน" ได้ จุดมุ่งหมายดังกล่าว ทำให้โครงการนี้ แตกต่างจากข้อมูลการเกษตรของหน่วยงานอื่นๆ เพราะ ธ.ก.ส.จะเริ่มตั้งแต่การออกแบบ โดยหนุนเป้าหมายสูงสุดที่ "สะดวกใช้" เพื่อผลักดันออกมาเป็น "บริการ" ต่อไป ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ ธ.ก.ส.ให้ความสนใจเข้ามาบุกเบิกโครงการทางด้านนี้ เพราะการดำเนินงานหลักอยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้ว และต้องการให้เกษตร ซึ่งกู้เงินไป ได้ฐานข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เงินนั้น สร้างเป็นรายได้เข้ามาให้กับครอบครัวให้ได้มากที่สุด

สำหรับโครงการนี้ ธ.ก.ส.ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานแรกจากซีด้า (แคเนเดียน อินเตอร์เนชั่นแนล ดิเวลลอปเม้นท์ เอเยนซี : CIDA) ซึ่งประสานงานดึงไอซีที ดิเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป และบริษัท Radarsat International Inc. ของแคนาดา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจีไอเอส และภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาร่วมในโครงการ สำหรับการใช้จีไอเอส และนำภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาช่วยนี้ จะทำให้การจัดเก็บข้อมูลละเอียด และเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จะเข้ามาช่วยในส่วนของการแปลงข้อมูลที่หลากหลายให้เป็นระบบเดียวกัน

จากการพัฒนาดังกล่าว ธ.ก.ส.วางแผนที่จะให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม หรือลงทุนน้อยที่สุด ซึ่งคาดว่าจะผ่าน 3 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย

1. การกระจายข้อมูลไปยังสาขาของ ธ.ก.ส.ซึ่งจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และใช้พนักงาน ธ.ก.ส.กระจายข้อมูลนั้นๆ ไปยังเกษตรกรลูกค้าของสาขา ซึ่งจะเริ่มตามโครงการนำร่องนี้ 7 จังหวัด ครอบคลุมสาขาราว 70 แห่ง หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาของ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ

2. นำเทคโนโลยีเวบ-ทีวี เข้ามาใช้ ซึ่ง ธ.ก.ส.อาจจัดตั้งเวบไซต์ต่างหากแยกจาก www.baac.or.th ซึ่งเป็นไซต์หลักของ ธ.ก.ส.เพื่อเกษตรกรจะได้ไม่ต้องลงทุนในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ "เราพยายามหาเทคโนโลยีที่ง่ายที่สุดเข้ามาให้เกษตรกรใช้ เพราะลูกค้าเรา 4.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็มีทีวี และสายโทรศัพท์เข้าถึงบ้านอยู่แล้ว ดังนั้น หากเขาลงทุนเพียงค่าซื้อกล่องแปลงสัญญาณ (เซ็ตท็อปบ็อกซ์) ซึ่งมีราคาอยู่ในหลักพันบาท เข้ามาต่อเข้าไป จะทำให้สามารถเข้าสู่ฐานข้อมูลในเวบไซต์ของเราได้เช่นกัน" นายธีรพงษ์กล่าว ขณะที่ ธ.ก.ส.อาจจัดทำโครงการพิเศษขึ้นมา นำร่องการจัดหากล่องแปลงสัญญาณดังกล่าวให้กับเกษตรกรลูกค้า โดยอาจซื้อล็อตใหญ่ และเจรจาราคาลดพิเศษ หรืออาจเปิดกว้างให้ผู้ผลิตอุปกรณ์แข่งกันเสนอราคากับเกษตรกรเอง ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ราคาถูกลงเอง รวมทั้งเป็นไปได้ที่อาจประสานงานนำระบบเช่าใช้อุปกรณ์ ซึ่งในปีแรกจะแจกให้ใช้งานฟรีก่อน

3. ให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อใช้เครือข่ายบริการที่มีอยู่ เป็นช่องทางแจ้งข่าวสารสำคัญๆ กับเกษตรกรผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในรูปแบบของบริการข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) โดยทำเป็นลักษณะของบริการเสริมที่ไม่คิดมูลค่าให้กับลูกค้า เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันทั้ง ธ.ก.ส. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่างมีฐานลูกค้าส่วนหนึ่งที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ ดังนั้น หากร่วมมือในบริการส่วนนี้ได้ จะสร้างภาพลักษณ์ในด้านการให้บริการหลังการขายกับลูกค้าได้ด้วย โดยที่ต้นทุนของผู้ให้บริการก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

นำร่องโครงการ 7 จังหวัด

สำหรับการดำเนินโครงการนำร่องเดิมวางแผนไว้ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่, ขอนแก่น, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, ระยอง หรือจันทบุรี อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้เพิ่มจังหวัดบุรีรัมย์ และกำแพงเพชรเข้าไปในโครงการด้วย เนื่องจากเห็นถึง "ความท้าทาย" ของ 2 จังหวัดดังกล่าว โดยส่วนของบุรีรัมย์นั้น เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ของประเทศ ขณะที่กำแพงเพชร มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคด้านการเกษตร ดังนั้น หากแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ จะเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในโครงการระยะต่อไปได้

สำหรับในขั้นแรกของโครงการ จะเน้นให้บริการข้อมูลฟรีกับเกษตรกร เพื่อสร้างการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้มากที่สุด รวมถึงจะอบรมระดับผู้นำเกษตรกร เพื่อไปอบรมกับสมาชิกของกลุ่มต่อไปให้เข้ามาใช้ ขณะที่ในโครงการระยะต่อไป จะพัฒนาข้อมูลที่สนับสนุนในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และอาจคิดค่าบริการในรูปแบบค่าสมาชิก, ค่าบริการรายเดือน หรือเป็นครั้งๆ โดยเห็นถึงความเป็นไปได้แล้ว ในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคเกษตร

มุ่งผู้ใช้ 3 กลุ่ม

นายธีรพงษ์กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จะมีเป้าหมายให้บริการข้อมูลสำหรับผู้ใช้ 3 กลุ่ม ได้แก่

1. เกษตรกร จึงต้องเน้นว่าทำอย่างไรให้เครือข่ายนี้บริการข้อมูลให้เขาได้เร็วที่สุด และถูกต้องที่สุด

2. ผู้ที่มีหน้าที่วางแผนนโยบาย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการจัดการการตลาดได้ เช่น เจ้าหน้าที่ตามสาขาต่างๆ ของ ธ.ก.ส.ซึ่งต้องคลุกคลีอยู่กับเกษตรกร รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตร

3. นักบริหาร หรือผู้กำหนดนโยบายให้ด้านการเกษตรในพื้นที่ เช่น ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจการเกษตร ซึ่งต้องการใช้ฐานข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำแผนตลาด หรือวางแผนการผลิต โดยในส่วนนี้ ธ.ก.ส.อาจจัดเก็บค่าบริการในการใช้ข้อมูล

"ธนาคารไม่มีฐานข้อมูลเอง เราเพียงแต่อยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูล ช่วยรวบรวมฐานข้อมูลบางส่วนเข้ามาเป็นระบบ และสร้างช่องทางให้คนเข้ามาเอาไปใช้ได้ รวมถึงเราก็ใช้เองด้วย" นายธีรพงษ์กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.